|
CKแตกไลน์ธุรกิจลุยผลิตไฟฟ้าขายมูลค่าโครงการ5พันล.ถือหุ้นใหญ่81%
ผู้จัดการรายวัน(4 มีนาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ช.การช่างลงขันตั้ง " บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น " ลุยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขาย ระบบ Cogeneration มูลค่าโครงการ 5 พันล้านบาท ด้วยกำลังผลิต 120 เมกกะวัตต์ โดยจะเข้าถือหุ้นใหญ่ 81% ของทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK ) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ
บริษัท ครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 50 ว่าบอร์ดอนุมัติให้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด เพื่อยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ขนาดกำลังการผลิต 120 เมกกะวัตต์ ระบบ Cogeneration ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำจำหน่ายให้ กฟผ. และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าวจะกระทำในนาม ที่ดินบางปะอิน ก่อน และหากได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. จะจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ซึ่งมี CK ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่า 40 %
ทั้งนี้ เป็นผลจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ระบบ Cogeneration ควรส่งเสริมในระยะยาว เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุน โดยมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กทุกประเภทเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นไป และกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าให้แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้า ซึ่ง ที่ดินบางปะอิน เป็นเจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีฐานลูกค้าโรงงานที่ตั้งในนิคมฯและคาดว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนที่เหลือมีพอเสนอขายให้กับ กฟผ. ได้
ดังนั้น CK และ ที่ดินบางปะอิน จึงร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด เพื่อประกอบกิจการโรงผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และพลังงานอื่นทุกประเภทและดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนงานต่าง ๆ ที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานทั้งหมด ซึ่งจัดตั้งไปเมื่อ 2 มีนาคม 52 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยมี CK ถือหุ้น 81% และ ที่ดินบางปะอิน 18.993 % ถือหุ้นใหญ่สองอันดับแรก
อนึ่ง เนื่องจากกรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นการที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนกับ บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัดบริษัทฯ จึงมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้
1. บริษัทไม่มีนโยบายสนับสนุนการทำรายการระหว่างกันกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์แต่หากมีรายการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามธุรกิจปกติของบริษัท โดยจะพิจารณาเสมือนเป็นการทำรายการที่กระทำกับบุคคลภายนอก โดยการพิจารณาต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในรายการใดจะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการอนุมัติรายการดังกล่าว
2. มาตรการในการตรวจสอบและกลั่นกรองความสมเหตุสมผลอย่างเป็นธรรมก่อนที่จะมีการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
3. มาตรการดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจการผลิตไฟฟ้า และเป็นธุรกิจที่ไม่แตกต่างจากธุรกิจสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่บริษัทฯ เคยทำ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กิจการ อีกทั้งเป็นการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ให้แก่บริษัทฯ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|