|
ททท.ขาสั่นโยน ครม.ชี้ขาด
ผู้จัดการรายวัน(19 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ด ททท.ปัดทางเป็นผู้ชี้ชะตา โยนข้อเสนอ 3 แนวทางจัดการกับบริษัทอีลิทให้ ครม.เป็นผู้ตัดสินใจ อ้างอีลิทการ์ดเกิดจากฝ่ายการเมือง ก็ต้องให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบ ส่วน ททท.เป็นหน่วยงานที่รับแนวทางมาปฎิบัติ พร้อมทำตามทุกคำสั่ง ขณะที่ “ชุมพล”ใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้ากระทรวงกำกับดูแล ททท. สั่งอีลิทเบรกทุกธุรกรรมที่จะเป็นภาระผู้พันธ์ รอให้ ครม.ฟันธงก่อน
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ดททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดททท.เห็นชอบใน 3 แนวทางเลือกตามที่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิทเป็นผู้เสนอให้เป็นทางออกของ ทีพีซี กล่าวคือ 1.การปิดกิจการบริษัท พร้อมจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย ให้แก่สมาชิก ค่าเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินเบื้องต้นประมาณ 2,240 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดจากการฟ้องร้องของสมาชิกและตัวแทนจำหน่าย
2.ดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้การปรับแผนการบริหารงานและโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด และ 3. การเปิดทางให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมทุน และมีส่วนร่วมในการบริหาร
“จากมติดังกล่าว ททท.จะนำส่งต่อไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ ททท.เป็นผู้นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไปเพื่อตัดสินชี้ขาด”
ทั้งนี้ยังได้แจ้งต่อผู้แทนของทีพีซีที่เข้าร่วมประชุมถึงการมอบนโยบายของนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า ได้สั่งให้ทีพีซีชะลอการทำงานในทุกเรื่องที่จะมีผลเป็นภาระผูกพันกับบริษัท เช่น การขายบัตรสมาชิก การสรรหาตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของบริษัท การพิจารณาสนับสนุนงานหรือกิจกรรมแก่องค์กรต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ เป็นต้น โดยให้รอจนกว่าจะมีมติชี้ขาดจาก ครม.ใน 3 แนวทางดังกล่าวข้างต้น
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การที่บอร์ด ททท.ไม่ได้ตัดสินใจชี้ขาดเลือกแนวทางใดๆใน 3 แนวทางที่ทีพีซีเสนอมานั้น แต่ให้ ครม.เป็นผู้ตัดสิน เพราะเห็นว่า ทีพีซี หรืออีลิทการ์ด เป็นองค์กรที่เกิดจากการสนับสุนของฝ่ายการเมือง ททท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รับนโยบายมาปฎิบัติ เพราฉะนั้น ไม่ว่า ครม.จะเลือกแนวทางใดก็จะต้องปฎิบัติได้ตามนั้น ซึ่งคาดว่า คงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้ตัดสินได้ในเร็วๆนี้
สำหรับรายงานผลการดำเนินงานของ ทีพีซี ระบุว่า ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จากการขายบัตร และ การให้บริการเสริม วม 103.25 ล้านบาท มียอดสมาชิกใหม่เฉพาะปี 2551 ที่ 71 ราย ทำให้บริษัทมียอดสมาชิกรวมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2551 เป็น 2,568 ราย มียอดขาดทุนสะสมทั้งแต่ปี 2546-2551 เป็นวงเงินวม 1,385 ล้านบาท มีเงินสดหมุนเวียนที่ 531 ล้านบาท และจากแผนธุรกิจที่ปรับปรุงใหม คาดว่าจะทำให้ ทีพีซี มีกำไรจากผลการดำเนินงานได้ในปี 2553
ทางด้านนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) กล่าวว่า ยินดีปฎิบัติตามแนวนโยบายของนายชุมพล ศิลปอาชา รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ให้ ทีพีซี ชะลอการทำงานทุกเรื่องที่จะมีภาระผูกพันกับบริษัท โดยยอมรับว่า จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จากการขายบัตรสมาชิก ขณะเดียวกันทุกๆเดือนก็ต้องมีรายได้ราว 12-15 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างพนักงาน 6-7 ล้านบาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่สมาชิกอีกเดือนละ 7-8 ล้านบาท แต่เชื่อว่าคงไม่เกิน 2 เดือน ครม.น่าจะมีมติเลือก 1 ใน 3 แนวทางให้บริษัทได้ดำเนินการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|