|
ตลท.เน้นงานเชิงรุกดึงเอกชน หลังหุ้นไอพีโอQ1/52พลาดเป้า
ผู้จัดการรายวัน(19 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับหุ้นไอพีโอไตรมาสแรกปี 52 พลาดเป้า คาดเอกชนระดมทุนแค่ 4 บริษัท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14 บริษัท อ้างภาวะเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นไม่เอื้อ ด้านผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งเดินหน้าทำงานเชิงรุกดึงเอกชนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มมากขึ้น ด้วยการแก้ระบบรับหลักทรัพย์-จับมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดดึงเอกชนที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียน
นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2552 นี้ตลาดหลักทรัพย์ฯคาดว่าจะมีบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวนทั้งสิ้น 4 บริษัท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้รวม 14 บริษัท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ซบเซาจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริหารบริษัทเอกชนที่เตรียมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาชะลอแผนออกไปเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม เพราะหากเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดีนั้น จะทำให้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ไม่เป็นไปตามที่บริษัทต้องการ
สำหรับบริษัทที่เข้าจะจดทะเบียนในไตรมาส 1/52 ประกอบด้วย บริษัท แอปโซลูท อิมแพค จำกัด (มหาชน) หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทแรกในรอบ 8 เดือนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ ในวันนี้ (19 ก.พ.) มูลค่าระดมทุนจำนวน 88 ล้านบาท บริษัท เอเซีย กรีน เอนเอนจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE มูลค่าระดมทุน 227.50 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 และบริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TPOLY มูลค่าระดมทุน 168 ล้านบาท จะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอในวันที่ 4 มีนาคม 2552 โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้ง 3 บริษัทรวม 483.50 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1 บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
นายวิเชฐ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจากวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ และยุโรปนั้น ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้แผนการนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำได้ยากขึ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเป้าบริษัทจดทะเบียนใหม่ในปีนี้ไว้ที่ 46 บริษัท หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยมีสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องมีการทำงานที่เชิงรุกมากขึ้นในการที่จะหาบริษัทเข้ามาจดทะเบียน
ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินงานของสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนที่จะดึงบริษัทเข้ามาจดทะเบียน คือ การทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัดในการคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพที่เติบโตในอนาคตเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งเป็นการหวังผลระยะกลางที่ให้บริษัทเข้ามาซื้อขาย และมีการผลักดันให้เกิดระบบการรับหลักทรัพย์แบบการเปิดเผยข้อมูล (disclosurebased)
“ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการลดระยะเวลาในการเข้าจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้น หากสามารถดำเนินการได้ทันในปีนี้ จะช่วยทำให้ในปีหน้ามีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ การให้บริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว แนะนำบริษัทคู่ค้าขนาดเล็กให้เข้ามาจดทะเบียน และคณะกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียนมาช่วยในการคัดเลือกบริษัทอีกหนึ่ง”
ทั้งนี้ ในปี 2552 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งเป้าหมายบริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวนทั้งสิ้น 46 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ 1 บริษัท แบ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 22 แห่ง ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 24 บริษัท ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เพิ่มอีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากฝ่ายวาณิชธนกิจ กล่าวว่า แนวโน้มของตลาดไอพีโอปี 52 คงไม่คักคักหรือปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมามากนัก จากวิกฤตทางการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว บวกกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูและรอดูทิศทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
“แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อดึงความสนใจให้เอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะดวกและรวมเร็วมากขึ้น แต่หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย ตลาดหุ้นยังซบเซา ผู้บริหารบริษัทเอกชนจะยังคงไม่ตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตอนนี้ เพราะการระดมทุนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|