|

โยน“ปูนใหญ่” ชดใช้คดีใบหุ้นปลอม
ผู้จัดการรายวัน(24 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.ล.ต. แย้มผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการปลอมแปลงใบหุ้นอาจเรียกร้องความเป็นธรรมจากปูนซิเมนไทย เหตุพนักงานบริษัทใช้อำนาจหน้าที่ในการทุจริต แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศล ขณะที่นักลงทุนตื่นตระหนกนำใบหุ้นให้ศูนย์รับฝากฯ ตรวจสอบ “โสภาวดี” จูงใจให้นำใบหุ้นเข้าระบบสคริปเลสปลอดภัยสุด ขณะที่เครือ “เอสซีจี” รับผลกระทบวิกฤตการเงินโลกปรับลดยอดลงเหลือ 15 ล้านตัน หลังประเมินการใช้ปุนในประเทศหดตัวลง 10% บวกกับตลาดส่งออกซบ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดการปลอดใบหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทย อาจจะต้องมีการรับผิดชอบในทางเพ่งในการจ่ายค่าเสียหายกับผู้เสียหาย เนื่องจากใช้อำนาจพนักงานในการทุจริต หลังจากนั้นบริษัทจะต้องไปเรียกร้องให้ผู้กระทำความผิดชดเชยค่าเสียหาย
ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในกระบวนการของตำรวจที่จะสามารถเอาผิดทางอาญาได้ โดยไม่ต้องรอเอาผิดทางกฎหมายหลักทรัพย์ ส่วนก.ล.ตจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีขึ้นตอนการดำเนินคดีหรือไม่
นักลงทุนนำใบหุ้นตรวจสอบกับTSD
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตการณ์ดังกล่าวขึ้น วานนี้ (23 ก.พ.) ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนนำไปหุ้นมาตรวจสอบกับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำนวนประมาณ 3-4 ราย รวมทั้งยังมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามอีก 27 สาย
จากกรณีที่มีปัญหาใบหุ้นปลอมเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าจะมีนักลงทุนเอาใบหุ้นมาฝากที่ทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ด้วยระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) มากขึ้น เนื่องจากหากนำมาฝากเข้าระบบScriplessจะมีความปลอดภัยที่สุดแล้ว และสามารถดำเนินการต่างๆได้ เช่น การ ถอนหลักทรัพย์ โอนหลักทรัพย์ จำนำ และเพิกถอนจำนำหลักทรัพย์ รวมถึงได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องการเพิ่มทุน การรับเงินปันผล ซึ่งผู้ลงทุนสามารถทำรายการเหล่านี้ผ่าน TSD ได้
ปัจจุบันมีนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นมาฝากที่ TSD จำนวน 20% ของหุ้นทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นที่สูงอายุและถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการเปิดดำเนินการมานานแล้ว ส่วนบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียนนั้นส่วนใหญ่จะใช้ระบบ Scripless หมดแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนในหุ้นได้มีการนำใบหุ้นมาฝากไว้กับทาง TSD ทั้งหมด
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รณรงค์ให้นักลงทุนนำหุ้นมาฝากที่ TSD ระบบ Scripless ตั้งแต่ปี 2550 โดยหากจะให้นักลงทุนทั้งระบบมาใช้ระบบ Scripless เชื่อว่าจะใช้เวลา 3 ปี แต่หากมีการบังคับเป็นกฎหมายเชื่อว่าจะใช้เวลา 3 ปีเช่นกัน ในการออกเป็นกฎหมายออกมา”
ทั้งนี้ TSD ตั้งเป้านักลงทุนนำหุ้นมาฝากเพิ่มเป็น 85% จากปีก่อนที่ 80% ซึ่งจาก กรณีที่มีการตรวจสอบพบใบหุ้นปลอมของบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอให้ผู้ถือหุ้นใช้ความระมัดระวัง กรณีมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำธุรกรรมแทน และแนะนำให้ผู้ถือหุ้นนำหุ้นมาฝากไว้กับระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Scripless system) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลการถือครองหุ้น และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐานสากลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาใบหุ้นชำรุด สูญหาย และการปลอมแปลงใบหุ้น โดยผู้ที่ฝากหุ้นไว้กับระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับข้อมูลแจ้งสถานะการถือครองหุ้นทุกเดือน กรณีมีการซื้อขายหุ้น แต่หากไม่มีการซื้อขายหุ้น จะได้รับรายงานทุก 6 เดือน
ตลท.เข้าเกณฑ์มาตรฐานเทียบตลาดอื่น
