บลจ.ฟันธงมติกนง.ทั้งปีลดดบ.แค่1%


ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหาร บลจ. ประสานเสียงฟันธง กนง.หั่นดอกเบี้ยอีก อย่างน้อย 0.5% ตามที่หลายฝ่ายคาดในการประชุม 25 กุมภาพันธ์นี้ แต่ตลอดทั้งปีเชื่ออาจลดแค่ 1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับตํ่าสุดแล้ว ชี้ ลงทุนหุ้นกู้เอกชนแม้ผลตอบแทนดีแต่ความเสี่ยงมีสูงเช่นกัน

นายกำพล อัศวกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนตัวแทนขาย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ว่า เชื่อว่าในการประชุมของ กนง.ในครั้งนี้ น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.5% ตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ แต่คาดว่าตลอดทั้งปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะลดได้ในกรอบ 1% ไม่เกินนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นการทยอยลดลง โดยจะไม่ลดลงเลยทีเดียว 1%

"หากลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วเกินไปจะส่งผลต่อเรื่องของนโยบายทางการเงิน โดยจะมีผลไปถึงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงปริมาณเงินในระบบ" นายกำพล กล่าว

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น อัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศทั้วโลกปรับลดลงมาในระดับที่ตํ่าเกือบ 0% แล้ว ทำให้ภาพของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในระยะต่อจากนี้มีโอกาสน้อยที่จะปรับลดลงไปอีก

ทั้งนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยที่สำคัญ โดยมาจากเรื่องของการคาดการณ์ถึงแนวโน้มต่อระบบเศรษฐกิจว่ากำลังจะเป็นไปในทิศทางใด หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะชอลอตัวลงการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวช่วยไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้

นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวถึง ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 โดยคาดว่าผลการประชุมในครั้งนี้ จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50 จาก 2.00 ซึ่งทั้งปีคาดว่ากนง.จะปรับลดลง 1%ตามการคาดการณ์ของตลาดในช่วงก่อนหน้านี้

โดยจากการคาดการณ์ เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกลงในครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงจากที่ต่ำอยู่แแล้วให้ยิ่งต่ำลงไปอีก ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมไม่ได้รับประโยชน์จากภาษีมากเท่าก่อนหน้านี้ เมื่อเทียบกับการนำเงินไปฝากธนาคารที่ได้รับดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย อีกทั้งเมื่อนักลงทุนไถ่ถอนเงินออกมาจากธนาคารจะต้องเสียภาษีอีก 15 ของจำนวนเงินที่นักลงทุนไถ่ถอน จึงทำให้ส่วนของผลตอบแทนของกองทุนและเงินฝากใกล้เคียงกัน

"นักลงทุนรายใหม่ที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก จะนำเงินไปฝากธนาคารมากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวม เนื่องจากว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับนั้นแทบไม่มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในกองทุนรวมแล้ว นักลงทุนจะมีการสับเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุน"นายสุขวัฒน์กล่าว

ขณะเดียวกัน การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนถึงแม้จะให้ผลตอบแทนที่สูง ความเสี่ยงของการลงทุนจึงสูงตามไปด้วย โดยหากนักลงทุนนำผลตอบแทนที่ได้รับจากหุ้นกู้มาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้ลงทุน

ด้านนายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดลงไปประมาณ 0.5% เนื่องจากตลาดได้รับรู้ และทำการปรับลงไปแล้ว โดยทั้งปีนี้คาดว่าจะปรับลงไป 1.0% ส่วนที่เหลืออีก 0.50% อาจจะเป็นการทยอยปรับลดไปครั้งละ 0.25% ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกในปีนี้คาดว่าธนาคารกลางเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้นนโยบายอยู่ที่ 2.00% คาดว่าจะปรับลดลงไปจนเหลือ 1.00% ธนาคารกลางอังกฤษซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้นนโยบายอยู่ที่ 1.00% คาดว่าจะปรับลดลงไปจนเหลือ 0.50% ธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้นนโยบายอยู่ที่ 0.10% คาดว่าภายในปีนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปจนเหลือ 0.00% ส่วนธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 0.25% คาดว่าน่าจะยืนอยู่ในระดับเดิมได้

ส่วนปัจจัยที่คาดว่าจะเข้ากระทบได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ภาวะเงินตึงตัว และภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งภาวะเงินฝืด ส่วนในปีนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแค่ไหนขึ้นอยู่กับการที่ทั่วโลกรอดูว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่ระดมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปจะสามารถช่วยได้หรือไม่ หากสามารถช่วยได้ก็จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม และหากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวก็จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในอนาคต แต่หากมาตรการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก รวมทั้งกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดมาตรการต่างๆ เข้าไปอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.