|
แฉ!ธุรกิจสร้างบ้านภาษีรั่วไหลรัฐสูญหลายพันล.-จูงใจผู้บริโภคขอคืนแวตได้
ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
พีดีเฮ้าส์ฯ เผยรับเหมาก่อสร้าง-รับสร้างบ้านกว่า70% แจ้งรายได้เท็จต่ำกว่าปกติ เลี่ยงภาษีแวต ทำรัฐสูญเงินภาษีปีละหลายพันล้านบาท แนะปลุกจิตสำนึกผู้ประกอบการปฏิบัติตามกม.ภาษี สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม กระตุ้นให้ผู้บริโภคขอใบเสร็จรับเงินรวมแวตจากผู้ประกอบการ แจงรัฐอาจต้องให้ผู้บริโภคขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยการลดหย่อนภาษีรายได้บีบผู้ประกอบการเข้าระบบ ด้านผู้บริหารโฮม สแตนดาร์ดฯ ผวาสงครามราคา ระบุตลาดล่างแข่งขันลดราคาก่อสร้างสูง 20% หวั่นปัญหารับเหมาสร้างบ้านไม่ได้ วิจัยกสิกรฯคาดปี52 ตลาดหดตัวอย่างน้อย13.6%
นายพิศาล ธรรมวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้บริหาร “ศูนย์รับสร้างบ้าน พีดี เฮ้าส์” เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจ ได้ทำการศึกษาเก็บข้อมูลตลาดรวมบ้านสร้างเองในปี51พบว่า มีจำนวนบ้านสร้างเองทั่วประเทศรวม 70,000 หน่วย แบ่งเป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงมีปริมาณการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 18,900 – 19,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวม47,000-48,000 ล้านบาท โดยผู้รับเหมาทั่วไป มีส่วนแบ่งตลาด 83% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 39,000-40,000 ล้านบาทเศษ และกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน มีส่วนแบ่ง17% คิดเป็นมูลค่า7,900-8,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเองในต่างจังหวัดประมาณ 45,000-50,000 หน่วย
“หากพิจารณาจากมูลค่าบ้านสร้างเองปี51 แยกเป็น กลุ่มผู้รับเหมาฯที่มีส่วนแบ่งตลาด 39,000-40,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนที่ต้องถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) 7% เท่ากับ 2,500 ล้านบาทเศษ และกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีส่วนแบ่งตลาด 7,900-8,000 ล้านบาท คิดเป็นภาษีแวต 500 ล้านบาทเศษ เมื่อคิดรวมทั้ง2ส่วนรัฐน่าจะจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 3,000 ล้านบาทเศษ แต่ในข้อเท็จจริงพบเห็นการฮั้วหรือตกลงกับจ้าของบ้าน โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าระบบภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและกรมสรรพกรได้ประกาศนโยบาย ที่จะหาช่องทางเรียกเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลเพิ่มจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน เนื่องจากเห็นว่า นิติบุคคลหรือคณะบุคคลมีการสร้างรายจ่ายเกินจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นการการตรวจสอบและแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะหากกรมสรรพกรตรวจสอบผลประกอบการหรืองบดุลบัญชีของกลุ่มผู้รับเหมาทั่วไปและกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน จะพบว่าผู้ประกอบการมากกว่า 70% แจ้งรายได้ต่ำผิดปกติ เช่น บางรายมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท หรือมีรายได้ไม่ถึง 5 ล้านบาทต่อปี หรือเมื่อพิจารณาแล้วเท่ากับว่า 1 ปี มีงานรับเหมาสร้างบ้านเพียง 1-2 หลัง แต่หากประเมินจากต้นทุนค่าก่อสร้าง ค่าการตลาด ค่าจ้างพนักงาน และค่าบริหารงานของแต่ละรายมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ5-10 ล้านบาทขึ้นไป จึงสะท้อนให้เห็นว่ามีการหลบเลี่ยงนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแจ้งรายได้ต่ำกว่า ความเป็นจริง
ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการต่างปกปิดรายได้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่แต่ละปีงบดุลจะแสดงผลกำไร เพราะว่ามีแต่รายจ่าย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจสร้างบ้าน ก็จะพบว่างานรับเหมาสร้างบ้านมีผลกำไรหรือผลตอบแทนต่ำมาก โดยเฉลี่ยจะคำนวณกำไรจากค่างานรับเหมาไว้เพียง 2-8% ของมูลค่างานก่อสร้างหรือราคาขาย ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างมีตัวแปรและมีความเสี่ยงระหว่างทำงานก่อสร้างสูง
