ทักษิณยันเงินไทยที่แข็งค่าถึง 41.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐวานนี้ แข็งสุดในรอบ
13 เดือน แนวโน้มแข็งค่าต่อหากแบงก์ชาติไม่แทรกอีก เป็นไปตามทิศทางแท้จริงของเศรษฐกิจไทย
ที่คาดปีนี้จะขยายถึง 6% แต่มั่นใจยังปกติ แนะผู้ส่งออกไทยรับค่าสินค้าเป็นดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่ค้า ด้านแบงก์ชาติยอมรับเงินบาทระยะยาวแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น
เหตุดอลลาร์จะอ่อนลงเรื่อยๆ แต่เฝ้าจับตา ใกล้ชิด เริ่มแทรกแซงแล้ว ขณะที่สภาพัฒน์เตรียมปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจ
ไทยปีนี้เพิ่มเป็น 6% ตามคลัง ขณะที่นายแบงก์ยันเงินฝรั่งไหลเข้าต่อเนื่องลงทุนอุตสาหกรรม-ธุรกิจ-หุ้น
คาดดอกเบี้ยไทยค่อยๆ ขึ้นไตรมาส 2 ปี 2547
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นวานนี้
(28 ส.ค.) ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายการจัดการกึ่งลอยตัวเงินบาท
(Managed float policy) เพื่อให้เครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพ แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยแข็งมาก
และตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างสมดุลดีมาก
"ทำให้ความเชื่อเงินบาทแข็งขึ้นมีสูง เพราะมันทานไม่ค่อยอยู่ ก็ต้องเป็นไปตามทิศทางที่แท้จริงของภาวะเศรษฐกิจ
ซึ่งทาง ธปท.ได้ดูแลให้เหมาะสม โดยให้มีเสถียรภาพมากที่สุด แต่เป็นเสถียรภาพที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ"
แนะส่งออกรับเป็นดอลลาร์
"ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ความจริงแล้วไม่ไว เพียงแต่เศรษฐกิจเราโตไว และทุกคนยอมรับว่า
เศรษฐกิจจะโตถึง 6% ตามที่ตั้งเป้าไว้ จากเดิมที่เคยทำนายไว้แค่ 3.3% ซึ่งโตมากกว่าที่ทำนายไว้เกือบ
100% เพราะฉะนั้น ก็ทำให้ทุกคนมองว่าทิศทางของประเทศไทยแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เงินบาทเคยอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนถึง 50 บาท
"ดังนั้นจะกลับไปอยู่ที่ 40 บาทต้นๆ ก็ไม่เห็นเป็นไร" เขายืนยัน อย่างไรก็ตาม
ส่วนผู้ส่งออก ต้องปรับตัวเอง โดยควรจะต่อรองการค้าเป็นค่าดอลลาร์ อย่าเป็นค่าเงินบาท
เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ผู้ส่งออกเสียเปรียบได้
แบงก์ชาติจับตา-แทรกแซงใกล้ชิด
ทางด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) วานนี้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการธปท. เป็น ห่วงแนวโน้มค่าเงินบาทระยะยาวที่อาจแข็งขึ้นอีกตามปัจจัยหลักของโลก
คือดอลลาร์สหรัฐปรับ ตัวอ่อนค่าต่อเนื่องเพราะขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ขณะนี้เพิ่มขึ้นสูงมาก
เฉลี่ย 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราสูงมาก
ธปท.ดูแลเรื่องนี้อยู่ใกล้ชิดตราบใดสหรัฐฯ ยังไม่สามารถกดดันจีนปรับค่าเงินหยวนแข็งขึ้นตามการอ่อนค่าดอลลาร์
ค่าเงินบาทและค่าเงินภูมิภาคนี้ จะแข็งขึ้นไม่ได้เช่นกัน เพราะหากปล่อยให้บาทแข็งขึ้นมาก
จะทำให้ความสามารถการแข่งขันการค้าไทยเสียเปรียบจีน และประเทศภูมิภาคอื่นๆ ได้
ค่าเงินบาท แม้จะแข็งขึ้นขณะนี้ แต่แข็งขึ้นไม่มากนัก แต่หากปล่อยตามความเป็นจริง
ค่าบาทควรจะแข็งขึ้นมากกว่าปัจจุบัน
ด้านนางทัศนา รัชตโพธิ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สายตลาดเงิน กล่าวว่าธปท.จับตาการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทใกล้ชิด มองว่า แม้เงินบาทแข็งขึ้น แต่ยังไม่มีปัญหากระทบการส่ง
ออกและความสามารถการแข่งขันของไทย เพราะค่าเงินประเทศภูมิภาคนี้อื่นๆ แข็งค่าขึ้นด้วย
สภาพัฒน์เล็งปรับเพิ่มจีดีพี 6% ปีนี้
นายจักรมณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ธปท.รายงานก.ค. ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ภาคส่งออกยังคงดีต่อเนื่อง การส่งออกก.ค. ยังเป็นเลข 2 หลัก ซึ่งถือว่ายังขยายตัวอัตราที่ดี
การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสภาพัฒน์กลางก.ย.นี้จะปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ขึ้น
ตามสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวง การคลัง
โดยสภาพัฒน์คาดเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจ ไทยจะขยายตัวทั้งปีนี้ 6% หรือใกล้ 6%