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนนำหุ้นมาฝากกับ TSD แล้วกว่า 80% ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศที่มีการบังคับให้นักลงทุนต่างประเทศมีการนำใบหุ้นทั้งหมดมาฝากที่ TSD ต่างประเทศ แม้ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีการบังคับใช้
“ต้องให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นด้วย หากต้องการที่จะถือใบหุ้นไม่ควรที่จะบังคับนักลงทุน ควรที่จะใช้วิธีในการชักชวนมากกว่าที่จะบังคับ โดยหากนักลงทุนนำใบหุ้นมาฝากนั้นก็จะไม่เกิดปัญหาใบหุ้นปลอม ซึ่งหากมีการปลอมก็จะทราบได้ทันทีจากระบบมีการตรวจสอบ”
ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีก ตลาดหลักทรัพย์อยากแนะนำให้นักลงทุนนำมาฝากไว้กับ TSD ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะระบบนี้จะช่วยป้องกันปัญหาใบหุ้นปลอมได้ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพบปัญหาการทำใบหุ้นหายมากกว่า โดยจากมีผู้ที่ความกังวลสามารถนำใบหุ้นถืออยู่มาตรวจสอบได้
ตลาดส่งออกปูนซบเซา
นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซิเมนต์ กล่าวว่า แผนดำเนินธุรกิจซีเมนต์ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ายอดขายปูนซีเมนต์ไว้ 15 ล้านตัน โดยเป็นยอดขายในประเทศ 9 ล้านตันและส่งออก 6 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มียอดขายปูนซีเมนต์รวม 18 ล้านตัน เนื่องจากมองแนวโน้มความต้องการใช้ปูนในประเทศปีนี้จะหดตัวลง10% จากปีก่อน 25 ล้านตัน โดยครึ่งปีแรกนี้จะขยายตัวติดลบ 10-15% และครึ่งปีหลังนี้ติดลบลดลงเหลือ 5-10% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา และคาดว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ก็จะเริ่มมีการใช้วัสดุก่อสร้างในปลายปีนี้
ส่วนตลาดส่งออกยอมรับว่าคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ ทำให้ยอดการส่งออกของบริษัทฯในปีที่แล้วจาก 8.2 ล้านตัน ลดลงเหลือ 6 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ปูนลดลง และราคาก็อ่อนตัวลงด้วย โดยประเทศที่บริษัทส่งออกปูนต่างก็ได้รับผลกระทบด้านการส่งออกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เช่นเดียวกัน
นายปราโมทย์ กล่าวว่า บริษัทฯได้วางกลยุทธ์ในการรับมือวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ โดยการหาตลาดส่งออกใหม่ การเพิ่มสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน โดยการชะลอการลงทุนโครงการผลิตปูนในต่างประเทศททั้งอินโดนีเซียและกัมพูชา รวมทั้งดูแลบริหารต้นทุนต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าภายใต้นวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าสินค้าคุณภาพสูงยังมีดีมานด์อยู่
บริษัทฯมีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากความร้อนทิ้ง (WHG)ที่โรงปูนของเครือฯทั้ง 8 โครงการใช้เงินลงทุน 5,810 ล้านบาท เริ่มเดินเครื่องจักรไปแล้ว 3 โรงงาน และจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปลายปีนี้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 1,640 ล้านบาท ทดแทนการซื้อไฟจากภายนอก 25% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงปีละ 3แสนตัน
นอกจากนี้ในปีนี้ เอสซีจี ซิเมนต์ยังเตรียมงบลงทุนอีก 200 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงาน และงบประมาณอีก 180 ล้านบาทสำหรับการวิจัยและพัฒนา โดยปีที่แล้ว ได้ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาทในการตั้งPilot Process and Product DevelopmentCenter ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ย่อส่วนกระบวนการผลิตเพื่อใช้ในการวิจัยผลิตภัณฑ์ และทดสอบสินค้าใหม่
"ปีนี้ความต้องการใช้ปูนในไทยลดลง 10% ต่อเนื่องจากที่แล้วความต้องการใช้ปูนลดลง 6% โดยบริษัทฯรตั้งเป้ายอดขายซีเมนต์ปีนี้ที่ 15 ล้านตัน เท่ากับยอดขายปูนของบริษัทฯเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ราคาขายปูนในประเทศเมื่อเทียบส่งออกพบว่าราคาถูกกว่าโดยราคาขายปูนในไทยอยู่ที่ 79 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ส่งออกไปอินเดีย บังคลาเทศสูงถึง 90-110 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งราคาส่งออกปูนอยู่ที่ 40-55 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่รวมค่าขนส่ง"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|