|
มังกร 5 หัวที่เบตง ฐานรากที่แน่นหนาของจีนศึกษา
โดย
ปิยะโชติ อินทรนิวาส เจษฎา สิริโยทัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บริเวณลานด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ บนเนินเขาสูงด้านตะวันตกของเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อการขยายโอกาสสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ
ณ จุดนี้หากมองลงไปยังตัวเมืองเบตงก็จะสามารถจินตนาการได้ว่า มีมังกรตัวโตนอนทอดร่างสงบนิ่งอยู่ในแอ่งกระทะ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยขุนเขาเสียดแทงยอดสลับซับซ้อน
มังกรตัวนี้มี 5 หัว...?!
เป็นที่รับรู้กันว่า มนตร์เสน่ห์เมืองแห่งการท่องเที่ยวชายแดนของเบตงอยู่ที่วิถีชีวิตของผู้คนที่แสดงถึงความเป็นจีนไว้เกือบจะทุกกระเบียด แถมภาษาที่ผู้คนใช้สื่อสารกันส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาจีน
จึงไม่แปลกที่สิ่งที่เทศบาลร่วมกับชาวเมืองเบตงปลุกปั้นแผ่นดินนี้ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับนานาชาติมาหลายปีแล้วนั้น โดยมีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่ความเป็น "ศูนย์กลางจีน ศึกษา"
แม้สภาพทางสังคมของเมืองเบตงจะประกอบด้วย 2 กลุ่มชนใหญ่ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 51 ส่วนคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีนมีประมาณร้อยละ 47 ที่เหลือเป็นกลุ่มคนไทยนับถือคริสต์และฮินดูประมาณร้อยละ 2 จากประชากรรวมกว่า 5 หมื่นคน
ทว่า ความเข้มแข็งของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนกลับเป็นที่ประจักษ์ ชัดยิ่งนัก
ในบรรดาพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนของเบตงมีหลายแซ่หลากเชื้อชาติ โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้อพยพจากหลายๆ มณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อนับร้อยปีมาแล้วและเข้าสู่เมืองเบตง ใน 2 เส้นทางหลักคือ ผ่านภูมิภาคอื่นๆ ของแผ่นดินไทย กับผ่านมาทางผืนแผ่นดินของประเทศมาเลเซีย
ความที่สภาพภูมิศาสตร์ของเบตงเป็นเมืองในหุบเขา แถมยังตั้งอยู่ใต้สุดสยาม ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งห่างไกลและไปมาหาสู่กับอำเภออื่นๆ และตัวจังหวัดยะลาได้ยากลำบาก วัฒนธรรมและประเพณีจีนในเบตงจึงยังคงความหลากหลายที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน แต่ก็สามารถหลอมรวมจนสะท้อนถึงความเป็นจีน ที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองในหุบเขาแห่งนี้
ปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนในเบตงมีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิหรือสมาคมแล้วถึง 5 องค์กร ประกอบด้วย บำเพ็ญบุญ มูลนิธิ (กวางไส), สมาคมกว๋องสิ่ว เบตง, สมาคมบำรุงราษฎร์ (แต้จิ๋ว) เบตง, สมาคมฮากกา และสมาคมฮกเกี้ยน
แล้วทั้ง 5 มูลนิธิหรือสมาคมจีนเหล่านี้ก็ได้ผูกร้อยรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ป้ายยี่ห้อของมูลนิธิอำเภอเบตงอีกทอดหนึ่ง โดยแต่ละมูลนิธิหรือสมาคมจะส่งตัวแทน ซึ่งก็คือประธานหรือนายกสมาคม กับระดับรองเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ
ส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิก็ใช้วิธีสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไประหว่างประธานหรือนายกสมาคมต่างๆ ภายใน 5 องค์กรดังกล่าว โดยมีวาระคราวละ 2 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้ดำเนินมาแล้วถึง 48 ปีหรือรวมแล้วได้ 24 สมัย
ขุมพลังแห่งความหลากหลายที่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งได้อย่างมีเอกภาพนี้เอง ซึ่งได้หนุนส่งให้แนวคิดผลักดันการพัฒนาเมืองเบตงให้เป็นศูนย์การศึกษาระดับนานาชาติ โดยใช้ความเป็นศูนย์กลางจีนศึกษาเป็นหัวหอกทะลุทะลวงจะปรากฏได้เป็นจริง
แล้วความเป็นฐานรากที่แน่นหนาในการหนุนส่งความเป็นศูนย์กลางจีนศึกษาก็ได้ปรากฏเป็นภาพแจ่มชัดแล้ว ซึ่งในวันนี้มูลนิธิอำเภอเบตงที่เกิดจากการรวมตัวของ 5 มูลนิธิ และสมาคมจีนได้เข้าไปโอบอุ้มสถาบันการศึกษา ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางการเกี่ยวร้อยเอาพี่น้องชาวจีนเบตงไว้ด้วยกัน นั่นคือ...
