หนีห่าว...สลามัท...เบตง

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส เจษฎา สิริโยทัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เมืองเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาส่วนใต้สุดของแดนสยามที่มีประชากรอยู่เพียง 5 หมื่นกว่าคน กำลังจะสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเองขึ้นมา โดยอาศัยสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางกลุ่มประเทศอาเซียน ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และเป็นความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์สำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้

หมอกเช้าโลมเลียหยอกล้ออาคารเรียนรูปกำแพงเมืองจีน ที่ตกแต่งด้วยรูปปั้น หัวมังกรตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเนินเขาเบื้องตะวันออกของเมืองชายแดนใต้สุดของไทย

ด้านล่างยานพาหนะขวักไขว่เลื้อยเลาะเลี้ยวรั้วรูปกำแพงเมืองจีนที่ไม่มีการประดับ อ้อมวกขึ้นเนินไปเพียงนิดหน่อย ก็มาจอดอยู่หน้าเชิงบันไดที่ทอดยาวเกือบสุดสายตาสู่ยอดเนิน

เด็กๆ ทั้งหญิงและชายวัยตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม จนถึงมัธยมต้นและปลาย ทยอยกันลงจากรถแล้วมุ่งหน้าสาวเท้าก้าวขึ้นบันไดโดยมีปลายยอดหลังคาอาคารรูปทรงจีนทะมึนอยู่ในม่านหมอกเป็นเป้าหมาย ช่างเป็นภาพที่ตัดกันกับหลากสีสันเสื้อคลุมกันหนาวของบรรดาเด็กๆ ยิ่งนัก

"ฮือ...ฮือ...หนูไม่เรียน ฮือ...ฮือ...หนูไม่เรียน..."

เสียงร้องของเด็กหญิงตัวเล็กสอดแทรกขึ้นท่ามกลางเสียงจอแจระหว่างบันไดทางขึ้น ต้นเสียงมาจากด๊ะห์ที่น่าจะเพิ่งเข้าอนุบาลที่รู้สึกไม่สบอารมณ์กับการมาโรงเรียน ขณะที่เมาะกับก๊ะห์ที่เรียนอยู่ชั้นประถมพยายามจูงให้เดินขึ้นไปพลาง แล้วก็ช่วยกันปลอบประโลมไปพลาง

ความที่บันไดทอดยาวเฟื้อยทำให้ต้องมีที่พักเป็นลานเล็กๆ ระหว่างกลางทางตรงนี้ได้เปิดโอกาสให้ด๊ะห์ได้ทิ้งตัวลงไปคลุกนั่งร้องไห้อยู่ที่พื้น พร้อมกับใช้มือจับผ้าฮิญาบคลุมผมเช็ดน้ำตาตลอดเวลา

"ไม่ดื้อลูก ขึ้นไปเรียนกับก๊ะห์นะ เดี๋ยวเมาะกับเป๊าะที่รออยู่ด้านล่างต้องรีบไปทำงาน นะลูกนะ ค่อยๆ ลุกขึ้นเร็ว"

ในอีกฟากของบันไดก็มีหมวยเล็กในวัยเดียวกันนั่งคราง ฮือ...ฮือ...ในลำคอ ตาที่ตี่อยู่แล้วแทบจะปิดไปทั้งหมด โดยมีอาม่าสูงวัยนั่งอมยิ้มอยู่ข้างๆ

ต่อจากนั้นไม่นานสถานการณ์ก็กลับคืนสู่ความสงบ ด้วยความช่วยเหลือของบรรดาคุณครูและเหล่าซือ 3-4 คน บริเวณตีนบันไดไม่มียวดยานจอแจแล้ว ส่วนเด็กๆ ไปเข้าแถวกันอยู่บริเวณลานหน้าอาคารเรียนรูปทรงกำแพงเมืองจีนบนยอดเนิน เสียงร้องเพลงชาติ เพลงสดุดีมหาราชา สวดมนต์ ก่อนจะมีครูไทยกับเหล่าซือสลับกันพูดบนยกพื้นหน้าเสาธง ตามด้วยเสียงร้องเพลงจีนและละครสั้นที่ปลุกปั้นให้เด็กๆ กล้าแสดงออกและการใช้ ภาษาจีน

นี่ไม่ใช่ฉากในเรื่องสั้นหรือนิยาย แต่เป็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจริงของชาวชุมชน "เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน" นามว่า "เบตง"

เป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมืองท่องเที่ยวกระฉ่อนชื่อบริเวณชายแดนไทยเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซีย เมืองในหุบที่โอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ที่รวมตัวกันเป็นแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี เมืองที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นไม่เหมือน ใคร เพราะจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นคนประกอบด้วยกลุ่มชนค่อนข้างหลายหลาก คือประมาณร้อยละ 51 เป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 47 เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน และร้อยละ 2 เป็น ชาวไทยนับถือศาสนาคริตส์และฮินดู

ชาวมุสลิมเบตงใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารระหว่างกันเอง แต่การติดต่อ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชาวมาเลเซียหรืออินโดนีเซียมักจะใช้ภาษามลายูกลาง

แต่สำหรับชาวจีนเบตงภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกันยิ่งแตกแขนงไปตามเชื้อสายจีนที่สืบทอดกันมา โดยมี 5 เชื้อชาติใหญ่ๆ ได้แก่ กวางไส กว๋องสิว แต้จิ๋ว ฮากกา และฮกเกี้ยน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างกันหรือกับชาวจีนต่างประเทศที่มักใช้ภาษาจีนกลาง

ความหลากหลายในกลุ่มชนและรุ่มรวยในภาษาที่ใช้ในวิถีชีวิตของชาวเบตงนี่เอง ได้นำไปสู่ความพยายามติดต่อกันมาแล้วหลายปีของเทศบาลเมืองเบตง ซึ่งต้องการปลุกปั้นพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการศึกษาในระดับนานาชาติ

โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนใน 5 ภาษาหลักที่สอดรับกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นคือ ภาษาจีน มลายูกลาง อาหรับ อังกฤษ และไทย

"ผมมีแนวคิดที่จะทำเมืองเบตงให้เป็นตลาดการศึกษาในระดับนานาชาติมานานแล้ว พอได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ ในสมัยแรกก็เดินเครื่องเรื่องนี้เลย ประกอบกับช่วงเวลานั้นสังคมไทยเปิดกว้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำในเรื่องนี้ได้พอดี" คุณวุฒิ มงคลประจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง เปิดเผยความในใจ

สิ่งที่เป็นเหมือนพลังผลักดันให้คุณวุฒิเดินหน้าด้วยความมั่นใจเต็มพิกัด ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 วรรค 2 ที่ว่าการจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน

มาตรา 78 รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง

มาตรา 81 รัฐต้องจัดการศึกษาอบรม และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรม ให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะ วิทยาการต่างๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

และมาตรา 249 วรรค 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของรัฐ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนคิดเป็น ทำเป็น มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีการเสริมสร้างฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสั่งสมทุนทางปัญญา เพื่อเสริมสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างรู้เท่าทันโลก

สามารถต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น โดยเพิ่มเนื้อหาสาระที่จำเป็นต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้ขยายการผลิตบัณฑิต ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแผนกำหนดเป้าหมายการผลิต กำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิต ในระดับที่เพียงพอกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 41 ที่ว่า องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น

มาตรา 58 ที่ว่า ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างประเทศ ฯลฯ มาจัดการศึกษา

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 ที่ว่า ให้เทศบาลเมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้ ข้อที่ (9) การจัดการศึกษา

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 50 ที่ว่าภายใต้ข้อบังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้ ข้อที่ (6) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม

มติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กำหนดให้อำเภอเบตงดำเนินโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกำหนดให้อำเภอเบตงเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวชายแดน

นอกจากนี้ การประกาศยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนของรัฐบาล ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรก โดยได้เชิญชวนสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาลงทุนจัดการศึกษาในประเทศไทย

"อำเภอเบตงเราเป็นเมืองชายแดนที่อยู่ไกล ความโดดเด่นของพื้นที่นี้อยู่ที่ภาษา ถ้าเรามีโอกาสพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติได้ที่นี่ ก็จะเกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคล แล้วเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างได้ในอนาคต" คุณวุฒิกล่าวย้ำและว่า

การผลักดันเบตงเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติด้วยมุ่งเน้นการเรียนการสอนใน 5 ภาษา คือ จีน มลายูกลาง อาหรับ อังกฤษ และไทย เชื่อมั่นว่าจะต้องเป็นจริงได้อย่างแน่นอน เนื่องจากสอดรับกับที่นักภาษาศาสตร์ระดับโลกชี้ว่า อีกไม่เกิน 50 ปีข้างหน้าจะเหลือภาษาหลักในโลกเพียง 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน อาหรับ และสเปน เพราะนี่คือภาษากลางของระบบคอมพิวเตอร์ในโลก

"ความจริงแล้วเราต้องการพัฒนาคนของเราเพื่อเตรียมรับการแข่งขันในระดับนานาชาติ เนื่องจากเบตงเป็นเมืองชายแดน เพราะฉะนั้นการพูดการใช้ภาษาของเราทุกภาษาจึงต้องมีความเข้มแข็ง" อัจฉราภรณ์ ยังอภัย ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลเมืองเบตงกล่าวเสริม

ทั้งนี้ ศูนย์กลางความเจริญที่เคยกระจุกตัวอยู่ในซีกโลกตะวันตก เวลานี้กำลังเคลื่อนตัวขยับขยายสู่โลกตะวันออก ซึ่งก็มีจีนเป็นเสมือนแม่เหล็กยึดเหนี่ยวเกี่ยวรัดเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก รวมแล้วประชากรที่ใช้ภาษาจีนกว่า 2,000 ล้านคน

ขณะที่มุสลิมทั่วโลกก็มีสูงถึงประมาณ 1,500 ล้านคน และอยู่ในซีกโลกตะวันออกจำนวนมหาศาล อย่างอินโดนีเซียถือประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านคนก็อยู่ในซีกโลกนี้ ซึ่งได้ใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารระหว่างกันเป็นหลัก ขณะที่มุสลิมในย่านอาเซียนก็สามารถใช้ภาษามลายูกลางติดต่อกันได้ด้วย

ด้านภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาสากลในการติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกอยู่แล้วในเวลานี้ ส่วนภาษาสเปนก็แพร่หลายอยู่ในฟากฝั่งของหลายประเทศในยุโรป

ดังนั้น อีกไม่นานนี้ภาษาจีนจึงต้องถูกยกระดับเป็นอีกภาษาสากลที่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารของคนทั่วโลกอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีนที่มีสัดส่วน จำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับคนเชื้อสายอื่นๆ ในโลก

จากข้อมูลเหล่านี้เองที่เป็นฐานคิดให้กับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมืองเบตง มองเห็นโอกาสในการพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ ซึ่งแม้จะมุ่งเน้นทั้ง 5 ภาษาดังกล่าวแล้ว แต่ก็ต้องนับว่าการเรียนการสอนด้านจีนศึกษาถือเป็นหัวหอกทะลุทะลวงขับเคลื่อนให้ความเป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับนานาชาติของเมืองเบตงเกิดขึ้นจริง

ช่วงทศวรรษมาแล้วที่เทศบาลเมืองเบตงเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจศูนย์กลางการศึกษานานาชาติอย่างมุ่งมั่นได้เป็นรูปธรรม ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อสายตาคนในพื้นที่ รวมถึงเป็นที่รับรู้รับทราบของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแล้วใน 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย สนับสนุนและส่งเสริม สถาบันการศึกษาและโรงเรียนในพื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้พร้อมจะหนุนส่ง โดยเฉพาะในระดับอนุบาล ประถมและมัธยม ส่วนระดับอุดมศึกษาได้จัดสรรงบประมาณของเทศบาล รวมถึงแสวงหางบประมาณจากแหล่งอื่นๆ มาก่อสร้างเพื่อต่อยอดเติมเต็มให้ครบถ้วนทั้งระบบ

สิ่งที่ปรากฏชัดคือ โรงเรียนจงฝามูลนิธิอยู่ในการกำกับดูแลของมูลนิธิอำเภอเบตง องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของ 5 สมาคมจีนในพื้นที่คือ สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมฮากกา สมาคมกว๋องสิ่วเบตง สมาคมบำรุงราษฎร์ (แต้จิ๋ว) และบำเพ็ญบุญมูลนิธิ (กวางไส) ถือเป็นโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนแห่งแรกของเบตงตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 และต่อเนื่องยาวนานกว่า 86 ปีมาแล้ว ที่ผ่านมาสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้ครอบคลุมแค่จากชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาเท่านั้น

