ปิดฉาก!ลดภาษีรถยนต์ก.อุตฯเบนเป้าขอเงินกู้


ผู้จัดการรายวัน(4 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ยกธงขาว! กระทรวงอุตสาหกรรมเลิกขอลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ 3% แต่ยังชงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใน ครม.ศก.วันนี้ เล็งขอให้รัฐจัดหาเงินกู้แทน ระบุแก้ปัญหาตรงจุดกว่า เหตุคนไทยซื้อรถผ่อนมากถึง 80% ขณะที่ดีลเลอร์โวย "โตโยต้า-ฮอนด้า" 2ค่ายรถเล่นเกมกดดันรัฐบาลขอลดภาษีสรรพสามิต กักรถทั้งๆ ที่มียอดสั่งซื้อ อาจหวังผลอ้างยอดขายต่ำให้รัฐบาลช่วยเหลือ ด้านค่ายรถโต้กลับ รุ่น "วีออส-ซิตี้" ขายดี ไม่ทันส่งมอบ เพราะประเมินสภาพตลาดผิดพลาด

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันนี้ (4 มี.ค.) กระทรวงอุตสาหกรรมยังยืนยันหลักการที่จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ตามข้อเสนอที่เอกชนหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะมีการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมในแต่ละข้อเสนอโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิต 3% นั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้คัดค้านตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อเอกชนยืนยันก็จะเสนอไปตามหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นหน่วยงานกลาง

จากการศึกษาพบว่า กรณีลดภาษีสรรพสามิต 3% กับรถยนต์ทุกประเภทนั้นจะลดราคารถได้ประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อคัน ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงไม่น่าจะช่วยให้กระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นได้ตามที่เอกชนเสนอมาจริง และจะเป็นการส่งเสริมรถยนต์ราคาแพงไปด้วย ประกอบกับอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีภาษีสรรพสามิตอยู่เช่น เครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่จะร้องเข้ามาขดลดภาษีฯด้วยซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้

“เราเองก็แสดงข้อกังวลตั้งแต่แรกว่าลดภาษีสรรพสามิตแล้วจะขายได้จริงหรือไม่และจากการศึกษาก็พบว่าการซื้อรถยนต์ของคนไทย 80% ซื้อเป็นเงินผ่อนมากกว่าเงินสด ดังนั้นเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถโดยอาศัยกลไกของสถาบันการเงินของรัฐบาลน่าจะเป็นการกระตุ้นแรงซื้อให้เกิดขึ้นมากกว่าเพราะพบว่าความต้องการมีแต่ติดปัญหาด้านสินเชื่อที่ปล่อยกู้ยากและเงินดาวน์เองก็สูงขึ้นแต่เรื่องนี้ก็คงเป็นหน้าที่กระทรวงการคลังว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรเราทำได้แค่แสดงความเห็นแนบไปเท่านั้น”นายสรยุทธกล่าว

นอกจากนี้ประเด็นเกี่ยวกับกรณีที่เอกชนเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือจ่ายเงินประกันสังคมแทนพนักงานจำนวน 350,000 คนเป็นเวลา 1 ปี(งบประมาณ 840 ล้านบาท)เดิมทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกเริ่มเพราะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีปัญหาในเรื่องของแรงงานเช่นกันจึงควรจะมองในเรื่องของการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับนโยบายการช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวหลังการหารือกับประธานคณะกรรมการธุรกิจไทย-สหรัฐอเมริกา วานนี้( 3 มี.ค.) ว่า ผู้บริหารจากค่ายรถยนต์ฟอร์ดได้สอบถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับมาตรการดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งก็ได้ชี้แจงว่ามาตรการจะมีการนำเสนอครม.ศก.วันนี้ซึ่งยืนยันหลักการว่าจะไม่เน้นการอุ้มเฉพาะรายแต่จะเน้นประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบผู้ผลิตรถยนต์ทำใจได้แล้วว่าภาษีสรรพสามิตคงจะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการพิจารณาจากกระทรวงการคลังเพราะหากมีการลดภาษีรถยนต์อุตสาหกรรมอื่นๆก็จะขอก็จะเป็นภาระหนักแก่รัฐบาลที่จะดูแลในเรื่องของรายได้

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า หน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกันกลั่นกรองระดับหนึ่งแล้วซึ่งแต่ละข้อทางครม.ศก.จะเป็นผู้พิจารณาแต่คณะทำงานฯก็จะทำความเห็นในแต่ละข้อประกอบการตัดสินใจโดยยอมรับว่ามาตรการทางด้านภาษีฯนั้นจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ต่ำกว่ามาตรการทางการเงินดังนั้นมาตรการที่เอกชนเสนอคือรัฐควรจัดให้มีการค้ำประกันและให้สินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนผ่านบริษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อมหรือบสย.น่าจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าการลดภาษีสรรพสามิต 3%

