GMขู่!รัฐไม่อุ้มหยุดลงทุนรมว.อุตออกลายขอลดภาษี


ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“จีเอ็ม” ประกาศชัดขอสนับสนุนเงินทุน จากประเทศที่เข้าไปลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงไทยที่ถูกอ้างบุญคุณมีส่วนผลักดันอุตฯ รถไทยให้เติบโต ขู่หากไม่ได้รับอัดฉีดเงินจากรัฐบาล จำเป็นเลื่อนการลงทุนออกไป นายกฯยืนยันไม่นโยบายช่วยเอกชนรายใดรายหนึ่ง ขณะที่เจ้าพ่องานมอเตอร์เอ็กซ์โป ค้านนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยบริษัทรถ ชี้ไร้ประโยชน์ ไทยได้แค่ค่าแรง ด้านยักษ์ “โตโยต้า” ตั้งทีมพิเศษ มีภารกิจ 2 ปี ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและยอดขายตกต่ำในไทย ตามคาด รมว.อุตฯจับตัวแรงงาน 4 หมื่นคนในอุตฯ รถยนต์เป็นตัวประกัน ขอแลกกับการลดภาษีสรรพสามิตให้ค่ายรถยนต์ แบงก์รัฐปล่อยกู้ผู้ผลิตชิ้นส่วน และของบ 800 ล้านทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ

นายสตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์ เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกของเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม (GM) ผู้ผลิตรถผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ตามที่จีเอ็มยื่นแผนดำเนินงานต่อกระทรวงการคลังสหรัฐ โดยมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่ง และขีดความสามารถในระยะยาว ซึ่งแผนงานของจีเอ็มยังแสดงรายละเอียด ถึงการปรับลดแบรนด์ยนตรกรรม และโมเดลภายใต้เครือจีเอ็มในอนาคต รวมถึงการผนึกกำลังของพนักงานและเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย เร่งศักยภาพการดำเนินงาน และส่งเสริมความสามารถด้านการผลิต พร้อมกับยึดมั่นในการสร้างสรรค์ยานยนต์ที่มีคุณภาพ ประหยัดพลังงาน และเทคโนโลยีพลังขับเคลื่อนแห่งอนาคต

“แผนการของจีเอ็มดังกล่าว นับว่ามีความชัดเจนสามารถดำเนินการได้จริง และมีความแข็งแกร่ง ด้วยการตั้งเป้าลดจำนวนการผลิตลง พร้อมแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความเร่งด่วนของแผนงาน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ด้วยการตั้งเป้าเพื่อกลับมาสู่การได้รับผลกำไรภายใน 24 เดือน อย่างไรก็ตามแผนงานเสริมสร้างความแข็งแกร่งของจีเอ็ม จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุน จากผู้เกี่ยวข้องกับจีเอ็มทุกฝ่ายทั่วโลก ทั้งฝ่ายบริหาร พนักงาน สหภาพ ซัพพลายเออร์ ผู้แทนจำหน่าย นักลงทุน และผู้ถือครองพันธบัตร”

ทั้งนี้ การลงทุนในหลากหลายโครงการ ที่ระบุในแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะผลักดันให้จีเอ็มก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในระดับโลกในระยะยาว โดยการพัฒนายานยนต์ที่มีเทคโนโลยีล้ำอนาคต และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เหตุนี้บริษัทฯ จึงต้องเสริมศักยภาพการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ขู่เลื่อนลงทุนหากรัฐไม่อัดฉีดช่วย


“ส่วนการดำเนินธุรกิจของจีเอ็มในต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2552 -2557 จีเอ็มจะแสวงหาเงินทุนสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดที่ดำเนินธุรกิจอยู่ และในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จีเอ็มกำลังทบทวนพิจารณาแผนการขยายธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก โดยบางโครงการอย่างการขยายการผลิต และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องเลื่อนการดำเนินการออกไปก่อน หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจีเอ็มกำลังหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาการสนับสนุนการต่อยอดการลงทุนนี้ต่อไป”

โดยนายคาร์ไลส์กล่าวอ้างไว้ก่อนหน้านี้ว่า จีเอ็มจะสานต่อการทำงานและแผนการ ที่ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์แก่จีเอ็มเท่านั้น หากยังส่งผลดีต่อตลาดในภาพรวม รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งรวมแล้วมีบริษัทมากถึง 2,312 แห่ง ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงซัพพลายเออร์อีกมากมายด้วย ซึ่งมีการว่าจ้างงานทั้งชายและหญิงมากถึง 600,000 คน ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มธุรกิจย่อย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับยานยนต์โดยตรงด้วย

“ในปี 2550 มีการผลิตรถมากถึง 1,188,044 คัน เกือบครึ่งหนึ่งถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการเติบโตของตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคัน ภายในปี 2559 โดยแบ่งเป็นการส่งออกราว 1.5 ล้านคัน”

อ้างบุญคุณช่วยดัน อุตฯรถไทย

นายคาร์ไลส์กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมรถยนต์จากไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในปี 2551 แม้ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม มูลค่าการส่งออกคิดเป็นสุทธิอยู่ที่ 482,960 ล้านบาท ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน

“ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกให้เราเห็นถึง การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยที่มีเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าจีเอ็มเองเป็นหนึ่งในองค์กรหลัก ที่ผูกพันต่อการอุทิศเพื่อการเติบโตนี้ และเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมจีเอ็มถึงต้องมองหาการสนับสนุนด้านเงินทุนระดับท้องถิ่น เพื่อสานต่อโครงการต่างๆ ในประเทศไทย” นายคาร์ไลส์กล่าวและว่า

“อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภาวะการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่าเราต้องออกมาตรการบางอย่าง เพื่อกระตุ้นความพยายามในการปรับปรุงโครงสร้างของจีเอ็ม ซึ่งมีความคืบหน้ามามากนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รอเราอยู่ข้างหน้า”

ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความก้าวหน้าที่จีเอ็มดำเนินอยู่ บริษัทฯ จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุน เน้นย้ำธุรกิจหลักและตั้งป้าหมาย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มาร์คเมิน-บิ๊กมอเตอร์เอ็กซ์โปแฉ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่บริษัท เจนเนอร์รัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ขอความช่วยเหลือในด้านการกู้เงินจากรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือว่ายังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ ตนนึกว่าทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะดำเนินการ ในส่วนของบริษัทแม่ของจีเอ็ม มอเตอร์ส แต่ในช่องทางของไทยไม่มีนโยบายที่จะเอาเงินภาษีอากรเพื่อช่วยธุรกิจเอกชนที่ใดที่หนึ่ง

เมื่อถามว่าในส่วนของจีเอ็มมอเตอร์สในไทย ก็มีการร้องขอให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องรวบรวมปัญหาเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดว่า มีมาตรการใดที่จะช่วยให้ตลาดทำงานไปได้ การประกอบการพอไปได้สามารถทำได้ แต่ถ้าจะให้เข้าไปช่วยลักษณะทางการเงินของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คงไม่ทำ

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และประธานบริษัทสื่อสากลจำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่จีเอ็มประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้เพื่อช่วยเหลือการลงทุนว่า เรื่องนี้ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม เพราะการใส่เงินลงไปในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะไม่คุ้ม เพราะผู้ที่ได้มากที่สุดเป็นบริษัทรถยนต์ข้ามชาติ คนไทยได้ก็เพียงแค่ค่าแรงงานเท่านั้น ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาที่บริษัทรถยนต์เป็นของเขาเอง

อย่างไรก็ตามในวันนี้ (20) นายสตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ บริษัทฯจะเดินทางเพื่อเข้าพบนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อหารือในการช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทฯ

โตโยต้าตั้งทีมพิเศษฝ่าวิกฤตยอดขาย

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ASTV ผู้จัดการรายวัน” จากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย จนส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไทยได้ผลกระทบ ดังจะเห็นจากยอดขายรถยนต์ในไทยเดือนมกราคมที่ผ่านมา หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ตกลงมากถึง 30% โดยในส่วนของโตโยต้าลดลงกว่า 27%

“จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ และสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในไทยที่ลดลงชัดเจน ทำให้โตโยต้าต้องเตรียมรับมือเป็นพิเศษ ทั้งในส่วนของการลดต้นทุน ปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด รวมถึงลดค่าใช้จ่ายประมาณ 30-35% แต่นั่นเป็นเพียงการตั้งรับเท่านั้น ในสภาวการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกด้วย เหตุนี้โตโยต้าจึงได้มีการจัดตั้งทีมงานพิเศษ เพื่อผลักดันให้บรรลุภารกิจ 9 ข้อ ที่สำคัญคือการรักษาและผลักดันยอดขายโตโยต้าให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้”

สำหรับทีมงานพิเศษนี้เป็นการรวบรวมบุคลากรของโตโยต้า จากแผนกต่างๆ มาทำงานร่วมกันเฉพาะกิจ โดยเบื้องต้นทีมงานนี้จะมีภารกิจในการดำเนินการประมาณ 2 ปี เพื่อดำเนินงานเชิงรุกไม่ว่าจะเป็นแคมเปญส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมการตลาด ซึ่งเป็นการเสริมกับหน่วยงานปกติที่มีอยู่ เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย หรือรักษาสถานะธุรกิจให้อยู่รอดได้ จนกว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

รมว.อุตฯออกลายอุ้มค่ายรถยนต์

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารของค่ายรถยนต์ใหญ่ อาทิ ฮอนด้า อีซูซุ โตโยต้า ถึงมาตรการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐของค่ายรถยนต์เพื่อแลกกับการไม่ปลดแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในไตรมาสแรกรวม 40,000 คน ว่า ที่ประชุมฯได้มีมติเห็นชอบใน 3-4 เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม จะนำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) พิจารณาในวันที่ 25ก.พ.นี้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

ข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย 1. มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศ โดยขอให้ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ3% ซึ่งค่ายรถยนต์ประเมินว่า จะสามารถลดราคาจำหน่ายลงได้คันละ15,000 บาท คาดว่าจะทำให้มียอดจำหน่ายรถเพิ่มขึ้น 50,000 คัน ขณะที่รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ 7,500 ล้านบาท แต่จะมีรายได้จากการเก็บภาษีต่างๆเพิ่มขึ้นมาทดแทนรวม 6,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานต่อไป

"หากได้รับการช่วยเหลือตามข้างต้น ค่ายรถยนต์ก็พร้อมจะลดราคาจำหน่ายรถยนต์ให้ประชาชนได้คันละ 30,000-50,000 บาท" นายวัลลภอ้าง

2.ให้รัฐบาลสั่งการไปยังธนาคารของรัฐจัดหาวงเงินมาปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหา เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อในขณะนี้ โดยเงินส่วนนี้อาจมาจากเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่รัฐบาลอนุมัติวงเงินไว้ก่อนหน้านี้6,000 ล้านบาท และ 3 ต้องการให้รัฐบาลอนุมัติแผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในกลุ่มรถยนต์ ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ภาคเอกชนวงเงิน 800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในระหว่างที่ค่ายรถยนต์สำหรับแรงงานในระบบที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 40,000 คนเฉลี่ยคนละ 5,000 บาท/เดือน ระยะเวลาอบรม4เดือน

4. ให้รัฐบาลกำหนดให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เช่ารถเมล์ 4,000 คัน ต้องเป็นรถเมล์ที่ผลิตในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงานได้ 20,000 คน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.