แต่ช่วงปี พ.ศ.2542 ก็ได้ผลักดันให้มีการก่อสร้างอาคารเรียนขนาด 3 ชั้น รวม 39 ห้องเรียนหลังใหม่ หรืออาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ซึ่งมีรูปลักษณ์ในแบบของการจำลองกำแพงเมืองจีนประดับหัวมังกรมาตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขา จากนั้น พ.ศ.2545 ก็ได้ค่อยๆ ขยับขยายการสอนขึ้นสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปเรื่อยๆ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วในเวลานี้

ในส่วนของโรงเรียนทั้ง 5 แห่งในสังกัดเทศบาลเมืองเบตงเอง ซึ่งในช่วงทศวรรษมานี้เทศบาลก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้สอนครอบคลุมการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้ร่วมเป็นฐานหนุนส่งแผนการเป็นศูนย์การศึกษานานาชาติที่มุ่งเน้นในเรื่องภาษา อีกทั้งยังรวมถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ 19 แห่ง ในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน 7 แห่ง และในสังกัดกรมสามัญศึกษา 2 แห่ง

ในส่วนระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมศึกษานั้น ซึ่งก่อนที่จะให้กำเนิดแผนการศึกษานานาชาติ ในเมืองเบตงไม่เคยมีสถาบันการศึกษาระดับนี้มาก่อน แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เทศบาลเมืองเบตงก็ได้ผลักดันให้มีการขยายการเรียนการสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีจนถึงปริญญาโทจนเป็นผลขึ้นมาแล้วในพื้นที่

โดยดำเนินไปพร้อมๆ กับการจัดหางบประมาณจัดซื้อที่ดิน 487 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา แล้วสร้างขึ้นเป็นเมืองมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของเบตง ตามโครงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อการขยายโอกาสสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งประมาณว่าจะใช้งบราว 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในบริเวณดังกล่าวได้ก่อสร้างอาคารและเปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ได้แก่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 50 ล้านบาท อาคารศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและจุลินทรีย์ ใช้งบประมาณ 57 ล้านบาท อาคารศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง ใช้งบประมาณ 24 ล้านบาท และอาคารเรียนวิทยาลัยชุมชน

สำหรับอาคารอำนวยการกลาง เป็นเหมือนแลนด์มาร์คของโครงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อการขยายโอกาสสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งจะเป็นอาคารทรงจีนขนาด 7 ชั้น ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขาด้านทิศตะวันตกของเมืองเบตง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 174 ล้านบาทนั้น มีความคืบหน้าของการก่อสร้างคือ ในส่วนของโครงสร้างตัวอาคารสร้างเสร็จแล้ว เหลือเพียงตกแต่งและจัดหาอุปกรณ์

โดยงบประมาณทั้ง 174 ล้านบาทดังกล่าวมีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน ประกอบด้วยได้รับงบประมาณจากคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ จำนวน 50 ล้านบาท จากงบประมาณผู้ว่าซีอีโอจังหวัดยะลา 7 ล้านบาทเศษ เทศบาลเมืองเบตงขอกู้จากเงินกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล (ก.ส.ท.) 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 17 ล้านบาท เทศบาลจะรับผิดชอบในการจัดตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการให้ครบตามจำนวน

คุณวุฒิบอกว่า เทศบาลมีแผนจะเปิดใช้อาคารอำนวยการกลางในช่วงเปิดภาคเรียนหน้า โดยในเบื้องต้นจะใช้แค่ 2 ชั้นก่อน ซึ่งเวลานี้กำลังรอประสานผ่านพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาท ใช้จัดซื้ออุปกรณ์ และเป็นค่าตกแต่งภายใน รวมถึงปรับสภาพภูมิทัศน์รอบๆ บริเวณ

