เมื่อธุรกิจขาดเงินทุน AJF ช่วยคุณได้

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บทบาทของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะที่สภาพคล่องกำลังล้นแบงก์ นอกจากการออกกองทุนมาดูดสภาพคล่องออกไปแล้ว ยังมีบทบาทอื่นที่ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ยังสามารถเล่นได้อีก

อีกไม่นานนี้ ไม่เพียงเฉพาะผู้มีเงินออมซึ่งต้องการแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ หากแต่นักธุรกิจผู้ซึ่งต้องการเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการขยายกิจการหรือใช้หมุนเวียน ภายในบริษัท หากได้มาปรึกษากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยาเจเอฟ (AJF) แล้ว อาจจะไม่พบกับความผิดหวัง

เพราะขณะนี้ AJF กำลังอยู่ระหว่าง การกำหนดรายละเอียดของโครงสร้างและรูปแบบของกองทุนรวมประเภทใหม่ ซึ่งเป็นการระดมเงินจากผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เพื่อนำมาซื้อตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยกิจการที่ดี แต่ต้องประสบกับความลำบากในการไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะ

"กองทุนรูปแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย" เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ AJF บอกกับ "ผู้จัดการ"

AJF เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับเจพี มอร์แกน เฟลมมิ่ง และถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ aggressive อย่างต่อเนื่อง จน ทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนประเภทกองทุนรวมที่ขายให้กับประชาชนทั่วไป เพิ่มสูงเป็นอันดับ 1 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทั้งระบบได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

AJF เริ่มมีแนวคิดในการออกกองทุน ประเภทใหม่นี้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาสภาพคล่องล้น ระบบเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น จากการนำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ หลังจากนั้นได้เริ่มจัดทำรายละเอียดเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก.ล.ต.ก็ได้อนุมัติโครง สร้างเบื้องต้นของกองทุนดังกล่าวแล้ว

ด้วยรูปแบบใหม่ของกองทุนนี้ บทบาทของ AJF ดูเหมือนจะขยายขึ้นจากการที่เป็นเพียงผู้บริหารเงินทุนอย่างเดียว แต่จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางในการนำผู้ที่ต้องการใช้เงินทุนไปพบกับผู้ที่มีเงินและกำลังมองหาลูกค้าดีๆ เพื่อปล่อยกู้

"เพียงแต่กระบวนการมันจะสลับกัน การออกกองทุนรวมขายให้กับประชาชน เราต้องไปหาคนที่มีเงินและต้องการลงทุนก่อน แล้วค่อยนำเงินของเขาไปลงทุน แต่กองทุนรูปแบบใหม่นี้ เราต้องหาธุรกิจที่ต้อง การเงินทุนด้วยวิธีการนี้ให้ได้จำนวนหนึ่งก่อน แล้วค่อยไปหาผู้ลงทุนสถาบันเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับเขา" เรืองวิทย์อธิบาย

โครงสร้างโดยคร่าวๆ ของกองทุนนี้ จะเป็นกองทุนปิด อายุระหว่าง 7-10 ปี มีวงเงินรวมประมาณ 5,700 ล้านบาท โดย AJF จะขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันโดยเฉพาะ กำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับผู้ต้องการซื้อหน่วยลงทุนแต่ ละรายต้องซื้อไม่ต่ำกว่ารายละ 50 ล้านบาท

เงินที่ระดมได้จะนำไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยบริษัทที่ AJF ได้คัดเลือกมาแล้ว ว่าเป็นบริษัทที่ดี ซึ่งมีกระจายอยู่ในอุตสาห-กรรมต่างๆ โดยจะซื้อหุ้นกู้รายละประมาณ 150-500 ล้านบาท

"บริษัทเหล่านี้แม้เป็นบริษัทที่ดีแต่ ก็ต้องพบกับความยุ่งยากในการไปขอเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่มีชื่อเสียงถึงขนาดที่จะออกหุ้นกู้ขายเองโดยตรงให้กับประชาชนทั่วไปได้"

ผลตอบแทนที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนจะได้รับแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ผู้ซื้อหน่วย ลงทุนคลาส A จะได้รับผลตอบแทน 4% ต่อปี ส่วนผู้ซื้อหน่วยลงทุนคลาส B ได้รับผลตอบแทน 8%

"เราแบ่งอย่างนี้เพื่อความคล่องตัว ในการขายหน่วยลงทุน โดยการแยกระดับความเสี่ยงของกองทุนออกเป็น 2 ระดับ ผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูง ก็ซื้อคลาส B แต่ต้องรับความเสี่ยงมากกว่า ขณะที่ผู้ที่ไม่ต้องการเสี่ยงมาก ก็ซื้อคลาส A แต่ผลตอบแทนที่ได้รับจะต่ำกว่า"

ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยลงทุนประเภทนี้มีเพียงอย่างเดียว คือกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้เกิดมีปัญหาทางการเงิน จนไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับหุ้นกู้ที่ออกมาขายให้กับกองทุนได้ ซึ่งจัดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

สำหรับ AJF ผลตอบแทนที่ได้รับ คือค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุน

กองทุนนี้อาจดูยุ่งยากในช่วงแรกของการจัดตั้ง เพราะ AJF ในฐานะคนกลาง จะต้องวิ่งหาธุรกิจที่ต้องการเงินทุนเข้ามาไว้ในมือจำนวนหนึ่งก่อนจึงจะสามารถจัดตั้งกองทุนได้ แต่เมื่อกองทุนนี้ได้มีการจัดตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว บทบาทของ AJF คือ เฝ้าติดตามว่าธุรกิจที่ได้รับเงินไปจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามกำหนดระยะเวลาหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินไปลงทุนประเภทอื่น ที่ต้องอาศัยเวลาในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมากกว่า

AJF ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดตัวกองทุนนี้ ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

แม้วงเงินขั้นต้นที่ตั้งไว้ 5,700 ล้านบาท ดูจะน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ในระบบถึง 8 แสนล้านบาท แต่หากกองทุนแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นประสบความสำเร็จ และมีผู้สนใจจะใช้วิธีการนี้ในการระดมทุนหรือระบายสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โอกาสที่ AJF จะจัดตั้งกองทุนที่ 2 หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งอื่นจะเอาแบบบ้าง ก็มีความเป็นไปได้

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กองทุนประเภทนี้ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะดึงเงิน ที่กองล้นอยู่ในระบบหมุนเวียนออกไปสู่ภาคการผลิตที่แท้จริง ซึ่งยังคงมีความต้องการเงินทุนอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.