ทูตพิเศษของ UN กับธุรกิจในพม่า


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะทูตพิเศษประจำพม่าของ Kofi Annan เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ภารกิจสำคัญของ Razali Ismail นักการทูตชาวมาเลเซีย คือ พยายามชักจูงผลักดันให้คณะปกครองเผด็จการทหารของพม่า ยอมเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แน่นอนงานนี้ไม่ใช่หมู ตลอด 3 ปีที่ Razali อยู่ในตำแหน่งนี้คณะเผด็จการทหารพม่าไม่เคยมีทีท่าว่าจะสนใจที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองแต่อย่างใด และงานนี้ยิ่งหินมาก ขึ้นไปอีกตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยถูกซุ่มโจมตีและถูกคุมขังจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

ถึงแม้ Razali นักการทูตอาวุโสวัย 62 ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาถึง 2 สมัย ดูเหมือนจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนักกับภารกิจด้านการเมืองในพม่า แต่ในด้านธุรกิจดูจะตรงกันข้าม Razali เป็นประธานบริษัท Iris Technologies บริษัทสัญชาติมาเลย์ที่เป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในสนามบินย่างกุ้ง เป็นกรรมการบริษัท Wah Seong กลุ่มบริษัทวิศวกรรมของมาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท trading ที่มีผลประโยชน์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงย่างกุ้ง และเป็นกรรมการบริษัท Leader Universal Holdings ซึ่งเป็นบริษัทเคเบิลใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่กำลังมองหาลู่ทางธุรกิจในพม่า นอกจากนี้ Razali ยังเป็นประธาน Salcon Engineering กลุ่มบริษัทบำบัดน้ำสัญชาติมาเลย์อีกเช่นกัน ซึ่งเพิ่งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในกรุงย่างกุ้งไปหมาดๆ

Razali ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจของเขาในพม่า แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลายเขาเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Malaysiakini News Service ว่า เขาไม่เคยหยิบยกเรื่องบริษัท Iris ขึ้นมาคุยกับบรรดาผู้นำทหารของพม่าแม้แต่ครั้งเดียว พร้อมปฏิเสธประเด็นการทับซ้อนของผลประโยชน์ เขายังทิ้งท้ายว่า หากสหประชาชาติเห็นว่า ตำแหน่งทูตพิเศษของ เขาเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของเขาในพม่าแล้วล่ะก็ สหประชาชาติก็สามารถจะบอกเลิกสัญญากับเขาได้ทุกเมื่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.