โรงเรียนจงฝามูลนิธิ
อันถือเป็นโรงเรียนที่สอนภาษาจีนแห่งแรกของเบตง และในวันนี้ยังมั่นคงทำหน้าที่ได้อย่างเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งสังคม โดยขยับขยายการเรียนการสอนได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลสู่ประถมศึกษา ก้าวขึ้นเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น แล้วไปจบที่มัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ
ครบถ้วนในความเป็นพื้นฐานทางด้านจีนศึกษา ที่พร้อมจะหนุนส่งเด็กนักเรียนให้ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นนิสิตหรือนักศึกษาที่จะร่ำเรียนด้านจีนศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
สำหรับโรงเรียนจงฝามูลนิธิมีชื่อสั้นๆ ว่าโรงเรียนจงฝา จัดตั้งขึ้นโดยพ่อค้าและประชาชนชาวเบตง โดยเปิดการเรียนการสอนขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2466 หรือราว 86 ปีมาแล้ว แต่มาดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็เมื่อปี พ.ศ.2492
แต่เดิมโรงเรียนจงฝาถือเป็นกิจการโรงเรียนราษฎร์ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ แล้วมาถูกโอนกิจการให้กับมูลนิธิอำเภอเบตงในปี พ.ศ.2511 จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนจงฝามูลนิธิมาจนถึงทุกวันนี้
นับแต่เริ่มต้นเปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมปีที่ 1-4 จนล่วงเข้าปี พ.ศ.2521 จึงได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และในปีถัดมาขยายสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ปี พ.ศ.2530 มูลนิธิอำเภอเบตงได้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งของโรงเรียนจงฝามูลนิธิไปจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลเสริมวิทย์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือเป็นเหมือน 2 โรงเรียนตั้งอยู่ในที่เดียวกัน ต่อมาปี พ.ศ.2549 จึงให้ยุบโรงเรียนอนุบาลมารวมอยู่ในโรงเรียนจงฝามูลนิธิแห่งเดียว
ปี พ.ศ.2542 ได้รื้ออาคารเรียนหลังเก่าแล้วสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เป็นอาคารขนาด 3 ชั้นรวม 39 ห้องขึ้นมาใหม่ ด้วยงบประมาณราว 50 ล้านบาท ซึ่งอาคารหลังนี้ได้ถูกตกแต่งให้เป็นเสมือนการจำลองกำแพงเมืองจีนมาไว้ที่เบตงนั่นเอง พร้อมๆ กับจัดสร้างหอประชุมขึ้นมาใหม่ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณก่อสร้างปรับปรุงโรงเรียนจงฝามูลนิธิดังกล่าวนั้น 5 มูลนิธิหรือสมาคมได้ร่วมกันรับผิดชอบ โดยคราวนั้นมีคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ เป็นโต้โผใหญ่ในฐานะ ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิอำเภอเบตง
ดังนี้แล้วมังกรเบตงที่มีอยู่ 5 หัว จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญยิ่งที่จะค้ำชูและเกื้อหนุนให้เกิดศูนย์กลางการศึกษานานาชาติขึ้นที่เบตงอย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|