“อีลิท”ชง4แนวทางยื้อชีวิตตั้ง2คณะทำงานสางปัญหา


ผู้จัดการรายวัน(5 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

อีลิทดิ้นเฮือกสุดท้าย “ณัฐพล”รักษาการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ฟิต ตั้ง 2 คณะทำงานสู้ฟัดชง 4 แนวทางปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ เสนอ “ชุมพล”สัปดาห์หน้า หวังเพื่อเดินหน้าต่อ พร้อมปรับลดค่าใช้จ่ายองค์กรขอคะแนนความเห็นใจ

นายณัฐพล เดชวิทักษ์ รักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรอีลิท เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานระดมสมอง และ 2.คณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายบริษัท ซึ่งทั้งสองคณะฯจะประกอบด้วยหัวหน้างานจากฝ่ายต่างๆของทีพีซี

ทั้งนี้การทำงานของคณะกรรมการชุดแรก ก็เพื่อระดมความคิดข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานขององค์กร นำเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ขององค์กร เพื่อนำเสนอต่อคณะทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อไปยัง นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

ชง 4 แนวทางเสนอชุมพลเดินหน้าต่อ

โดยกรอบเบื้องต้นที่เตรียมเสนอนี้มี 4 แนวทางหลักที่จะต้องดำเนินการหากบริษัทได้รับอนุมัติให้ดำเนินกิจการต่อไป กล่าวคือ 1. การปรับโครงสร้างตัวสินค้า ได้แก่ สิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกรายใหม่ 2.ปรับโครงสร้างราคาค่าสมาชิกให้เหมาะสมกับบริการและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 3. ออกโปรดักส์ใหม่ และ4.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่นการหารายได้เสริมจากบริการใหม่ ให้สมาชิกเข้ามาใช้

ทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใต้การสร้างความเข้าใจให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรด้วยว่า อีลิทการ์ดเป็นบัตรที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือ ไม่ใช่บัตรถือเพื่อรับสิทธิประโยชน์ ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับการให้บริการเรื่อง กอล์ฟ สปาและบริการรถลีมูซีน ให้เหมาะสมด้วย แต่สิ่งที่จะคงไว้แน่นอนคือ บริการฟาสต์แทรก ในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง และสิทธิในระยะเวลาการถือวีซ่านาน 5 ปี เป็นต้น

ปรับลดค่าใช้จ่ายขอคะแนนเห็นใจ

สำหรับคณะทำงานชุดที่สอง ที่จะดูศึกษาเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เช่น การโน้มน้าวให้สมาชิกให้เปลี่ยนมาเลือกให้บริการ กอล์ฟ สปา กับคู่ค้าที่คิดค่าบริการที่ถูกกว่ารายอื่นๆ , การบริหารจัดการภายในองค์กร สร้างจิตสำนึกแก่พนักงานให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ไฟฟ อุปกรณ์สำนักงาน และลดการทำงานล่วงเวลา

“การปรับลดค่าใช้จ่ายเราจะไม่ไปแตะในส่วนของการให้บริการสมาชิกและเงินเดือนพนักงาน เพราะจะทำให้เสียกำลังใจ ส่วนสมาชิกอาจเกิดความไม่พอใจ ดังนั้นการปรับลดค่าใช้จ่ายครั้งนี้อาจคิดเป็นเงินไม่มากนัก เช่น ค่าทำงานล่วงเวลาต่อเดือนจะประมาณ 2 แสนบาท แต่เราต้องการสร้างจิตสำนึกพนักงานให้มีส่วนร่วมในการรักษาองค์กรนี้ไว้”

อย่างไรก็ตามไม่ว่านายชุมพล ศิลปอาชา จะเลือกแนวทางใด ทีพีซีมีแผนรองรับที่จะดำเนินการตามได้ทุกแนวทาง ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่ามีสมาชิกหลายรายที่โทรศัพท์ หรืออีเมล์มาสอบถามข้อมูล บางรายก็ต่อว่าและขู่ฟ้องร้อง บางรายก็ให้คำแนะนำว่าเขายินดีที่จะเสียค่าสมาชิกเป็นรายปี หากทีพีซีได้อยู่ต่อ ขณะที่ก็มีผู้สนใจอีกหลายรายโทรติดต่อเข้ามาจะสมัครเป็นสมาชิกแต่ทีพีซีก็แจ้งไปว่ายังไม่สามารถดำเนินการให้ได้

ตั้ง 4กรรมการใหม่

ทางด้านนางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในฐานะหน่วยงานที่ถือหุ้น 100%ของอีลิทการ์ด กล่าวว่า ล่าสุด ททท.ได้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรื่องอีลิทการ์ด เช่น ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงผลกระทบหากต้องปิดกิจการอีลิทการ์ด พร้อมข้อเสนอแนะ และข้อแนะนำจากคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (คตป.กก.) ซึ่งมี นายสีมา สีมานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)อีลิทการ์ด ได้กำหนดให้วันที่ 17 มี.ค.52 เป็นวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ในการแต่งตั้งกรรมการอีก 4 คน เพื่อมาแทนกรรมการที่ลาออกไป 2 คน ได้แก่ นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย และ กรรมการที่หมดวาระอีก 2 คน เพราะขณะนี้กรรมการในบอร์ดอีลิทการ์ดเหลือเพียง 7 คนจากทั้งหมด 11 คน ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้เพราะไม่ครบองค์ประชุม โดยกรรมการใหม่ที่จะเลือกเข้ามาต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ด้านการตลาด การต่างประเทศเป็นอย่างดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.