เปิดโมเดลขยายธุรกิจอารียา ปรับพอร์ตรายได้รับเศรษฐกิจฝืด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

อารียา พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่หลังโดนพิษเศรษฐกิจกระหน่ำ ทำยอดขายวูบต่อเนื่อง 2-3 ปี ขยายไลน์สู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ลดต้นทุนค่าก่อสร้างลง 5% เล็งปรับพอร์ตรายได้ทั้งจากการขายและเช่า

ผลประกอบการของ บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก มาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความเชื่อมั่นหดหายจากสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากความผิดพลาดของแผนการดำเนินธุรกิจของวิศิษฏ์ เลาหพูนรังสี ประธานและกรรมการผู้จัดการ ที่โหมลงทุนอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2547-2548 เป็นช่วงที่มีโอกาสสร้างยอดขายและผลกำไรอย่างมหาศาล ทั้งที่อารียาเองไม่ได้มีเงินสดมากพอที่จะลงทุนโครงการมากนัก

โดยวิศิษฏ์ ยึดนโยบายการดำเนินงานว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องมีเงินสดสำหรับลงทุนทำโครงการมากนัก เพียงแค่มีแหล่งเงินกู้เพียงพอก็สามารถกู้เงินมาลงทุนโครงการได้ ทำให้ในช่วง 2-3 ปีก่อนอารียาฯกู้เงินมาลงทุนโครงการใหม่จำนวนมาก ทำให้มีภาระหนี้สินต่อทุน(D:E) พุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทขนาดใหญ่ทั้ง ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ล้วนมีภาระหนี้สินต่อทุนเพียงไม่ถึง 1:1 เท่านั้น ขณะที่อารียาฯมีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2:1

และเมื่อภาระเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงขาลง สถาบันการเงินเข้มงวด ปล่อยสินเชื่อทั้งโครงการและรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการที่มียอดขายไม่ดี หรือมีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินจะเบรกปล่อยเงินกู้ทันที ทำให้อารียาฯได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะอารียาฯพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นหลัก ที่สำคัญในช่วงนั้นอารียาฯมีโครงการอาคารชุดหลายโครงการที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากถึงหลักพันล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ เพราะจะได้เงินจากการโอนมาใช้หนี้และหมุนเวียนทำโครงการต่อให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 คงจะเป็นปีที่ทำให้อารียาฯเริ่มลุกขึ้นมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อได้อย่างไม่มีปัญหาหรือมีน้อยที่สุด เพราะปลายปี 2551 โครงการเอ สเปซเริ่มโอนได้ ซึ่งจะทำให้อารียาฯมีเงินสดเข้าองค์กรตั้งแต่ปลายปี 2551 และจะเข้ามามากถึง 3,000 ล้านบาท ในปี 2552 ซึ่งวิศิษฏ์ คงจะนำเงินไปชำระหนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หมุนเวียนในโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน

สำหรับก้าวต่อไปของอารียาฯ ภายใต้การนำของมือการเงินอย่างวิศิษฏ์นั้น วิศิษฏ์ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจไปค่อนข้างมาก จากเดิมใช้นโยบายด้านการเงินนำ แต่จากบทเรียนอันเจ็บปวดจากการโหมลงทุนโดยไม่ให้ความสำคัญต่อภาระหนี้สินต่อทุน ทำให้ปีนี้วิศิษฏ์จะลงทุนอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับโครงสร้างรายได้ใหม่ให้สอดคล้องกับองค์กร ภาวะเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์

โดยหาทางสร้างรายได้จากธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ผ่านบริษัท วัน อัพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่เปิดดำเนินงานมาแล้ว 1 ปี ซึ่งวัน อัพ ทำหน้าที่ก่อสร้างโครงการให้กับอารียาฯมาแล้ว 5 โครงการ มูลค่า 527 ล้านบาท เช่น โครงการเอ สเปซ อโศก-ดินแดง โครงการเอ สเปซ อ่อนนุช โครงการอารียา โมวาและโครงการเดอะคัลเลอร์ และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 6 โครงการมูลค่า 1,474 ล้านบาท อีกทั้งในอนาคตจะรับงานเพิ่มอีก 6 โครงการ มูลค่า 1,882 ล้านบาท

วิศิษฏ์ กล่าวว่า การใช้บริษัท วัน อัพ เป็นผู้ก่อสร้างให้บริษัท อารียาฯ ทำให้ลดต้นทุนค่าก่อสร้างลงมากกว่า 5% เพราะใช้เทคโนโลยี Tunnel Formwork ซึ่งเป็นเทคโนโลยีก่อสร้างที่สามารถควบคุมเวลาการทำงาน ลดขั้นตอนการซับซ้อนของระบบก่อสร้างอาคารที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ โรงแรม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป สิงคโปร์ และมาเลเซีย

“เป้าหมายของวัน อัพปีแรก รับงานก่อสร้างให้อารียาฯ ส่วนปีที่ 2 จะขยายการรับงานสู่ภายนอก ในสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 70:30 ตามลำดับ และมีแผนจะขยายการรับงานสู่ภาครัฐด้วย ส่วนโครงสร้างรายได้ของอารียาฯ นอกจากจะมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างแล้ว ประมาณกลางปี 2552 ยังวางเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากค่าเช่าอีกด้วย”วิศิษฏ์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.