นอกจากนี้แล้วในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะช่วยสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของเบตง ที่ผ่านมามีการประสานงานผ่านทั้งในระดับอำเภอเบตง ระดับจังหวัดยะลา และ ศอ.บต. รวมถึงประสานตรงถึงผู้บริหารในคณะรัฐบาลและกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะพัฒนาถนน จากทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นแนวสะพานเศรษฐกิจเส้นใหม่ แล้วให้เบตงเป็นศูนย์รวมการส่งผ่านสินค้าจากไทยออกสู่ตลาดโลกผ่านท่าเรือในรัฐปีนังของมาเลเซีย ขณะที่การขนส่งทางอากาศก็ให้มีการปรับปรุงและขยายรันเวย์สนามบินเบตงขึ้นมาใหม่ ซึ่งการคมนาคมเหล่านี้ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากแล้ว

ประการที่สอง ด้านการเชื่อมต่อเพื่อดึงสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้มาร่วมเปิดการเรียนการสอน เพื่อต่อยอดจากระดับชั้นมัธยมศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยต้องการให้เมืองเบตงเป็นตลาดวิชาหรือศูนย์กลางการศึกษานานาชาติที่แท้จริง

ซึ่งในเวลานี้เทศบาลเมืองเบตงได้ดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วถึง 7 ฉบับประกอบด้วย

ฉบับที่ 1 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นข้อตกลงความร่วมมือในการเปิดศูนย์การศึกษาสถาบันราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เป็นการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเอกภาษาจีน

ฉบับที่ 2 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตง-มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากับมหาวิทยาลัยเสฉวน (Sichuan University) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 เป็นการพัฒนาความร่วมมือในด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนด้านภาษา และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติและท้องถิ่น

ฉบับที่ 3 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับวิทยาลัยชุมชน เมื่อปี 2549 เป็นการเปิดการศึกษาในระดับอนุปริญญา-ปริญญาตรี สาขาวิชาเอกการปกครองท้องถิ่น การศึกษาปฐมวัย การพัฒนาชุมชน อีกทั้งมีแผนจะขยายสู่หลักสูตรภาษาอังกฤษ อาหรับ และมลายูกลางอีกด้วย

ฉบับที่ 4 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับมหาวิทยาลัยฉงชิ่ง (Chongqing University) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อจัดตั้งสถาบันขงจื๊อขึ้นที่เบตง โดยในฝ่ายของมหาวิทยาลัยฉงชิ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติแห่งประเทศจีน (ฮั่นปั้น: Hanban)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ บุคคลทั่วไป ครู นักเรียน นักศึกษา เน้นหลักสูตรเกี่ยวกับวิชาชีพ ภาษา และทั่วไป โดยใช้การพัฒนาวิจัยเป็นตัวชี้วัดการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจัดการทดสอบเพื่อวัดความสามารถการใช้ภาษาจีน

ฉบับที่ 5 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์พืชหายาก และกำลังจะสูญพันธุ์ของป่าบาลา-ฮาลา อีกทั้งมุ่งส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพแก่ชุมชน ตลอดจนนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ และให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและจุลินทรีย์

ฉบับที่ 6 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 เป็นการจัดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู และหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา

ฉบับที่ 7 ระหว่างเทศบาลเมืองเบตงกับวิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 เป็นการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต อีกทั้งให้มีการจัดตั้งสำนักงานประสานงานศูนย์อินโดจีนส่วนหน้า (ส่วนมลายูศึกษา) เพื่อสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยอาณาบริเวณศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลา พื้นที่ใกล้เคียงและในต่างประเทศ

นอกจาก 7 ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว เวลานี้ผู้บริหารเทศบาลเมืองเบตงยังตื่นตัวที่จะเฟ้นหามหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศให้มาร่วมเปิดตลาดวิชาสู่ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติอีก

โดยที่มีเล็งไว้แล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน (Xiemen University) มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (Huagiao University) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนในไทยขณะนี้ต้องการ ให้สถาบันกวดวิชาหรือศูนย์ติวเตอร์ต่างๆ ให้มาเปิดบริการในเบตงในรูปของการเดินทาง มาบรรยายหรือเรียนทางไกลก็ได้

"นี่ยังเป็นเพียงการเปิดตลาดการศึกษานานาชาติให้กับเบตงแบบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รุกตลาดอะไรอย่างจริงจัง กำลังรอให้อาคารอำนวยการกลางเสร็จสมบูรณ์กว่านี้อีกหน่อย จากนั้นผมจะเปิดฉากรุกตลาดครั้งใหญ่ทันที" คุณวุฒิบอกและเพิ่มเติมว่า