ตามที่รัฐบาลตั้งเป้า เนื่องจากไตรมาส 2 การขยายตัวเศรษฐกิจประเทศประมาณ 5% กว่า
เมื่อรวมกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ที่ 6.7% ทำให้ครึ่งปีแรก เศรษฐกิจ
ประเทศขยายตัว 6%
เขากล่าวว่าภาคส่งออกของไทยขยายตัวสูง มากช่วงครึ่งปีแรก แนวโน้มยังดีครึ่งหลัง
เป็น สาเหตุทำให้สภาพัฒน์เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ขึ้น เพราะประมาณการเดิม
คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 10%
เงินฝรั่งไหลเข้าต่อเนื่อง
นายเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ช่วยกรรม การผู้จัดการ กลุ่มสายงานตลาดทุน ธนาคาร
ดีบีเอส ไทยทนุ กล่าวว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิด จากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง
บวกนักลงทุนต่างชาติก็มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวดี จึงทำให้เงินทุนไหลเข้า
วานนี้เงินไทยเปิด 41.20 บาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวเพิ่มระหว่าง 5-10 สตางค์ ค่าเงินบาท
ค่อยๆ ทยอยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นส.ค.เป็นการ เข้ามาลงทุนหลากหลายไม่ใช่ตลาดหุ้นอย่างเดียว
บาทแข็งสุดรอบ 13 เดือน
"บาททยอยแข็งค่าขึ้น ถือว่ารับได้ ไม่ผันผวน ซึ่งแบงก์ชาติมีหน้าที่ดูอย่างเดียว
ไม่ให้ผันผวน โดยการส่งออกยังมีการขยายตัวได้ในเป้าหมาย ตราบที่เงินบาทไม่แข็งเกินประเทศคู่แข่ง
คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อยู่ในระดับ 41 บาท"
ความเคลื่อนไหวเงินบาทวานนี้ แข็งค่าสุดที่ 41.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ
13 เดือน ต่อมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าเล็กน้อยที่ 41.16-41.18 บาท จากปัจจัยสนับสนุนหลายเรื่อง
ยันยังไม่กระทบส่งออกไทย
ทั้งกรณีนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีพาณิชย์ ที่ระบุว่าเงินบาท 41 บาทไม่เป็นอุปสรรค
การส่งออกของไทย รวมทั้งข่าวดีที่กระทรวงการ คลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้
ขยาย ตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.1% เป็น 6.1% และบริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง บริษัทจัดอันดับเครดิตจากอังกฤษ
จะปรับอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวของไทยเพิ่มจาก
BBB- ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของพันธบัตรที่น่าลงทุน
ล้วนเป็นข่าวดีสนับสนุนเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักค้าเงินเตือนว่า
ถ้าเงินบาทแข็งค่าถึง 41 บาท อาจมีการเข้าแทรกแซงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เพราะเกรงกระทบการส่งสินค้าออกต่างประเทศ
คาดระยะกลาง 41.05-41.25 ต่อดอลลาร์
กรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทระยะกลาง ระหว่าง 41.05-41.25 บาท ต่อดอลลาร์ ด้านเงิน
เยน ญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นวานนี้เช่นกัน ซื้อขายที่ 117.52 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจยุ่นระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้น
และเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ทำให้ดัชนีนิเคอิสูงขึ้น แต่นักลงทุนยังไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)
จะแทรกแซง เงินเยนที่ 117 เยนต่อดอลลาร์หรือไม่ ส่วนดอลลาร์ ยังเคลื่อนไหวช่วงแคบๆ
เนื่องจากนักลงทุน ยังรอความชัดเจนตัวเลขเศรษฐกิจมะกันสำคัญอีกอย่างน้อย 2 ตัว
ฟันธงดอกเบี้ยขยับขึ้นไตรมาส 2 ปี 47
นายพงศธร คุณานุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
(บตท.) เชื่อว่าแนวโน้มดอกเบี้ยไทย จะสูงขึ้นประมาณไตรมาส 2 ปี 2547 สาเหตุหลักจากดอก
เบี้ยปัจจุบัน เชื่อว่าต่ำสุดแล้ว ประกอบกับปีหน้า กองทุนวายุภักษ์ที่รัฐบาลตั้ง
จะเปิดจำหน่ายหน่วย ลงทุน ซึ่งจะช่วยดูดซับสภาพคล่องได้จำนวนหนึ่ง
เม.ย. 2547 จะหมดช่วงประชาชนชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา สภาพคล่องระบบการเงินจะลดลง
ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่คาดว่าเป็นลักษณะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น