|

เจาะเข็มทิศ CSR in Crisis 3 บิ๊กธุรกิจ โตโยต้า-บางจาก-ดีแทค
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
* เปิดแนว CSR Management
* 3 ตัวแทนธุรกิจเด่น รถยนต์-น้ำมัน-เทเลคอม
* รับปีวิกฤติ-ตอกย้ำความสำคัญทำต่อเนื่อง
* โตโยต้า ต่อยอดซีเอสอาร์เพื่อธุรกิจยั่งยืน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดการเลิกจ้าง ลดกำลังการผลิตกิจกรรม ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลัก การเงิน รถยนต์ น้ำมัน ฯลฯ ส่งผลให้ธุรกิจที่ได้แสดงออกถึงการให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมหันแนวทางสู่ การตระหนักถึงสังคมมากขึ้น มีการใช้แนวทาง Corporate Social Responsibility : CSR เป็นเครื่องมือ ทำให้ในปีนี้คาดกันว่า ธุรกิจหลายแห่งจะหันมา เน้นการพัฒนาแรงงานที่มุ่งเน้นสร้างความสามารถในการมีการงานทำ แทนการจ้างงาน ให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสังคม และ ล่าสุดค่ายยักษ์จาก 3 ธุรกิจ “โตโยต้า-บางจาก-ดีแทค” ได้เปิดเผย แนวทางหลักของการทำซีเอสอาร์ ไว้อย่างน่าสนใจ
โตโยต้า: CSR in Crisis
แนวทางการทำซีเอสอาร์ของโตโยต้า ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจในปีนี้ กำหนดไว้ 4 แนวทางได้แก่ หนึ่ง-เน้นใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์-ยั่งยืน ( Business Training Funding ) สอง- สำรวจความต้องการของสังคม สาม- สำรวจทรัพยากรในองค์กร ไม่เพิ่มต้นทุน และสี่- ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการว่างงาน
“เบื้องต้นจะให้งบประมาณก้อนหนึ่ง เพื่อใช้ดำเนินการงานด้านซีเอสอาร์ ซึ่งไม่ได้ให้เงินอย่างเดียว แต่จะมีงานแบบskill trainingให้ โดยฝึกให้รู้จักคิดเพื่อสามารถหารายได้เสริมให้องค์กรอันจะได้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้นอกจากนี้ยังจะพยายามหาแหล่งเงินทุนให้ทั้งเงินกู้สหกรณ์ฯหรือ incentive money จากโตโยต้าเพื่อเริ่มต้นทำทุน”
ทั้งนี้การสำรวจความต้องการสังคม เพื่อทราบว่า พวกเขาต้องการอะไร ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุด ขณะเดียวกันในเรื่องการสำรวจทรัพยากรในองค์กร ซึ่งในปีนี้ประเด็นที่พูดถึงกันมา คือ การตกงานหรือว่างงาน ก็จะพยายามให้คนเหล่านี้มาเป็นครูฝึก...
นอกจากนี้ในการปรับเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันคือ การวิเคราะห์ว่า ขณะนี้สังคมประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องใดบ้าง และอยากให้บริษัทช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง ซึ่งในขณะนี้ เรื่องการว่างงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เป็นต้น ”นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอร์เตอร์ ประเทศไทย จำกัด อธิบายและย้ำอีกว่า
การทำซีเอสอาร์ในปัจจุบัน จำต้องคำนึงถึง 3 ส่วนหลักได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญที่สุดในการทำซีเอสอาร์ในปัจจุบัน คือ เพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่การทำกิจกรรมทำบุญและแจกสิ่งของเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นซีเอสอาร์ที่ยังไม่ดี สำหรับโตโยต้ามอร์เตอร์ฯในประเทศไทยได้กำหนดให้ความสำคัญเรื่องซีเอสอาร์ไว้ในพันธะกิจหลัก โดย 1 ใน 4 ข้อ เน้นการทำซีเอสอาร์ที่มีความหมาย
ซีเอสอาร์เพื่อความยั่งยืน
สำหรับ ซีเอสอาร์เพื่อความยั่งยืนของโตโยต้า รองปะธานกรรมการโตโยต้า บอกว่า ประกอบด้วย หนี่ง-เพื่อสิ่งแวดล้อม สอง- ความปลอดภัยบนท้องถนน สาม- การศึกษาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ และสี่-การดูแลชุมชน
ทั้งนี้ในส่วนสิ่งแวดล้อม สามารถแยกออกได้ 3 ประเด็น หนึ่ง-โรงงาน สอง-โปรดักส์ สินค้ารถยนต์ สาม สาธารณชน
“ส่วนโรงงานจะต้องค้นหาว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานได้อย่างไร 2 ปีที่ผ่านมาได้มีสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ฉะเชิงเทราเรียกว่า บ้านโพ ถือเป็น Eco-Plant แห่งแรกของประเทศไทยและเป็น 1 ใน 5 ของโตโยต้าทั่วโลกที่มีการรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชม 1 พันคน
