แลนด์ฯทำนายอสังหาฯวูบ15% ตลาดคอนโดฯร่วงตกสวรรค์


ผู้จัดการรายวัน(4 มีนาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แลนด์ฯฉายภาพตลาดอสังหาฯปี 52 เชื่อทั้งปีตลาดลด 10-15% คอนโดฯหนักสุดวูบ 30% ส่วนปัจจัยน้ำมัน-ราคาวัสดุลงช่วยลดต้นทุนก่อสร้างได้ 5-7%

นายนพพร สุนทรจิตต์เจริญ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี2552 จะเป็นตลาดที่เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากปี 51 ประมาณ 10-15% ทั้งนี้ตลาดคอนโดมิเนียม มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวสูงสุด ประมาณ 30% ของบ้านจดทะเบียนเพิ่มที่เทียบกับปี 51 เนื่องจากปรับตัวขึ้นไปสูงมากช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า ส่วนตลาดทาวน์เฮาส์ ชะลอตัวประมาณ 10% แต่สำหรับบ้านเดี่ยว จะชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยจากปี 51 ประมาณ 3-5% เนื่องจากมีการปรับตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 50 ที่ผ่านมา ส่วนบ้านจดทะเบียนมีไม่เกิน 70,000 หน่วย

สำหรับสาเหตุการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 52 มีผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญๆ ได้แก่ ปัญหาวิกฤตการณ์การเงินของโลก ที่ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวลง และมีผลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับ -1.0 ถึง -2 % ต่อปี

“ การชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน และปัญหาการว่างงาน ส่งผลกระทบต่ออำนาจในการซื้อของประชาชนที่ลดลง, การชะลอตัวของการบริโภคของภาคประชาชน โดยเฉพาะในการซื้อสินค้าคงทนที่มีระดับราคาสูง อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคต ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งของผู้ประกอบการ (Pre Finance) และรายย่อย (Post Finance) จะมีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงความกังวลใจในรายได้ในอนาคต และความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีมาก ”นายนพพรกล่าว

อย่างไรก็ตามในปี 2552 มีปัจจัยที่เป็นผลดีที่มีผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยที่สำคัญคือ ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างมาก ส่งผลต่อต้นทุนก่อสร้างบ้านลดลงประมาณ 5-7 % เมื่อเทียบกับปี 51 การปรับตัวของราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างงมาก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของสินค้าต่างๆ ที่ลดลง

อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง คาดว่าจะปรับลดลง 0.75%-1.0% อัตราเงินเฟ้อ จะอยู่ในระดับประมาณ -0.5% ถึง 0.5 % ราคาที่ดินที่ทรงตัว เนื่องจากการขยายโครงการของผู้ประกอบการลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องประเมินมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐบาลว่า จะสามารถกระตุ้นภาคธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกได้หรือไม่

สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมในปี 2551 หากพิจารณาจากตัวเลขโดยรวมของบ้านจดทะเบียนเพิ่ม ตั้งแต่ ม.ค.- พ.ย. 2551 บ้านจดทะเบียนเพิ่ม มีจำนวนรวมทั้งหมด 73,150 หน่วย แบ่งแยกเป็นที่อยู่อาศัยประเภทสร้างเอง 20,484 หน่วย และที่อยู่อาศัยประเภทจัดสรร 52,666 หน่วย เพิ่มขึ้น 19.54 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 11 เดือนของปี 50 (44,058 หน่วย)

หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลเปรียบเทียบที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่ม ตามประเภทจัดสรร ในช่วง 11 เดือนของปี 51 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ ประเภทบ้านเดี่ยว มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 12,324 หน่วย ลดลง 15.5.% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนปี 2550 (มีจำนวน 14,592 หน่วย), บ้านแฝด จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,990 หน่วย เพิ่มขึ้น 66.10% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนปี 2550 (มีจำนวน 1,198 หน่วย), ประเภททาวน์เฮาส์ จำนวน 10,481 หน่วย ลดลง 19.8% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนปี 2550 (มีจำนวน 13,067 หน่วย), ประเภทคอนโดฯ 27,871หน่วย เพิ่มขึ้น 83.3% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนปี 2550 (มีจำนวน 15,201 หน่วย)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.