ยังไม่รีบ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนตลอดทั้งปีนี้ทำให้ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ต้องพับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไป

บรรยากาศเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยดูเหมือนจะไม่เป็นใจให้ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่ได้กำหนดไว้ว่าธนาคารจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2553

มีเหตุผล 3 เรื่องที่ธนาคารรายย่อยแห่งนี้จำเป็นต้องชะลอ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปก่อนคือ 1. สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ยังไม่ชัดเจน 2. มาตรการของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจะเห็นผลในครึ่งปีหลังนี้หรือไม่ 3. ความสงบในบ้านเมืองจะประคับประคองไปได้นานเพียงใด

เงื่อนไขหลักที่จะทำให้ธนาคารตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต่อเมื่อมีการซื้อขายในตลาดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อวันและจะต้องเกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงดัชนีหุ้นในตลาดจะต้องใกล้ 500 จุด

ในขณะที่สภาพความเป็นจริงมูลค่าการซื้อขายของตลาดฯ ในปัจจุบันดัชนีของไทยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่ 400 กว่าจุด ส่วนปริมาณ การซื้อขายในแต่วันก็ยังอยู่ที่ 6-7 พันล้านบาท

ฉะนั้นโอกาสสำหรับธนาคารรายย่อยแห่งนี้จะเข้าตลาดในปีนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะตลาดยังไม่พร้อม

ศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารก็หยั่งรู้ในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงทำกลยุทธ์ในการบริหารของธนาคารในปีนี้จะยึดการดำเนินงานในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

รวมไปถึงธนาคารจะนำมาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อไม่ให้เกิน 2.5% จากสิ้นปีที่ผ่านมามีสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิร้อยละ 1.4 หรือ 487 ล้านบาท

การปล่อยสินเชื่อในปีนี้อาจจะเงียบเหงาเพราะธนาคารทุกแห่งจะระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น จึงทำให้ธนาคารใช้จังหวะและโอกาสนี้หันไปพัฒนาคุณภาพของบุคลากรมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการให้บริการที่เน้น service mind รวมไปถึงสร้างความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนค่อนข้างมาก

การเร่งพัฒนาคุณภาพบุคลากรของธนาคารอาจเป็นงานหลักอีกส่วนหนึ่งที่ธนาคารจะต้องเร่งทำเพราะธนาคารมีอายุการดำเนินงานเพียง 3 ปีเท่านั้น

จึงทำให้บุคลิกและแบรนด์ของธนาคารยังจำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง เพราะที่ผ่านมาในสายตาของผู้บริโภคยังรู้จักธนาคารแห่งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับธนาคารรายเล็กๆ อย่างธนาคารทิสโก้ หรือธนาคารธนชาต

ดูเหมือนว่าธนาคารแห่งนี้จะพอใจแนวการบริหารในรูปแบบ organic growth ที่ไม่ต้องเข้าไปซื้อกิจการเพื่อเร่งให้ธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภาพลักษณ์ของธนาคารจึงเหมือนอนุรักษนิยม

ภาพสะท้อนของการบริหารงานแบบ organic growth ทำให้ธนาคารแห่งนี้พอใจผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกำไร 240 ล้านบาท ในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 มีกำไร 101 ล้านบาท หรือโตขึ้นร้อยละ 117

ปี 2551 มีรายได้ 2,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 มีรายได้ 1,592 ล้านบาท มียอดสินเชื่อรวม ปี 2550 25,601 ล้านบาท ส่วนปี 2551 มี 32,014 ล้านบาท

มีเงินรับฝากและเงินกู้ยืมจากประชาชน ปี 2551 มี 35,673 ล้านบาท และปี 2550 มี 22,167 ล้านบาท

ธนาคารยังพอใจลูกค้าที่มาเปิดบัญชีกว่า 53,000 บัญชี หรือเติบโตร้อยละ 70 รวมถึงมีสัดส่วนฐานลูกค้ารายย่อยวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท เกือบร้อยละ 90 ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

การเติบโตของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะเน้นไม่เร่งรีบ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับต้นของประเทศก็ตาม หรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างรัฐบาลสิงคโปร์

การบริหารงานในรูปแบบค่อยเป็นไปของธนาคารส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายการขยายสาขาเพียง 3-5 แห่งในปีนี้ และเน้นเปิดให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนต่างจังหวัดจะเน้นเปิดในจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น อาทิ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต

ในปัจจุบันภูมิภาคมี 5 สาขา ในขณะที่กรุงเทพฯ มี 21 สาขา ปริมณฑลมี 16 สาขา

ดูเหมือนว่าแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารจะยังไม่สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของธนาคารที่ศศิธร กรรมการผู้จัดการที่เคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนมกราคมว่า

"ใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์ ฉับไว ทั่วถึงลูกค้า"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.