จุดเด่นโรงงาน คือรักษาสิ่งแวดล้อมและปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด ทั้งนี้โครงสร้างโรงงาน อาทิ หลังคาเป็นโซลาเซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์ แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อจ่ายพลังงานไฟให้กับออฟฟิศทั้งหมด ขณะเดียวกัน บริษัทมีนโยบายบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ปริมาณ 60 คิวเมตรต่อชั่วโมง
พร้อมทั้งยังนำเอาแก๊ซธรรมชาติมาปั่นไฟว ส่วนไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนตร์คอมมอนเวลก็เอามาปั่นเป็นไอน้ำร้อนแล้วนำมาใช้ประโยชน์ ความร้อนอีกส่วนหนึ่งมาแลกเปลี่ยนเป็นความเย็น ทั้งหมดเป็นวิธีที่สะท้อนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ หรือ คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์จากปกติ 28 เปอร์เซ็นต์ และยังได้ปลูกป่า 1 แสนต้น จาก 1.4 แสนครอบครัวโตโยต้า จัดว่าเป็นบันทึกโลกก็ว่าได้ เพราะใช้เวลาเพียง 45 นาที
Eco Products
สำหรับสินค้ารถยนต์ ซึ่งขณะนี้บริษัทได้มีรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ทั้งแบบทางเลือกเชื้อเพลิง และแบบใช้พลังงานทดแทน แก๊ซโซฮอลล์ และไบโอดีเซลล์ แต่ในระยะยาวบริษัทเน้นมุ่งไปผลิตรถยนต์ประเภท Ultimate Eco Vehicle คือรถยนต์ที่รักษาระบบนิเวศวิทยา โดยใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปล่อยไอเสียออกมาเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ โดยโปรดักส์ที่พัฒนาดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลา 10-15ปี ซึ่งระหว่างเวลาดังกล่าวก็จะมีรถยนต์ไฮบริดเทคโนโลยี่ออกมา มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
ไม่เพียงเท่านี้ โตโยต้ายังได้เน้นทำวิจัยพลังงานทดแทน ในโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำไบโอดีเซล จากน้ำมันปาล์ม เมล็ดฝ้ายดำ และล่าสุดโครงการทำร่วมกับปตท. ชื่อว่า ไบโอจีเนเตดดีเซลล์ ซึ่งหากสำเร็จเป็นการปฎิรูปการใช้น้ำมันอย่างมโหฬาร โดยเป็นนำเอาน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์มาฉีดด้วยก๊าซไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อให้มันแตกแล้วมันจะได้น้ำมันดีเซลชนิดดีเกรดพรีเมี่ยม สามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องยนต์ทั้งเก่าและใหม่ได้ โดยไม่ต้องปรับเครื่องยนต์ คาดว่าวิจัยได้เสร็จราวปลายปีนี้
แนวทางทำซีเอสอาร์ต่อมา คือ โครงการ Stop Global warming หรือ หยุดโลกร้อน เน้นการประหยัดพลังงาน และการนำกลับมาใช้ใหม่ การขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยร่วมกับโรงเรียนและเทศบาลกว่า 70 จังหวัด มีเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซต์ โดยตั้งเป้าหมายปีที่ผ่านมาลดให้ได้ 2 พันตัน โดยมีผู้เข้าร่วม 2.5 หมื่นราย
“ในการทำแนวทางดังกล่าวนี้ ทำอย่างไรให้ยั่งยืนนั้น สามารถนำเอาโครงการไปใส่ไว้ใน Pilot Project ในโรงเรียนและชุมชน เพื่อไปบรรจุในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำให้มันยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนเงิน 15ล้านบาทให้กับอุทยานเพื่อสิ่งแวดล้อม สิธินธร ที่ชะอำ ซึ่งยังขาดการบริหารจัดการที่ดี จึงได้เข้าไปช่วยเหลือและให้องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกเข้าช่วยบริหารจัดการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน กำหนดเวลาประมาณ 3ปีให้อุทยานฯสามารถเลี้ยงตัวเองได้ สำหรับแนวทางความปลอดภัยบนท้องถนน โตโยต้าได้ร่วมกับกรมขนส่งทางบก ปรับปรุงโรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่ได้มาตรฐานของโลกมีทั้งการเรียน การสอนและสนามฝึก ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท
เขาบอกว่า กระแสสังคมและการทำธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ปี 2000 ได้มีการสำรวจบริษัทต่างๆ จำนวน 7 พันแห่งในญี่ปุ่น เกี่ยวกับการตระหนักในการทำธุรกิจเป็นอย่างไรพบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การทำกำไร การทำธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำ และ ยอดขาย และอันดับที่ 13 คือ Corporate Images และ 6ปีต่อมาก็กลายเป็น Corporate Social Responsibility ไต่มาเป็นอันดับ 10 โดยอันดับ 1-3 ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ส่วนแบ่งการตลาด การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ล่าสุด CSR กลายมาเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกที่ธุรกิจได้ตระหนักมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ ซีเอสอาร์ของโตโยต้า ยังได้เน้น ช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานและการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานที่จะรักษาแรงงานเดิมเอาไว้ หากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและธุรกิจดีขึ้นก็จะได้ใช้แรงงานเหล่านี้ต่อไป
บางจาก: Self CSR
สำหรับ ค่ายบางจาก แนวทางในปีนี้ ยังคงเน้น 2 แกนหลักได้แก่ หนึ่ง-ทำด้วยตัวเอง สอง-ทำทางอ้อม ทั้งนี้การทำซีเอสอาร์ที่เน้นดำเนินการด้วยตัวเอง คือ มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี่เพื่อประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทน โดยยังคงเดินหน้าต่อไปสำหรับพลังงานทดแทน E10 และ E20 และ E85 ในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ได้มีการนำน้ำมันประเภทดังกล่าวมาใช้ในปั๊มบางจากกับรถยนต์ได้จำนวน 40 คัน ขณะที่ทางอ้อม เน้นแนวทางเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมเติมเต็มในโครงการที่ยังขาดแคลน มีเป้าหมายเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซต์
เบื้องต้นกำหนดแนวคิดหลักในการทำซีเอสอาร์ว่า จะต้องมีหลักคิดเหมือนกันก่อน คือ สังคมอยู่ได้ เราอยู่ได้ ซึ่งเป็นหลักคิดสำคัญที่ชัดเจนสำหรับการทำซีเอสอาร์ เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อสงสัย ถกเถียงว่าสิ่งที่ทำไปนั้นคือ ซีเอสอาร์หรือไม่ ทั้งนี้การที่สังคมอยู่ได้ หมายถึง การที่ทุกคนอยู่ดี กินดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาในสังคมไทย และเป็นภาพที่อยากจะเห็น
“ แต่ปัจจุบันก็เกิดภาพเหตุการณ์หลายอย่างในมิติด้านเศรฐกิจที่แย่ลง ส่งผลกระทบต่อภาวะตกงานและว่างงานมากขึ้น มิติสังคม ก็มีเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิตและความปลอดภัยในทรัพสินและชีวิต และมิติสิ่งแวดล้อม ก็มีภัยพิบัติต่างๆเกิดขึ้นมักได้ยินว่ามีแผ่นดินไหว น้ำท่วม เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสภาวะอากาศ ร้อน หนาวกว่าเดิม โดยสิ่งเหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลากมิติที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งปริบทดังกล่าวนี้ควรทำความเข้าใจและมองมันก่อนว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างรอบตัวเรา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม “วัฒนา โอภานนท์อมตะ”ให้ความเห็นและอธิบายต่อไปว่า
หลังจากนั้นก็มาดูว่าแนวความคิดในการทำเรื่องซีเอสอาร์ควรมองประเด็นอะไร และที่สำคัญ คือ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละองค์กรเป็นอย่างไร สิ่งที่มักอยู่เสมอปัจจุบัน คือ ความยั่งยืน ดังนั้นปลายทางของแนวคิด คือ จะต้องทำอย่างไรไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งยั่งยืนในแง่การใช้ชีวิตของตัวเราเอง ในแง่ครอบครัว องค์กรและสังคม
สำหรับมิติความยั่งยืนของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองให้ออกว่ามีปัญหา อะไรอย่างไรอยู่บ้างในสังคม ประเทศและรอบตัวเรา จากนั้นก็ถามตัวเองว่า เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นใด เรื่องใด ซึ่งถ้าหากสามารถค้นหาและตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะทราบว่า ทิศทางซีเอสอาร์ของตัวเราจะต้องเดินอย่างไร และทำอะไรบ้าง
ขณะเดียวมิติยั่งยืนสิ่งแวดล้อมก็ต้องมองให้ออกว่า มีอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่เชื่อว่ามีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นเรื่องภัยพิบัติ แหล่งพลังงานทีได้รับผลกระทบจากพลังที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศวิทยาทั้งหมด ซึ่งถ้าหากติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่ก็จะทราบถึงเรื่องดังกล่าว และมีคำถามที่จะต้องคิดต่อไปว่า เราได้เรียนรู้และปรับตัวอย่างไรกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น
“เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า องค์กรเรากำลังอยู่ในสังคมใด สิ่งแวดล้อมใด สามารถเข้าไปทำและช่วยเหลือได้หรือไม่ มิติซีเอสอาร์ที่ผ่านมา เน้นมองจากตัวเองไปสู่ภายนอก
และเวลาทำซีเอสอาร์ไปแล้ว มักถูกถามว่า ทำแล้วองค์กรจะได้อะไร ทำให้การดำเนินการที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไรนัก
แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมองจากภายนอกมาสู่ภายใน โดยเอาปัญหาสังคมเป็นตัวตั้งแล้วมองกลับเข้าไปในองค์กร ถามว่า แล้วเราจะเข้าไปมีส่วนช่วยทำอะไร โดยไม่ต้องไปถามว่าทำแล้วองค์กรได้ประโยชน์ดังนั้น การทำซีเอสอาร์ได้ประโยชน์แน่นอน หากเชื่อว่า ทำแล้วถ้าหากสังคมอยู่ได้ เราอยู่ได้”
ดีแทค : CSRแตกไลน์
สำหรักค่ายดีแทคในปีนี้ หลังจากจุดประกายทำโครงการทำดี ทุกวันมาได้ระยะหนึ่ง ปรากฎว่าได้ผลดีเกินคาด เพราะทำให้ภาพการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แนวทางการทำซีเอสอาร์ยังคงเน้นการแตกไลน์ออกไปจากการทำโครงการทำดีทุกวัน ทั้งทำดีด้วยเทคโนโลยี่ ทำดีด้วยความรู้ และทำดีด้วยใจ เป็นหลัก เพราะความยั่งยืนถือเป็นแกนหลักของซีเอสอาร์ โดยนโยบายหลัก คือ ทำความดีอะไรก็ได้ เพื่อก่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน ดังนั้นการทำซีเอสอาร์เองใน 3 แนวทางเป็นหลัก
ทั้งนี้ รูปแบบของการทำดีในด้านต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ ทำดีด้วยเทคโนโลยี่ที่โดดเด่น ได้แก่ การติดอาวุธทางปัญญาให้ชาวไร่ ชาวนาในยุค IT กับโครงการ *1677 บริการทางด่วนข้อมูลการเกษตร ซึ่งดีแทคได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน Happy Station และมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดในการดำเนินโครงการ
ขณะที่ ทำดีด้วยใจ ให้แก่ลูกค้าและประชาชน โดยมีกิจกรรมโทรสะสมความดี และยังได้ร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน Happy Station พร้อมพันธมิตร มอบกำลังใจแก่ผู้ฟังทั่วประเทศที่โทรบอกเล่าเรื่องราวความดีผ่านสถานีทางหมายเลข 1677 และให้แก่ชุมชน ในรูปแบบ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ โดยจะประสานงานกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อจัดการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยแจกจ่ายถุงยังชีพ ให้ผู้ที่เดือดร้อน พร้อมทั้งได้มอบเต็นท์และอุปกรณ์สื่อสารให้ทางมูลนิธิฯ ใช้สำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ขณะที่ ทำดีด้วยความรู้ มีรูปแบบหลัก ได้แก่ การมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด 999 คน
ผู้บริหารดีแทคค บอกด้วยว่า ซีเอสอาร์ในปีนี้ยังเป็นมอบโอกาสให้กับผู้อื่นในการดำเนินการ เพราะดีแทคเชื่อว่าทุกคนมีความพร้อม แต่ยังขาดโอกาสเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือสาธารณชนทั่วไป ซึ่งจะมีโครงการทยอยต่อเนื่องออกมา
“นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับผู้อื่น เพราะดีแทคแม้ชำนาญในเทคโนโลยี่ แต่ในภาคส่วนอื่นต้องร่วมและขอความช่วยเหลือ ดังนั้นความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเป็นแนวทางของดีแทคจะดำเนินการ ยกตัวอย่างในต่างจังหวัด ดีแทคไม่ชำนาญเพาะปลูกเพื่อผลผลิตที่ดีขึ้น ก็ได้รับความร่วมมือกับธกส.ทำซีเอสอาร์ด้วยกัน” พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน CSR บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น ( ดีแทค) กล่าว
หรือบางพื้นที่ที่อาจต้องอาศัยการบริจาคอยู่บ้าง แต่ทางดีแทคไม่มีข้าว ก็ต้องอาศัยข้าวจากพันธมิตรหรือข้างรัชมงคล เพราะทราบดีว่า เพราะการทำซีเอสอาร์ตัวนี้ทำให้ชาวนาที่อาศัยอยู่รอบทิศ ที่ฉะเชิงเทราสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ซึ่งทำให้ชาวนามีความยั่งยืนได้ด้วย ซึ่งในรูปแบบนี้บริษัทจะเข้าไปดำเนินการเพิ่มมากขึ้น และแสวงหาองค์กรอื่นๆที่มีความชำนาญด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือและดำเนินการไปด้วยกัน อาทิ อย่างเช่นการปลูกป่า กองทัพบกเก่งมาก ดีแทคก็จะขอไปร่วมดำเนินการ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|