อดีตบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตเรียนและทำงาน
10 ปีเต็มในญี่ปุ่น โดยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น NTT DoCoMo
ที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนนอกประเทศ
"ผู้จัดการ" พบ ดร.สรัณยา แสงหิรัญ ในบูธของ NTT DoCoMo ภายในงาน Shin
Fun Fair และดูเหมือนว่าการใช้ชีวิตเรียนและทำงานเกือบ 10 ปีเต็มในญี่ปุ่น
ทำให้บุคลิกภายนอกของเธอดูไม่ต่างไปจากหญิงสาวชาวญี่ปุ่นเท่าใดนัก
ดร.สรัณยาเป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบเธอได้ทุน
Monbusho ของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัย KEIO University Fujisawa Campus เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเกษียณอายุ
เธอจึงต้องย้ายสาขาไปเรียนด้าน Wireless Communication และนับจากนั้นวิถีชีวิตของเธอก็พลิกผันไปอีกด้านหนึ่ง
"พอดี professor คนเก่าเกษียณ เลย ไปฝากฝังให้ professor อีกท่านซึ่งสอนทางด้าน
wireless communication ให้มาดูแลแทน ส่วนตัวไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีเลย เพราะเมื่อ
7 ปีที่แล้วเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ"
KEIO Univesity Fujisawa Campus เป็นมหาวิทยาลัยอันดับสองของญี่ปุ่น มีชื่อเสียงในเรื่องไอที
management และ policy design การเรียนการสอนไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น
แต่ต้องเรียนเรื่องนโยบายการบริหารการปกครอง เป็นลักษณะของการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้งานสาธารณะได้จริง
ผลจากการเบนเข็มไปเรียน wireless communication แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับคนไม่มีพื้นความรู้เทคโนโลยีมาก่อน
แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างโอกาสทำให้เธอเรียนรู้และสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
ตลอดเวลา
"ช่วงฝึกงานมีบริษัทเอกชนมาจ้างให้ Lab ของมหาวิทยาลัย คิดค้นผลิตภัณฑ์
หรือไอเดียให้อาจารย์ก็ได้เงินมาใช้พัฒนาห้อง Lab นักศึกษาเองได้ประสบการณ์"
ผลงานหลายชิ้นของผู้ผลิตสินค้าดังๆ เช่น กล้องถ่ายรูปที่บรรจุในเกมบอย
ระบบ Data Mining คิดค้นจากห้อง Lab ของมหา วิทยาลัยที่นี่ อุปกรณ์ตรวจจับการทำงานของกล้ามเนื้อ
หรือ camera senser ผลงานของเธอและอาจารย์ที่ปรึกษา
เธอเลือกเทคโนโลยี Wireless Lan ซึ่งกำลังทวีความสำคัญเป็นวิชาเอก ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
หลังเรียนจบ เธอได้งานทำที่บริษัท NTT DoCoMo
"อาจารย์ที่ปรึกษาก็ทำวิจัยให้ DoCoMo อยู่แล้ว ทำให้เรามีพื้นฐานความรู้ด้านนี้"
ดร.สรัณยาเริ่มงานแรกในแผนก Global Business บริษัทของ NTT DoCoMo ในปี
2544 ด้วยตำแหน่ง Business Consultant ดูแลการลงทุนในเอเชีย ซึ่งเธอเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ต้องทำงานร่วมกับทีมงานชาวญี่ปุ่นล้วนๆ
200 คนในแผนก
"ตอนแรกเขาไม่มีระบบเลย เราไปสร้างระบบใหม่ ทีมงานส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องๆ
เป็นคนญี่ปุ่น" ดร.สรัณยาบอก
ความสำเร็จจากบริการ i-mode ทำให้ ชื่อเสียงของ NTT DoCoMo เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกกลายเป็นบริษัทเนื้อหอม
มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายแห่งสนใจอยากได้ประสบ การณ์ ความรู้ และ
platform ของบริการ 3G ไปประยุกต์ใช้กับเครือข่ายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการ
จึงเป็นช่วงเวลาโอกาสสำหรับ NTT DoCoMo จะใช้ศักยภาพเหล่านี้ ขยายเครือข่ายธุรกิจออกนอกประเทศ
ปัจจุบัน NTT DoCoMo เข้าไปลงทุน ทั้งในยุโรป ฮอลแลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา
เอเชียมีที่ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนในแต่ละประเทศจะไม่มี business
model ตายตัว บางแห่งอาจร่วมทุนกับบริษัท ท้องถิ่น ในขณะที่บางประเทศจะมี
investment banking เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
"เราจะดูจากหลายๆ ปัจจัย ไม่จำเป็น เสมอไปว่าเราจะต้องไปลงทุนร่วมกับโอเปอ
เรเตอร์อันดับ 1 ถ้าเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 หรือ 3 มีสิ่งที่ดีกว่า แต่ละประเทศมีจุดแตกต่างกัน"
หน้าที่ของเธอและทีมงานต้องเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ประเมินสภาพตลาดของประเทศต่างๆ
ในภูมิภาคเอเชียที่จะเข้าไปลงทุน ข้อมูลข่าวสารมีเป้าหมายอยู่ที่ทำอย่างไรให้
DoCoMo ไม่เสียจุดยืนของตัวเอง
ถัดจากนั้นคือการหาข้อตกลงการร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ลงทุน โดยมีหลักอยู่ว่าจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
win win strategy
"ลักษณะงานค่อนข้างอ่อนไหว เป็นเรื่องของการ deal ทางธุรกิจ ข้อเสนออาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ลูกน้องต้องรับลูกต่อได้ทัน"
ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการทำงานที่นั่น "ยอมรับเลยว่า โหดมาก เพราะต้องเริ่ม
จากศูนย์ business model ทุกอย่างต้องคิดขึ้นเอง หาความรู้จากการทำงานจริง
ดูตลาด ดูความเปลี่ยนแปลง ดูพื้นฐานที่วางไว้"
ระหว่างการสนทนาแม้เธอจะให้ข้อคิด ของการทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นส่วนผสมระหว่างคนรุ่นใหม่
และรุ่นเก่า การทุ่มเททำงานจนดึก ยกเว้นเรื่องตัวอย่างการลงทุน ความสำเร็จและล้มเหลวที่เธอละเว้นจะกล่าวถึง
"เป็น section ที่ confidential ที่สุด ในบริษัท เป็นกล่องดวงใจของ DoCoMo"
เธอบอก
เหลือเวลาอีกเพียงปีเดียวจะครบสัญญาการทำงานที่ NTT DoCoMo รวมเป็นเวลา
10 ปีในการใช้ชีวิตร่ำเรียนและทำงานในญี่ปุ่น เธอบอกว่าน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ
การนำประสบการณ์ความท้าทายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในไทย