ฝ่ามรสุม


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพรวมธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภายในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาลดลงเพราะเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แม้แต่ บลจ.เอ็มเอฟซีก็บริหารมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ลดลงเช่นกัน

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกและในไทยยังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่า เศรษฐกิจจะถึงต่ำสุดเมื่อไหร่ แต่ดูเหมือนว่า บลจ.เอ็มเอฟซีกลับตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีนี้บริษัทจะต้องมีรายได้ 670 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 260,000 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจาก 218,857.20 ล้านบาทปี 2550 เป็น 216,474.37 ล้านบาทในปี 2551

สิ่งที่ฉุดให้ธุรกิจของบริษัทบริหารมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง คือส่วนกองทุนรวมภายใต้การจัดการที่ลดลงร้อยละ 7.4 เหลือ 135,309 ล้านบาทในปี 2551 จากปี 2550 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 146,155 ล้านบาท

แต่บริการที่ยังมีการเติบโตมาจากสองส่วน ส่วนแรกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตร้อยละ 8 ที่ให้บริการจำนวน 41 กองทุน มีบริษัทสมาชิก 170,123 แห่ง มูลค่า 55,930 ล้านบาท จากปี 2550 มีมูลค่า 25,742 ล้านบาท

กองทุนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.58 มีมูลค่า 25,235 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2550 20,928 ล้านบาท ลูกค้าหลักมาจากการบริหารกองทุนให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท จากเดิม 9,000 ล้านบาท

แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคาดเดาลำบากแต่เอ็มเอฟซีก็ยังตั้งเป้าหมายที่จะฝ่ามรสุมภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า MFC Beating the Storms

ในปีนี้บริษัทจะต้องเติบโตร้อยละ 20 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี บอกว่ายังตั้งคำถามกับ ดร.ศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ว่าจะทำได้อย่างไร

ซึ่ง ดร.ศุภกรค่อนข้างมองโลกในแง่ดีและคาดว่าเศรษฐกิจ โดยรวมในไทย น่าจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 เขายังมองอีกว่าดัชนีหุ้นของไทยควรจะอยู่ในระดับที่ 500 จุดภายในสิ้นปีนี้

จากการประเมินเศรษฐกิจโดยรวมที่บริษัทมองว่าจะยังดีอยู่ทำให้ ดร.ศุภกรตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีนี้จะออกกองทุนใหม่อีก 22-27 กองทุน ซึ่งมากกว่าที่ ดร.พิชิตได้บอกไว้ถึง 5 กองทุน

จากเอกสารระบุไว้ว่ากองทุน 22 กองทุน แบ่งออกเป็น กองทุนรวมตราสารทุนและกองทุนผสมแบบยืดหยุ่น 7 กองทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ 5 กองทุน กองทุนต่างประเทศ 6 กองทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 4 กองทุน โดยในไตรมาสแรกจะเปิดขายกองทุน 5-6 กองทุน

ซึ่งกองทุนในไตรมาสแรกจะครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวมต่างประเทศและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

วิธีการทำตลาดในปีนี้ บลจ.ปรับเปลี่ยนการทำตลาดจาก เดิมที่เน้นขายผลิตภัณฑ์ จะเริ่มเน้นให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุน เช่น เน้นให้ลงทุนในหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่ให้ตอบแทนที่ดี ทดแทนการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ

ธุรกิจหลักของเอ็มเอฟซียังเปิดให้บริการกองทุนใหม่ๆ แต่ การพึ่งพิงธุรกิจกองทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ยาวนาน

บริษัทจึงเริ่มกระจายความเสี่ยง ในปีนี้จะเน้นให้ธุรกิจด้านที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเน้นลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ อาทิ โครงการกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟรางคู่ โครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

และรวมไปถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ทำหน้าที่คล้ายกับที่ปรึกษาหนี้ให้กับครู ซึ่ง บลจ.เอ็มเอฟซีได้เข้าไปให้บริการฟรีตั้งแต่ปี 2551

จากประสบการณ์ของเอ็มเอฟซีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทรู้ว่า การทำธุรกิจไม่ควรเน้นหนักไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น จึงทำให้ในอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจไว้ว่าครึ่งหนึ่งจะเน้นการลงทุนในประเทศและอีกครึ่งหนึ่งจะออกไปแสวงหาธุรกิจในต่างประเทศ

จึงทำให้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2555 มีเป้าหมายบริหาร ทรัพย์สินสุทธิ 450,000 ล้านบาท และยังฝันต่ออีกว่าจะต้องเป็นบริษัทที่ติด 1 ใน 3 ของ บลจ.ในประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.