|
เปิดประตูสู่...เบตง
โดย
ปิยะโชติ อินทรนิวาส เจษฎา สิริโยทัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"เบตง" เมืองชายแดนใต้สุดที่ติดต่อกับโลกภายนอกฝั่งไทยได้ค่อนข้างลำบาก จนดูเหมือนเป็นเมืองลับแลในหุบเขาสันกาลาคีรี แต่เวลานี้ภาครัฐทุ่มงบประมาณพัฒนาการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและอากาศเข้าสู่เมืองนี้ขนานใหญ่ แผนดันตั้งศูนย์กลางการศึกษานานาชาติที่นั่นจึงรับอานิสงส์ไปเต็มๆ
ในทางภูมิศาสตร์ เมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขาบนแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีทางตอนใต้สุดของไทย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,900 ฟุต ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ มีรูปร่างคล้ายหัวหอกพุ่งเข้าสู่ดินแดนประเทศมาเลเซีย การคมนาคมเพื่อสัญจรติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ ของไทยด้วยกันเป็นไปแบบค่อนข้างยากลำบาก จึงดูเหมือนกับว่า เบตงเป็นเมืองลับแล ไกลแสนไกล และถูกทอดทิ้งให้เป็นเมืองปิด
แต่แท้ที่จริงแล้วสังคมของชาวเบตงกลับอยู่ในโลกกว้างมาตลอด สังคมคนเบตงมีการพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นรองรับความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์เสมอมา และที่สำคัญแม้การคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ในฟากฝั่งไทยจะค่อนข้างมีอุปสรรค แต่แทบไม่เป็นปัญหาในฝั่งฟากของมาเลเซีย
สำหรับชาวเบตงแล้วใช้เวลาเดินทางเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็สามารถไปนั่งจิบกาแฟชมมนตร์เสน่ห์ของเมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) หรือรับประทานอาหารในบรรยากาศริมชายหาดบนเกาะปีนัง
ขณะที่คนทำธุรกิจการค้าการลงทุน สามารถขนส่งสินค้าไปทั่วโลก โดยใช้เส้นทางผ่านด่านเบตงสู่ท่าเรือน้ำลึกบัตเตอร์ เวอร์ธ (Butterworth) ในรัฐปีนังได้เช่นกัน
"จริงอยู่เบตงเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดยะลามาก จึงเหมือนอยู่โดดเดียว แต่ทุกวันนี้ภาครัฐก็พยายามส่งเสริมการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ซึ่งต่อไปหากมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ เบตงก็จะมีการขยายตัวของความเจริญสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางนานาชาติได้" ดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตงบอกเล่าให้ฟัง
ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐจะให้การสนับสนุนการพัฒนาเบตงใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือการจัดสรรงบประมาณมาให้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเป็น การให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเพณีและวัฒนธรรม
หากคิดตามคำบอกเล่าของผู้บริหารระดับสูงภาครัฐในเบตงดังกล่าวแล้ว จะพบว่า ความพยายามเดินตามความฝันเพื่อปลุกปั้นเมืองเบตงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้น มีความเป็นไปได้ที่ความฝันดังกล่าวจะถูกผลักดันให้กลายเป็นความจริง
ยิ่งเมื่อสำรวจไปที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับเมืองเบตง ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับจังหวัดยะลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อนุภาคกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยุทธศาสตร์การพัฒนาในกรอบของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย และยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ก็ยิ่งพบว่า มีความเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติที่จะหนุนส่งให้แนวความคิดที่จะตั้งศูนย์ กลางการศึกษานานาชาติขึ้นที่มืองเบตง คงจะเป็นรูปเป็นร่างได้ชัดเจนในอีกไม่นานนัก
ทั้งนี้ หากประมวลจากยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับต่างๆ รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตามยุทธศาสตร์นั้นๆ ทั้งในฟากฝั่งรัฐและเอกชนแล้ว ก็จะเห็นความเคลื่อน ไหวอย่างคึกคักที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งเครื่องให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองเบตง
โดยเฉพาะการเปิดประตูสู่เมืองเบตงด้วยเส้นทางคมนาคมขนส่งทางแนวถนน และทางอากาศยาน