นอกจากจะไปดึงมหาวิทยาลัยดังๆ มาร่วมมือเพิ่มแล้ว ก็จะมีการเดินสายโรดโชว์ จัดแสดงผลงานวิชาการ นิทัศน์ด้านการศึกษา บรรยายพิเศษ และแนะแนวเพื่อเจาะตลาดนักศึกษากลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนจีน ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะเป็นเป้าหมายหลัก โดยจะติดต่อผ่านสถานทูต สถานกงสุล สมาคมจีน มูลนิธิ หรือเครือข่ายต่างๆ พร้อมทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เต็มพิกัด

"ต่อไปไม่ต้องไปเรียนภาษาจีนถึงเมืองจีนแล้ว มาเรียนที่เบตงได้เลย อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ก่อนคนไทยไปเรียนที่บ้านเขา ต่อไปนี้คนของเขาต้องมาเรียนที่บ้านเรา เพราะค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพเราถูกกว่า แล้วใครไปเรียนจีนที่มาเลย์ก็จะถูกบังคับให้ต้องเรียนภาษามลายูด้วย แต่ที่เรา คุณเรียนจีนได้เต็มที่เลย แล้วปริญญาที่รับก็ออกให้โดยมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงนั้นๆ เหมือนกัน"

สำหรับเป้าหมายที่วางไว้ในการเดินสายโรดโชว์นั้น ตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน จะตระเวนเจาะให้หมด รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วย โดยเบื้องต้นกำหนดว่าควรต้องออกเดินสายทำตลาดอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

นอกจากนี้แล้วเทศบาลเมืองเบตงยังพลิกตำราการประชาสัมพันธ์เชิงลึก โดยสนับสนุนให้ ดร.ลี ซุงถิง (Dr.Lee SungTing) อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาจีน ศูนย์การศึกษาสถาบันราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง คนแรกเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองเบตงเป็นภาษาจีนและอังกฤษ เพื่อเผยแพร่เจาะไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

"ผมกำลังขอให้เขาทำหนังสือเกี่ยวกับเมืองเบตง โดยให้ออกเป็นทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ในเนื้อหาก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษา ว่าจะวางให้เป็นระบบอย่างไรด้วย เขาก็สนใจอยู่ เพราะคนมาเลเซียอีกเป็นจำนวนมากยังไม่รู้จักเบตง เขาเองเคยไปคุยกับเพื่อน เพื่อนถามเขาว่าเบตงอยู่ตรงไหน หนังสือจึงเป็นอีกช่องทางในการกระจายข่าวสารให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้" คุณวุฒิเล่าให้ฟัง

ดร.ลี ซุงถิง มีพื้นเพเป็นชาวจีนฟูโจว (Foo chow) จากรัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย พูดได้ทั้งภาษาจีน มลายู และอังกฤษ ตอนเรียนปริญญาเอกด้านการบริหารที่มหาวิทยาลัยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ช่วงทำวิทยานิพนธ์ได้ไปอยู่อังกฤษพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำวิทยานิพนธ์ต่อ และทำงานไปด้วยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ แล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนชวนให้มาเที่ยวเบตงที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อได้มาสัมผัสแล้วกลับติดใจในความเป็นเมืองสงบ และวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คน

ช่วงตัดสินใจอยู่เบตงต่อเพื่อหวังจะอยู่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้เสร็จ แล้วก็เกิดไอเดียอยากหารายได้ไปด้วย จึงคิดเปิดสอนพิเศษภาษาจีนและอังกฤษให้กับชาวเบตง เผอิญช่วงขอจดทะเบียนได้ไปขอความช่วยเหลือจากนายกเทศมนตรีเมืองเบตง จึงเกิดการชักชวนให้ช่วยร่วมปลุกปั้นความฝันที่จะดันเบตงเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ และตกปากรับคำทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชาภาษาจีนดังกล่าวในปี 2547

