สหรัฐฯ กำลังกลายเป็นสังคมนิยม?


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับยุโรป และห่างจากทุนนิยมตลาดเสรีออกไปทุกที

ในรายการข่าวของ Fox News เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ดำเนินรายการและ Mike Pence สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้เป็นพรรคฝ่ายค้านของสหรัฐฯ กล่าวโจมตีมาตรการบางข้อในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าเป็น "นโยบายสังคมนิยมเลียนแบบยุโรป แห่งปี 2009"

บางที Pence อาจลืมไปว่าคนที่หยิบยกเอาคำว่า "สังคมนิยม" มาพูดเป็นคนแรก กลับเป็นจอห์น แมคเคน ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของรีพับลิกันเอง ซึ่งพ่ายแพ้ให้แก่โอบามาในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีในช่วงที่แมคเคนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี จนทำให้กลายเป็นคำติดปากของรีพับลิกัน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้วซึ่งอยู่ภายใต้พรรครีพับลิกันนั่นเองที่ได้ตัดสินใจเข้ายึดครองธนาคารและวาณิชธนกิจมาเป็นของรัฐ นั่นเป็นสัญญาณของนโยบายสังคมนิยมอย่างชัดเจน

ไม่ว่ารีพับลิกันหรือใครต่อใครในสหรัฐฯ จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ ในปี 2009 นี้กำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นยุโรปสมัยใหม่ ซึ่งยึดนโยบายเศรษฐกิจระบบตลาดผสมสังคมนิยมแบบยุโรป มากกว่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบอเมริกันไปเสียแล้ว

รัฐบาลชุดที่แล้วของสหรัฐฯ ภายใต้พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวา แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลที่ออกกฎหมายใหม่ที่ขยายสวัสดิการของรัฐครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ส่วนประชาชนชาวอเมริกันในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายกลับเรียกร้องในสิ่งเดียวกันคือ ขอให้รัฐบาลอเมริกันลงทุนในพลังงานทางเลือก เพื่อหยุดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างชาติ ข้างฝ่ายรัฐ ต่างๆ ของสหรัฐฯ ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งรัฐที่นิยมรีพับลิกันมากที่สุด ก็ไม่มีทางที่จะยอมลดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในขณะนี้เป็นแน่

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งหมดข้างต้น ล้วนเป็นสัญญาณของการที่ภาครัฐกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ และสิ่งที่แปลกก็คือ ปรากฏการณ์ข้างต้นล้วนแต่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ภายใต้พรรครีพับลิกันที่เกลียดการให้รัฐเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนเป็นที่สุด

อย่างไรก็ตาม มาถึงบัดนี้ลุงแซมจำเป็นต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า ต่อไปนี้ภาครัฐจะต้องมีบทบาทในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากขึ้นและไม่มีประโยชน์ที่จะยืนกรานสู้วิกฤติในยุคศตวรรษที่ 21 ด้วยวิธีของศตวรรษที่แล้ว ยิ่งสามารถทำความเข้าใจกับสถานะที่แท้จริงในปัจจุบันของตัวเองได้เร็วเท่าใด สหรัฐฯ ก็จะยิ่งสามารถคิดได้ถ้วนถี่มากยิ่งขึ้นว่า ควรจะใช้ภาครัฐอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นไปของโลกในทุกวันนี้

เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโอบามาพยายามผลักดันงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้เม็ดเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และยังจำกัดรายได้ของผู้บริหารธนาคาร และวาณิชธนกิจที่รัฐบาลต้องเข้าอุ้ม ไม่ให้เกินเพดาน 5 แสนดอลลาร์ ทั้งยังออกมาตรการใหม่ในการกอบกู้ภาคการเงินการธนาคาร ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี และดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่ำเท่ากับระดับในปี 1998 ส่วนอัตราการยึดบ้านก็พุ่งพรวดถึง 81% ในปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่า สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางของยุโรป

ข้อมูลจากองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า เมื่อ 10 ปีก่อน การใช้จ่ายของรัฐบาลอเมริกันอยู่ที่ 34.3% ของ GDP เทียบกับชาติยุโรปในเขต euro zone ซึ่งอยู่ที่ 48.2% ของ GDP ห่างกัน 14 จุด แต่ในปี 2010 คาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 39.9% ของ GDP เทียบกับยุโรป 47.1% ในเขต euro zone จะเห็นว่าช่องว่างลดลงเหลือไม่ถึง 8% ยิ่งการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐบาล สหรัฐฯ กำลังจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ ก็ดูยิ่งคล้ายรัฐสวัสดิการอย่างฝรั่งเศสเข้าไปทุกที

และดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์จะชอบเล่นตลก เมื่อผู้ที่นับได้ว่าเป็นคนนำสหรัฐฯ เข้าสู่ยุคใหม่ของการที่ภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นนั้น กลับเป็นคนที่ต่อต้านการเพิ่มบทบาทของรัฐมาโดยตลอด นั่นก็คืออดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นผู้ที่สั่งให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าอุ้มภาคการเงินการธนาคารเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการทุ่มงบประมาณสูงลิ่วถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ บุชจึงนับเป็นผู้ที่ปิดฉากยุคของ Reagan (Age of Reagan) ที่เกลียดการที่ภาครัฐมีบทบาทมากเกินไปโดยสิ้นเชิง ส่วนโอบามากำลังจะไปไกลยิ่งกว่านั้น เขากำลังจะรื้อฟื้นยุคที่ภาครัฐมีบทบาทมากให้กลับฟื้นคืนมา ซึ่งเป็นยุคที่ถูกปิดลงในสมัยของบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดียวกับเขา อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันกลับพบว่า พวกเขายังคงไม่ไว้ใจให้ภาครัฐเข้ามีบทบาทมากในทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็กลับต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล การป้องกันประเทศ และการปกป้องประชาชนจากการล่มสลายของภาคการเงินการธนาคารและตลาดบ้านตกต่ำ

แม้ว่าอดีตประธานาธิบดีเรแกนจะพยายามจำกัดบทบาทของภาครัฐมานานถึง 3 ทศวรรษ แต่ปรากฏว่าบทบาทของภาครัฐในสหรัฐฯ กลับไม่เคยลดลงเลย และกลับขยายตัวมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่เศรษฐกิจอเมริกันเติบโตเร็วยิ่งไปกว่า สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP ของสหรัฐฯ จึงดูเหมือนคงเดิม แต่แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับกลายเป็นภาพลวงตา แทบไม่ต่างอะไรจากกองทุนแชร์ลูกโซ่ของ Bernie Madoff นักการเงินจอมโกงของสหรัฐฯ ที่เพิ่งถูกเปิดโปงเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อความจริงได้ปรากฏออกมาว่า แท้จริงแล้วคนอเมริกันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกู้หนี้ยืมสิน และอัตราการออมของคนอเมริกันลดลงจาก 7.6% ในปี 1992 เหลือต่ำกว่าศูนย์ในปี 2005 ส่วนบรรดานักการเงินอย่างเช่น Madoff ก็ถนัดแต่สร้างวิมานในอากาศ

ในระยะสั้นนี้ ภาครัฐคงจะมีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งภาคเอกชนและผู้บริโภคอเมริกันยังคงอ่อนแอ จึงตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในระยะยาว การมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นและปัญหาโลกร้อนรวมทั้งราคาน้ำมันแพง จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจัดเก็บภาษีและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ปัญหาอยู่ที่เมื่อรัฐบาลเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจมากๆ ก็จะเท่ากับเป็นการจำกัดการเติบโต เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการ และเป็นสาเหตุให้อัตราการว่างงานในยุโรปสูงเรื้อรัง แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่อาจขาด การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เพราะการเติบโตเป็นความภาคภูมิใจของคนอเมริกัน

สภาพของรัฐบาลโอบามาจึงอยู่ในท่ามกลางของสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง รัฐบาลของเขาจำเป็นต้องกู้ยืมมากขึ้นเพื่อจะนำมาใช้จ่ายให้มากขึ้น ก็เพื่อจะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่มีสาเหตุมาจากการที่สหรัฐฯ กู้ยืมและใช้จ่ายมากเกินไปนั่นเอง การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้โอบามาจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมลง ด้วยการลดสวัสดิการรักษาพยาบาลและเกษียณอายุ ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องลงทุนเพื่อที่จะสร้างการเติบโตในระยะยาว โอบามาเคยกล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ "ฉลาด" ดูเหมือนว่าเขาจะคาดการณ์ได้แม่นยำยิ่ง โอบามาจะทำอย่างไร จึงจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างความเป็นตัวของตัวเองในแบบอเมริกันกับการที่นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ กำลังเดินเข้าใกล้ยุโรปมากขึ้นทุกที เป็นเรื่องที่โอบามาคงจะต้องใช้ทั้งฝีมือและความฉลาดที่มีอยู่ในตัวทั้งหมดอย่างสุดตัว

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
นิวสวีค 16 กุมภาพันธ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.