ดีลเลอร์โวยค่ายรถกักสินค้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (ดีลเลอร์) ยี่ห้อโตโยต้าและฮอนด้าได้เข้ามาร้องเรียนว่าบริษัทรถยนต์ดังกล่าวมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับดีลเลอร์ในจำนวนที่ต่ำกว่ายอดสั่งซื้อ โดยเฉพาะรถยนต์โตโยต้าวีออส และฮอนด้าซิตี้ ที่มียอดจำหน่ายสูงในปัจจุบัน โดยหากดีลเลอร์สั่งรถจากบริษัทจำนวน 20 คัน จะมีการส่งมอบให้เพียง 7 คันเท่านั้นทำให้ดีลเลอร์ประสบปัญหาในการจำหน่ายรถยนต์มาก

“ไม่เข้าใจว่าบริษัทรถยนต์ทำไมจึงส่งมอบรถต่ำกว่ายอดที่สั่งซื้อไป ไม่แน่ใจว่าบริษัทรถยนต์นี้จึงต้องทำให้ยอดขายน้อยลงผ่านทางดีลเลอร์ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นคือรายได้ที่ลดลงแต่ต้นทุนของดีลเลอร์ยังเท่าเดิม ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟและรายจ่ายอื่นๆ ยังมีอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 3 – 4 เดือนที่ผ่านมาที่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและในบางภาคอุตสาหกรรมก็ได้รับความช่วยเหลือไปบ้างแล้ว แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่และมูลค่ามหาศาลยังรัฐบาลยังไม่ออกมาตรการใดออกมาช่วยเหลือ จึงอาจเป็นไปได้ว่าการส่งมอบรถยนต์ให้กับดีลเลอร์ในจำนวนที่ต่ำกว่ายอดสั่งซื้อไปเพื่อทำให้ยอดขายรวมลดลงและใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐบาลเพื่อขอมาตรการสนับสนุนได้

ค่ายรถชี้เฉพาะ "วีออส-ซิตี้" ยอดพุ่ง

แหล่งข่าวจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การตัดรถให้ดีลเลอร์ไม่พอกับความต้องการ คงไม่ใช้เรื่องการต่อนำไปต่อรองกับรัฐบาล แต่เป็นเพราะกำลังผลิตที่น้อยกว่าความต้องการตลาด โดยเฉพาะวีออส ซึ้งเป็นรถยนต์นั่งรุ่นที่ขายดีที่สุดของโตโยต้าในตอนนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถส่งวีออสได้ตามความต้องการของดีลเลอร์จริง เพราะจะว่าไปแต่ละดีลเลอร์ก็มีโควตาอยู่แล้ว ที่สำคัญช่วงปลายปีที่แล้วบริษัทประเมินสถานการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศจะชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้นจึงวางแผนลดกำลังการผลิตลงให้เหมาะสมกับสภาพตลาด แต่พอเอาเข้าจริงในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดขายในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่ได้หดตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ยอดขายวีออสล็อตใหญ่ (Fleet) มาจากประเทศอินโดนีเซียอีก 4,000 คัน ดังนั้นจึงเกิดปัญหารถไม่พอส่งมอบ

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฮอนด้า ซิตี้ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีที่แล้ว มาปีนี้ยังขายดีเกินกว่าที่บริษัทคาดการไว้ ทำให้ตอนนี้เกิดปัญหา “ช็อต ซัพพลาย” ไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันกับความต้องการลูกค้าตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่ยากที่จะคาดเดา ทำให้บริษัทต้องประเมินยอดขายต่ำ และระมัดระวังเรื่องการเพิ่มกำลังการผลิตพอสมควรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารถค้างสต็อกในภายหลัง ทำให้ตอนนี้เกิดปัญหาความต้องการสูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้ และในส่วนของฮอนด้า ซิตี้ เอง ตั้งแต่ต้นปีปรากฏว่ายังมียอดจองเข้ามาเรื่อยๆหรือจะหดตัวก็ไม่มาก จึงส่งผลให้มียอดค้างส่งมอบ (Back Order) อยู่ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะพยายามจัดสรรโควตาให้แต่ละดีลเลอร์อย่างยุติธรรมที่สุด ขณะเดียวกันถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ บริษัทก็เตรียมปรับแผน และเพิ่มกำลังผลิตให้พอกับความต้องการต่อไป

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ว่าต้องกดยอดขายเพื่อให้ตลาดดูซบเซาเพื่อจะไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลคงไม่เป็นความจริง เพราะตามหลักแล้วคงไม่มีใครไม่อยากขายรถมากๆ

กรณ์ยัน ครม.อุ้มภาพรวมหนุน ศก.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพิจารณาสิทธิพิเศษทางภาษี โดยทางกลุ่มเอกชนจะต้องรวมตัวกันเพื่อรวบรวมข้อเสนอจากนั้นเสนอต่อครม.เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งตามหลักการจะให้สิทธิพิเศษหรือไม่จะดูว่าข้อเสนอดังกล่าวยุติธรรมต่อกลุ่มเอกชนโดยรวมและมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจจริงอย่างไร

"ครม.เศรษฐกิจมีวาระพิจารณาข้อเสนอปรับลดภาษีในภาคธุรกิจต่างๆ อยู่แล้ว คือทางกลุ่มจะต้องฟอร์มทีมกันขึ้นมาเพื่อเสนอข้อเสนอ จากนั้นจะต้องดูว่ามีความยุติธรรมต่อธุรกิจดังกล่าวทั้งหมดหรือไม่ และเป็นบวกต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ด้วย" นายกรณ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.