นายพิศาล กล่าวว่า จากกรณีศึกษาธุรกิจสร้างบ้านดังกล่าว รัฐบาลควรหาแนวทางที่จะปลุกจิตสำนึกผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายภาษี เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่นำส่งภาษีแวตตามจริง หรือกระตุ้นให้ผู้บริโภคเรียกขอใบเสร็จรับเงิน(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้าง ทั้งนี้ รัฐอาจจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยอาจมิใช่คืนเป็นเงินสดแต่จะเป็นการนำไปลดหย่อนภาษีรายได้หรือลดดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร เพื่อจะเป็นการบังคับผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง
วิจัยกสิกรฯคาดอย่างดีตลาดหดตัว 13.6%
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์แนวโน้มที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกทม.และปริมณฑลประเภทบ้านปลูกสร้างเองปี52 ว่า ภายใต้สมมุติฐาน 2สถานการณ์ ปกติแม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่สามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลง รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ทรงตัว แต่เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงสถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ จึงคาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประเภทปลูกสร้างเองในเขตกทม.และปริมณฑลจะหดตัวลง13.6%จากปี51 แต่ในกรณีที่เลวร้าย คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประเภทที่อยู่อาศัยปลูกสร้างเองจะหดตัวลง18.2% ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในปี 52 นี้ คาดว่าต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เมื่อธุรกิจโดยรวมยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
เตือนแข่งตัดราคาสุดท้ายเจ๊ง
นายบุญลือ วงศ์พรเพ็ญภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม สแตนดาร์ด ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านทำให้ตลาดชะลอตัวในบางกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดล่างราคา 1-3 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30% ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดของสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านจากสถาบันการเงิน เมื่อลูกค้าได้รับผลกระทบทำให้ผู้รับเหมาในตลาดนี้แข่งขันกันสูงขึ้น ปัจจุบันมีประกาศลดราคาค่าก่อสร้างสูงถึง 20% จนทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าผู้รับเหมาจะสร้างบ้านไม่ได้ตามที่ตกลงกับลูกค้าไว้
ส่วนตลาดกลาง-บน มีการแข่งขันกันบ้างแต่ไม่มากนัก ปัจจุบันเริ่มเห็นการลดราคาที่ประมาณ 5-10% แยกระดับและส่วนแบ่งตลาดออกเป็น ระดับกลางราคา 3-7 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 40%, ระดับบนราคา 8-15 ล้านบาท 20% และระดับบน 15 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวน 10% ซึ่งตลาดบน-ไฮเอนด์ จะยังมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีการวางแผนก่อนสร้างบ้าน มีเงินออม ซึ่งเกือบ 100% ไม่ขอสินเชื่อ
สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯจะเน้นไปที่ตลาดบนขึ้นไป โดยตั้งเป้ายอดขาย 220 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายของ Home Standard เป็นบ้านระดับราคา 8-10 ล้านบาท ประมาณ 20 หลัง มูลค่า 160 ล้านบาท และHome Develop บ้านราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งเป้า 4 หลัง มูลค่า 60 ล้านบาท ส่วนปีที่ผ่านมามียอดขาย 190 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 10%
นอกจากนี้ ยังเพิ่มโครงการบ้านป้องกันแผ่นดินไหวเป็นแห่งแรกของบริษัทรับสร้างบ้าน และเพิ่มพื้นที่ใช้สอย(ฟังก์ชขั่น)การใช้งาน ซึ่งเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 3-5% แต่ไม่ได้ปรับราคาขึ้น ส่วนงานรับสร้างบ้าน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค. 52 ณ เซ็นทรัลลาดพร้าว บริษัท ได้จัดโปรโมชันส่วนลดเงินสด 10%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|