ในด้านการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งตามแนวถนนนั้น รัฐบาลเร่งปรับปรุงถนนที่เป็นการเชื่อมโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างกันทั่วพื้นที่อนุภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในเวลานี้ แต่ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อแผนการผลักดันเบตงเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติมากที่สุดคือ การก่อสร้างและปรับปรุงแนวถนนสายเศรษฐกิจเส้นใหม่ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วกำหนดให้เบตงเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถข้ามเขตแดนไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนสายเศรษฐกิจในมาเลเซีย แล้วมุ่งตรงไปสู่ท่าเรือบัตเตอร์เวอร์ธที่ปีนังในที่สุด
แนวถนนสายดังกล่าวนี้ถือเป็นสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์เชื่อมไทย-มาเลเซียเส้นทางใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ อนุภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างสุด
เดิมมีเส้นทางถนนที่ถูกยกขึ้นเป็นแลนด์บริดจ์ของภาคใต้ตอนล่างอยู่แล้วคือ การเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา ผ่านเมืองหาดใหญ่ แล้วผ่านข้ามแดนที่ด่านสะเดา เข้าสู่รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย โดยไปบรรจบที่ท่าเรือน้ำลึกในรัฐปีนัง ซึ่งการขนส่งสินค้าออกไปยังตลาดโลกของพื้นที่เกือบจะทั่วภาคใต้ของไทยได้ไปใช้บริการแลนด์บริดจ์สายนี้
แต่ต่อไปเมื่อการยกระดับแนวถนนในชายแดนใต้ให้เป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมออกสู่มาเลเซียสายใหม่เป็นผล สินค้าในพื้นที่อนุภาค 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และใกล้เคียงก็จะถูกลำเลียงส่งออกผ่านแลนด์บริดจ์ใต้ล่างสุดสายนี้แน่นอน โดยมีเบตงเป็นจุดผ่านแดนสำคัญ
ถนนสายแลนด์บริดจ์ใต้ตอนล่างสามารถเชื่อมโยงได้ไปถึงหาดใหญ่และสงขลา แต่หลักๆ แล้วเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างปัตตานีที่ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและอาหารฮาลาลที่สำคัญที่สุด นราธิวาสที่จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตร สุไหงโก-ลก และตากใบ 2 เมืองท่องเที่ยวชายแดนในนราธิวาส ยะลาที่จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตรเช่นกัน ทั้งยังเชื่อมโยงไปได้ถึงกาบังในยะลา ที่จะเป็นเมืองหน้าด่านติดต่อกับมาเลเซียแหล่งใหม่ โดยทั้งหมดทั้งปวงสามารถเชื่อมต่อมายังเบตง เมืองท่องเที่ยวชายแดนที่จะเป็นประตูออกสู่มาเลเซียและตลาดโลก
แนวถนนที่จะต้องก่อสร้างขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงถนนที่มีอยู่แล้วให้รองรับความเป็นแลนด์บริดจ์สายนี้ที่นับว่าสำคัญมาก โดยต้องใช้งบรวมกว่า 3,610 ล้านบาท ได้แก่
แนวถนนด้านตะวันตกจากเมืองชายแดนกาบังสู่ยะหา แล้วมาเชื่อมต่อที่บันนังสตา ขณะที่แนวถนนด้านตะวันออกจากเมืองชายแดนสุไหงโก-ลก ต่อมายังบูเกาะตา เมืองชายแดนในแว้ง แล้วโยงใยสู่บันนังสตาเช่นเดียวกัน โดยแนวถนนทั้ง 2 เส้นที่มาเชื่อมต่อเป็นสายเดียวกัน จากตะวันตกสู่ตะวันออกนี้มีระยะทางรวม 200.76 กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างและปรับปรุงรวม 1,290.40 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี
อีกเส้นทางสำคัญที่ต้องก่อสร้างและปรับปรุงใหม่คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 สายปัตตานี-ยะลา-เบตง โดยในส่วนของถนนระหว่างปัตตานี-ยะลาได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนที่เหลือที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน คือระหว่างยะลา-เบตง แบ่งออกเป็น 4 ตอน ใช้งบก่อสร้างและปรับปรุงรวม 2,220 ล้านบาท ประกอบด้วย
ตอนที่ 1 จากจังหวัดยะลาไปกิ่งอำเภอกรงปีนัง จรดอำเภอบันนังสตา ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร แนวทางค่อนข้างตรง ลักษณะเป็นพื้นที่ราบ สามารถปรับปรุงเป็นทางมาตรฐานพิเศษ 4 ช่องจราจร และทางมาตรฐานชั้นหนึ่ง หรือ 3 ช่องจราจรเป็นบางช่วง ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท
ตอนที่ 2 ช่วงจากอำเภอบันนังสตาไปบ้านบ่อหิน ลักษณะทางตรงสามารถปรับปรุงเป็นทางมาตรฐานชั้นหนึ่ง หรือ 3 ช่องจราจรเป็นบางช่วง โดยตัดแนวทางโค้งเดิมระยะทางประมาณ 15.3 กิโลเมตร แก้ไขตามแนวทางใหม่เหลือระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร สามารถลดระยะทางลงได้ 6.1 กิโลเมตร รวมระยะทางที่ต้องพัฒนาปรับปรุงประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท
ตอนที่ 3 จากเส้นทางบ้านบ่อหินไปบ้านกระป๋อง ลักษณะแนวทางคดเคี้ยวผ่านภูเขา คันทางแคบ ระยะทางประมาณ 21.8 กิโลเมตร แก้ไขปรับปรุงตามแนวทางใหม่ โดยก่อสร้างสะพานความยาวประมาณ 300 เมตร ข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง รวมงานเปิดทางใหม่ 4.5 กิโลเมตร ในส่วนนี้ใช้งบประมาณ 290 ล้านบาท และเจาะอุโมงค์ความยาวประมาณ 800 เมตร รวมงานเปิดทางใหม่ 200 เมตร งบประมาณค่าก่อสร้างในส่วนนี้ 680 ล้านบาท ระยะทางทั้งสองช่วงประมาณ 5.8 กิโลเมตร สามารถลดระยะทางคดโค้งเดิมได้ 16 กิโลเมตร รวมใช้งบประมาณในตอนนี้ 970 ล้านบาท
ตอนที่ 4 เส้นทางจากบ้านกระป๋องถึงบ้านจาเราะไต ลักษณะแนวทางคดเคี้ยวระยะทางประมาณ 36.6 กิโลเมตร ปรับปรุงเป็นทางมาตรฐานชั้นหนึ่งหรือขยายเป็น 3 ช่องจราจรเป็นบางช่วง พร้อมทั้งแก้ไขโค้งอันตรายประมาณ 5 แห่ง ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของด่านเบตงก็ต้องได้รับการพัฒนาด้วย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และการค้าบริเวณด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 นี้ ใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท รวมถึงการก่อสร้างถนนสายอ้อมเมืองเบตงขึ้นมาใหม่ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในเวลานี้
ด้านการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางอากาศนั้น รัฐบาลได้กำหนดเป็นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติ (ขนาดเล็ก) เบตง ใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท โดยขอรับเอาสนามบินทหารที่มีอยู่เดิม พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้มาดำเนินการ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจันทรัตน์ ตำบลยะรม อำเภอเบตง พร้อมจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายรันเวย์เป็นขนาด 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาด 80 ที่นั่ง หรือใช้เครื่องบินโดยสาร ART-72
ตามแผนพัฒนาสนามบินนานาชาติขนาดเล็กของเบตงนั้น นอกจากจะใช้เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งทางอากาศ เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายกับสนามบินอื่นๆ ภายในประเทศแล้ว ยังต้องการให้สานโครงข่ายการบินไปสู่แหล่งท่องเที่ยวหรือเมืองทางเศรษฐกิจการค้าต่างๆ ในประเทศ เพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย อาทิ เกาะลังกาวี ปีนัง อิโปห์ กลันตัน และกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซีย เมืองเมดานและสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังหวังด้วยว่าจะสามารถเชื่อมโครงข่ายการบินไปถึงในประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ และบรูไน ส่วนที่ไกลไปกว่านั้นที่ทางผู้บริหารเทศบาลเมืองเบตงคนปัจจุบันวาดหวังจะเห็นก็คือ การเชื่อมต่อไปได้ถึงสนามบินดูไบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะได้อาศัยความเป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภาษีเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ยิ่งด้านการท่องเที่ยวด้วยแล้วถือเป็นเป้าหมายหลัก เพราะพื้นที่ชายแดนใต้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม จึงน่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากรัฐอิสลามกระเป๋าหนักนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ดังกล่าว หลายโครงการมีอันต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากวิกฤติไฟใต้ระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา
อย่างโครงการสนามบินนานาชาติขนาดเล็กของเบตง เดิมกำหนดระยะเวลาไว้ระหว่างปี พ.ศ.2545-2548 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดซื้อที่ดิน หรือการก่อสร้างปรับปรุงถนนหลายแห่งถูกผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้ทหารช่างเข้ามาทำแทน
หรือแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ในวงการรับเหมาก่อสร้างอย่างบริษัทประยูรวิศว์การช่าง ของตระกูลนักการเมืองใหญ่ ลิปตพัลลภ ก็เคยขยาดไม่กล้าลงมาดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 เส้นทางยะลา-เบตง ตอนที่ 3 ที่ประมูลได้จากกรมทางหลวงมาแล้ว
ทว่า ในเวลานี้ทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาพื้นที่อนุภาค 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าจะนำไปสู่การเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นี้อย่างเอาจริงเอาจัง
หากเป็นเช่นนั้นจริง ต่อไปเบตงคงจะไม่ถูกเล่าขานว่าเป็นเมืองปิดอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นเมืองที่ถูกเปิดประตูไปมาหาสู่กันได้สะดวก และจะเกิดการเร่งรัดพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของเมืองเบตง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|