เธอร่วมวางรากฐานจีนศึกษาให้กับศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง ได้เพียงปีเดียว ก็คิดว่าน่าจะเข้ารูปเข้ารอยและมีคนมารับไปสานต่อได้ อีกส่วนอาจเป็นเพราะรายได้จากตำแหน่งอาจารย์นั้นน้อย และมีความไม่เข้าอกเข้าใจวิธีการบริหารราชการแบบไทยๆ จึงตัดสินใจกลับไปตั้งหน้าตั้งตาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจนลุล่วงในปี พ.ศ.2549 และในปีเดียวกันนั้น เธอก็ยังต้องช่วยงานเทศบาลเมืองเบตง ในการเดินเรื่องและประสานก่อตั้งสถาบันขงจื๊อจนสำเร็จ

ปัจจุบัน ดร.ลี ซุงถิง ยังปักหลักอยู่ที่เบตง พร้อมกับทำธุรกิจซัปพลายอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ และจัดค่ายนักเรียนเบตงไปศึกษาด้านภาษาที่มาเลเซีย แต่ด้วยความที่ชอบเรียนรู้ไม่หยุด จึงไปสมัครเรียนปริญญาเอกอีกใบในสาขาวิชาเกี่ยวกับโภชนาการและสมุนไพรไว้กับมหาวิทยาลัยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทว่าก็ยังได้ช่วยเหลืองานด้านการศึกษาให้กับเบตงต่อด้วยในฐานะที่ปรึกษาผู้บริหารเทศบาล

"คิดว่าหนังสือเกี่ยวกับเมืองเบตง ที่กำลังเขียนเป็นภาษาจีนและอังกฤษจะเสร็จได้ทันช่วงสงกรานต์ปีนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องเที่ยว หรือการศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะเป็นมุมมองโดยรวมๆ ที่มีต่อผู้คนที่มีต่อสังคมชาวเบตง ซึ่งส่วนตัวก็อยากให้มีคนเอาไปแปลเป็นภาษาไทยด้วย เพราะเคยไปคุยกับคนไทยที่กรุงเทพฯ บางคนยังไม่มีความรู้ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับเบตงเลย" ดร.ลี ซุงถิงกล่าว

อัจฉราภรณ์เล่าอย่างยอมรับว่าตามแผนปลุกปั้นเมืองเบตงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ซึ่งได้เปิดตลาดจีนศึกษาของศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ณ อำเภอเบตง ไปราว 5 ปีมาแล้วนั้น ถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรก ทั้งที่ได้พยายามทำตลาดผ่านสมาคมจีนทั่วภาคใต้ไปแล้วด้วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายอะไร เนื่องจากในต้นปี พ.ศ.2547 เหตุการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ได้ปะทุขึ้นก่อน ซึ่งในปีเดียวกันนั้นได้เริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาพอดี และวิกฤติการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการผลักดันเบตงให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ยังคงต้องเดินหน้าต่อเนื่องไป เพราะที่ผ่านมาก็ขับเคลื่อนได้มาอย่างแทบไม่มีอะไรสะดุดมาตลอด กิจกรรมของสถาบันขงจื๊อก็เดินหน้าไปได้ด้วยดีแทบไม่มีอุปสรรคปัญหาอะไร ในส่วนของนักศึกษาภาษาจีนรุ่นแรกได้สำเร็จไปแล้ว ซึ่งก็มี 5 คนได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่งในจีน

นี่คือผลงานที่ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติเบตงสร้างขึ้นมา และเป็นความหวังว่า ทั้ง 5 คนจะกลับมาร่วมงานเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าสืบสานพัฒนาเมืองเบตงต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกัน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าภาพชีวิตระหว่างบันไดทางขึ้นสู่อาคารเรียนรูปทรงกำแพงเมืองจีน ช่วงเช้าหน้าโรงเรียนจงฝามูลนิธิจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันอีกหรือไม่ก็ตาม

แต่สำหรับด๊ะห์ที่ร้องกระจองอแงในวันนั้น พร้อมด้วยก๊ะห์ที่คอยประคองปลอบ รวมถึงหมวยเล็กตาตี่ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจจะได้เดินขึ้นบันไดสู่อาคารอำนวยการกลางรูปทรงจีน ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คของความเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติของเบตง อันตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาอีกฟากของเมืองไปแบบพร้อมๆ กันก็เป็นไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.