ความเสี่ยงของแบงก์ใช่ว่ามีเฉพาะสินเชื่อ

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

คนส่วนใหญ่ยังคิดว่างานบริหารความเสี่ยงในสถาบันการเงิน มีจุดโฟกัสใหญ่อยู่ที่เรื่องของการปล่อยสินเชื่อ แต่ความจริงในการทำงานทุกกระบวนการล้วนมีโอกาสเกิดความเสี่ยงได้ทั้งสิ้น

หลายคนอาจสงสัยเมื่อเห็นผังโครง สร้างการบริหารงานของธนาคารนครหลวง ไทย เพราะในเมื่อได้มีการตั้งฝ่ายบริหารความเสี่ยงขึ้นมาแล้ว ทำไมจึงต้องแยกฝ่าย บริหารความเสี่ยงสินเชื่อออกมาอีกต่างหาก

"ความเสี่ยงในการทำธุรกิจธนาคาร หรือสถาบันการเงินมีหลายอย่าง เรื่องสินเชื่อก็เป็นเรื่องหนึ่ง" วิชิต แสงทองสถิตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง ธนาคารนครหลวงไทย อธิบายกับ "ผู้จัดการ"

วิชิตเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากธนาคาร ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เขาอธิบายว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของธุรกิจสถาบันการเงิน สามารถแยกออกได้เป็น 4 ประเภท

ประเภทแรกคือความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นหลักใหญ่ของการบริหารความเสี่ยง เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 6 ปีก่อน

ธนาคารนครหลวงไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังนั้นในการบริหารสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องแยกให้มีทีมที่ดูแลความเสี่ยงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยมีสุจิต สุวรรณเขต เป็นผู้บริหาร

แต่ความเสี่ยงอีก 3 ประเภท ก็มีความสาคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ได้แก่ความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านการตลาด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งทั้ง 3 ด้านอยู่ในความรับผิดชอบของวิชิต

ความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่องก็คือ การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้เกิด ความสมดุล ให้ธนาคารมีเงินสดเหลือพอที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาถอนออกไปได้ตลอดเวลา

ความเสี่ยงทางด้านการตลาด คือการติดตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่จะมีผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของธนาคาร เช่น อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลอด จนขอบข่ายการลงทุนของธนาคาร เช่นการถือครองหลักทรัพย์ ตราสาร พันธบัตร ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหุ้นกู้

ส่วนความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน คือการเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของขั้นตอนการทำงานของฝ่ายงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 63 ฝ่าย กับอีก 1 สำนัก ว่าจะมีกระบวนการใดที่อาจผิดพลาดและก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น

"เนื้องานหลักของฝ่ายนี้ คือการเฝ้า ติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอก รวมถึงรายงานที่ฝ่ายงานต่างๆ นำเสนอขึ้นมาเกี่ยวกับการทำงานของเขา เพื่อหาทางป้องกันจุดบกพร่องและหาแนวทางแก้ไข แล้วนำเสนอเป็นรายงานขึ้นไปถึงระดับคณะกรรมการ" วิชิตบอก

คณะกรรมการที่เขากล่าวถึงมีอยู่ด้วยกัน 2 ชุด คือ คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร ระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นไป

คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะดูภาพรวม และตัดสินใจสั่งการตามรายงานที่หน่วยงานระดับฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหารความเสี่ยง และฝ่ายบริหารความเสี่ยงสินเชื่อเป็น ผู้นำเสนอ

ธนาคารนครหลวงไทยเริ่มให้ความ สำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร หลังดึงอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อกลางปี 2544 โดยในเดือนธันวาคมปีเดียวกันได้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารความเสี่ยงทั้ง 2 ฝ่ายนี้ขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในความรับผิดชอบของนิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในช่วงแรกได้ว่าจ้างให้บริษัทดีลอยท์ ทู้ช แอนด์ โทมัทสุ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบบริหารความเสี่ยง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนที่ปรึกษาเป็นไพร้ซ์วอเตอร์ เฮาส์ แอนด์ คูเปอร์ส หลังจากสัญญาที่ทำกับดีลอยท์ ทู้ช หมดลง

วิชิตยอมรับว่าความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินในประเทศไทย ยังต้องมีการส่งเสริมกันอีกมาก เพราะเพิ่งมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาได้เพียง 4-5 ปี และวิชาการส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นยังจะต้องมีการปรับปรุงบางจุดให้เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในประเทศไทย

แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องมี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.