|
กรณ์ยกหางแบงก์ไทย แข็งแกร่งที่สุดในโลก!
ผู้จัดการรายวัน(25 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
รมว.คลังชี้วิกฤตสถาบันการเงินโลกไม่กระทบแบงก์พาณิชย์ไทย เหตุแข็งแกร่งที่สุดในโลก ผลสำรวจของแบงก์ชาติชี้ชัดที่มาแบงก์แข็งแกร่ง เหตุไม่ปล่อยกู้ เผย 3 เดือนแรกของปีนี้เลิกหวังสินเชื่อจะออกจากแบงก์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีรอวันตาย ผลสำรวจยังบอกด้วยว่านายแบงก์มีความเห็นตรงกัน ลูกค้าขอผลัดชำระหนี้มากขึ้น
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่มีสถาบันการเงินในต่างประเทศ 21 ราย ต้องเข้าแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของไทย เพราะธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความมั่นคง มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง มีสภาพคล่องเพียงพอ ที่สำคัญสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันเป็นเงินในประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องหาสภาพคล่องจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกันสำรองเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
"ขณะนี้ฐานะธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่มีปัญหา จนอาจเรียกได้ว่ามีฐานะการเงินแข็งแกร่งที่สุดในโลกก็ว่าได้ โดยเงินฝาก 100 บาท ธนาคารปล่อยกู้ประมาณ 88 บาท แสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องยังมีอยู่ล้นเหลือ" นายกรณ์กล่าวแลว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดในการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล
โดยในการจัดกรอบงบประมาณประจำปี 53 ตั้งขาดดุลงบประมาณไว้ 3.9 แสนล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 45% ของจีดีพี ใกล้เคียงกับการขาดดุลงบประมาณปี 52 ที่รวมงบกลางปีอยู่ที่ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 41-42% ของจีดีพี ซึ่งสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะในงบประมาณปี 53 ก็ยังไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 50% ของจีดีพี
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ทำการสอบถามธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างชาติและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 23 แห่ง พบว่า แนวโน้มในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สถาบันการเงินเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อทุกประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้านความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจจะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปี 2551 ส่วนภาคครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ ในทิศทางที่หดตัว
" 84.2% สถาบันการเงินคาดว่าสินเชื่อโดยรวมจะมีแนวโน้มการผลัดชำระหนี้ (Delinquency) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ เอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือหลักที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการจากภาครัฐ 3 อันดับแรก คือ การให้ค้ำประกันสินเชื่อ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการ ลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการบริโภคที่อ่อนตัวมาก"
ส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 พบว่า ความ ต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการสำรวจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งที่ใช้เป็นเงินหมุน เวียน และปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่หดตัวเล็กน้อย เพราะ การลดกำลังการผลิต เพื่อลดสินค้าคงคลังภายใต้ความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ทำให้เงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจความเข้มงวดมากขึ้นผ่านการตั้งราคาที่สูงขึ้นเห็นได้จากกำไร ที่กว้างขึ้นสำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงและ ลูกค้าทั่วไป อีกทั้งยังสะท้อนผ่านเงื่อนไขอื่นๆ เช่น วงเงินสินเชื่อ และเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวดขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าสถาบันการเงินมีเงื่อนไขด้านอายุสัญญาเงินกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงสูงสุด
ผลสำรวจระบุว่า ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลดลงมากกว่าที่สถาบันการเงินคาดการณ์ไว้ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีการรอประเมินทิศทางแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของทางการ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าไตรมาสนี้อัตรา ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค
ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งต่ำกว่าที่สถาบันการ เงินได้คาดการณ์ไว้เป็นผลสำคัญจากปัจจัย ทางด้านอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ ทั้งจากสถาบันการเงินอื่นและบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์).
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|