อนาคตความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา สหายสนิทของผมเพิ่งส่งเอกสารชิ้นหนึ่งมาให้ เป็นรายงานรายปีประเมินภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติที่ พล.ร.อ.เดนนิส ซี. แบลร์ (Dennis C. Blair) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552

เนื้อหาในเอกสารความยาว 45 หน้า ครอบคลุมประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เรื่องเร่งด่วนที่สุดอย่างผลกระทบด้านความมั่นคงจากวิกฤติ เศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในรอบ 80 ปี ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภาวะโลกร้อน วิกฤติพลังงานไปจนถึงภัยคุกคามในโลกไซเบอร์

ทั้งนี้ในเอกสารตอนหนึ่งยังระบุถึงความเป็นห่วงของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ต่ออิทธิพลของประเทศใหญ่อย่างเช่น รัสเซีย เวเนซุเอลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "จีน" ที่มีต่อโลกด้วย

ในหน้าที่ 21-23 ของรายงานชิ้นดังกล่าวระบุ ถึงการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rising Asia) โดยเลือกที่จะกล่าวถึงประเทศจีนเป็นลำดับแรก โดยระบุว่าขณะที่ลัทธิก่อการร้ายได้คุกคามก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพไปทั่วโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้กลับตั้งท่าที่จะกลายเป็น "ศูนย์กลางอำนาจในโลก" ระยะยาว

"จีนและอินเดียกำลังทวงตำแหน่งที่พวกเขาเคยยืนอยู่ในยุคศตวรรษที่ 18 กลับคืน โดยในสมัยนั้นความมั่งคั่งของโลกถึงร้อยละ 30 มาจากจีน ส่วนอีกร้อยละ 15 มาจากอินเดีย และภายในปี ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) จีดีพีของทั้งสองประเทศจะแซงหน้าทุกประเทศยกเว้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น" รายงานชิ้นดังกล่าวระบุ

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวพันกับจีน ดูเหมือนว่าหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ จะดูวิตกกังวลไม่น้อย เกี่ยวกับสถานะของประเทศจีนในอุ้งมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านจากพญามังกรที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น เป็นพญามังกรที่ตื่นแล้วและกำลังแสดงให้โลกเห็นถึงเขี้ยวเล็บ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและทางการทหาร

ปัจจุบันในยุคที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา หรือที่ชาวจีนเรียกกันทั่วไปว่า "เอ้าปาหม่า" นั้น ต้องกู้ยืมเงิน จากประเทศจีนมากระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเอง ผ่านทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรประเทศอื่นๆ จนทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย กำลังซื้อหดหาย ตลาดประชากรขนาด 1,300 ล้านคนของจีนที่กำลังเติบโต และมีกำลังซื้อมหาศาลย่อมจะถูกตั้งความหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกโดยปริยาย

เพราะฉะนั้นหลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโลกเช่นนี้ สหรัฐฯ จะปฏิเสธการประสานความร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

ทว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของโอบามา เมื่อ 20 มกราคม 2552 ดูเหมือนว่ารัฐบาลที่นำโดยคนหนุ่มผิวสีผู้นี้จะมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับจีนเท่าใดนัก เริ่มต้นด้วยการกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต่อเนื่องมาจนถึงคำกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งโอบามาเอ่ยถึง "คอมมิวนิสต์" ในเชิงลบจนทำให้สถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ต้องดูดเสียงออก

ประกอบกับการที่หลังจากนั้น คนข้างกายโอบามา อย่างโจ ไบเดน รองประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ด่าจีนอีกว่าเล่นเกมเศรษฐกิจแบบไม่แฟร์ โดยกล่าวว่า "สำหรับจีน... ในเวทีเศรษฐกิจระดับโลก คุณเป็นผู้เล่นสำคัญ ดังนั้นคุณต้องเล่นตามกติกาที่ทุกคนเขาเล่นกัน"

นอกจากนี้ยังมีทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลจีนต้องหยุด แทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนเพื่อกระตุ้นการส่งออกของตัวเองเสียที เพราะการกระทำดังกล่าวของจีนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้กับจีนมากกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ในฝั่งผู้นำจีนเอง เมื่อโดนโจมตีเข้ามากๆ ก็ถือโอกาสสวนหมัดกลับไปบ้าง อย่างเช่น กรณีเวิน เจียเป่า ที่ใช้เวทีการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม; WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวโจมตีสหรัฐฯ โดยอ้อมๆ ว่า มีบางประเทศใช้ "นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เหมาะสม" และ "มีการออมเงินต่ำแต่มีการบริโภคสูงมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน" รวมทั้งระบุว่าสถาบันการเงินในสหรัฐฯ "ขาดวินัยในตนเอง" และ "แสวงหากำไรอย่างไม่ลืมหูลืมตา" อีกด้วย

ผู้ติดตามข่าวรวมไปถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเมื่อได้ยิน "วิวาทะ" ระหว่างผู้บริหารของสองมหาอำนาจแล้วก็รู้สึกวิตกกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในยุคโอบามานั้นอาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่คาดกันไว้

กระนั้น เมื่อผมติดตามสื่อจีนและนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ แล้วกลับพบว่า แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีโอกาสที่จะยกระดับขึ้นเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์" ได้ อย่างไรก็ตาม คงไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็น "พรรคพวก" กันได้

ถึงปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของบารัค โอบามาและรัฐบาลของเขาในสายตาของชาวจีนนั้นยังอยู่ในเชิงบวก แม้ว่าจะมีวิวาทะทางเศรษฐกิจที่โต้ตอบกันอยู่บ้าง แต่ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศของจีนก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงแรกนี้สุนทรพจน์ คำพูด และบทสัมภาษณ์ของโอบามาและพรรคพวกไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึง นโยบายการต่างประเทศที่แท้จริง เนื่องจากโอบามาจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของชาวอเมริกัน ซึ่งลงคะแนนให้เขาเสียก่อน ทั้งนี้เมื่อเวลาทอดไปสักพัก พอโอบามาได้มีเวลานั่งลงพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ ได้รับฟังสภาวะและสถานการณ์ด้านต่างประเทศจากที่ปรึกษาแล้วนั่นแหละจึงจะเป็นนโยบายต่างประเทศที่แท้จริงของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโอบามา

หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้โอบามากับพวกจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ ฝั่งจีนเขาไม่ถือนั่นเอง!

ทั้งนี้มีรายงานชิ้นหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน (People's Daily) กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนวิเคราะห์ลึกลงไปกว่านั้นโดยระบุว่า นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคโอบามานั้นน่าจะเป็น "นโยบายต่างประเทศแบบสองด้าน " กล่าวคือ นอกจากโอบามา ประธานาธิบดีที่มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว ผู้ที่จะชี้เป็นชี้ตายนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้อีกคนหนึ่งก็คือ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

"ในอนาคต บนเวทีนานาชาติบทบาทของฮิลลารีและโอบามา จะคล้ายคลึงกับบทบาทของคิสซิงเจอร์กับนิกสัน" นสพ.ประชาชนรายวันวิเคราะห์ โดยอ้างอิงถึงบทบาทของเฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐฯ เมื่อ 30 กว่าปีก่อนในสมัยที่สหรัฐฯ หันกลับมาญาติดีกับจีนในยุคประธานเหมาเจ๋อตง เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ทั้งๆ ที่จีนและสหรัฐฯ ต่างถืออุดมการณ์ทางการเมืองกันคนละขั้ว

บทวิเคราะห์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจีนค่อนข้างจะมองบทบาทของนางคลินตันในเชิงบวก และตั้งความหวังไว้ว่าภริยาคนเก่งของบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ให้แนบแน่นขึ้น

จากสถานการณ์ล่าสุด ดูเหมือนว่าผู้นำจีนน่าจะยิ้มออก เพราะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก่อนการเดินทางมาเยือนเอเชีย 4 ประเทศอย่างเป็นทางการ (ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย โดยเป็นการเยือนจีนระหว่าง 20-22 กุมภาพันธ์) นางคลินตันได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่เอเชีย โซไซตี ณ มหานครนิวยอร์ก โดยระบุถึงคำว่า Smart Power อันหมายถึงการผสมผสานเพื่อดำเนินนโยบายโดยใช้อำนาจแข็ง (Hard Power) และอำนาจอ่อน (Soft Power) อย่างลงตัว ว่าจะเป็นปรัชญาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคของเธอ

"เมื่อเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เราก็ต้องข้ามแม่น้ำอย่างสงบไปด้วยกัน" นางคลินตันกล่าวที่เอเชีย โซไซตี โดยอ้างอิงถึงสุภาษิตจีนโบราณ

สำหรับสุนทรพจน์ดังกล่าวถูกผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์จีนตีความไปว่า เป็นการส่งสัญญาณจากนางคลินตันว่าด้วยแนวนโยบาย Smart Power สหรัฐฯ พร้อมแล้วที่จะตอบสนองแนวนโยบายการต่างประเทศ "สังคมโลกที่กลมกลืน (Harmonious World)" หรือในภาษาจีนคือ "เหอเสียซื่อเจี้ย" ที่ประเทศจีนในยุคประธานาธิบดีหูจิ่นเทายึดถือ

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า การพบกันของปรัชญา Smart Power ของสหรัฐฯ และปรัชญา Harmonious World ของจีนจะสรรค์สร้างสังคมโลกในยุคใหม่ขึ้นมาในรูปลักษณ์ใด?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.