เงาตะวันตกโอบอุ้มกรุงศรีฯ BAYซื้อAIGCFเปิดศึก"รีเทลแบงกิ้ง"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

และแล้ว มหามิตรโลกตะวันตก "จีอี" ผู้ถือหุ้นใหญ่ ใน "แบงก์กรุงศรีอยุธยา" มรดกอันล้ำค่าของตระกูล "รัตนรักษ์" ก็ทำสิ่ง "เซอร์ไพรส์" ให้กับสายตาทุกคู่ แบบหักปากกาเซียน ที่เฝ้าจับตามองการเคลื่อนไหวของทุนตะวันตกในประเทศอยู่ทุกฝีก้าว หลังตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ ในเครือ AIG หรือ AIGCF ธุรกิจ ในกลุ่มคอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ ที่รวมถึง ธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย และ เอไอจี คาร์ด อย่างเงียบกริบ รวมเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท หลายสำนักจึงคาดคะเนว่า เงาตะวันตกที่โอบอุ้มค้ำชู "แบงก์กรุงศรีฯ" ในชั่วโมงระทึกขวัญ กำลังจะก่อสงครามในตลาดลูกค้ารายย่อย หรือ "รีเทล แบงกิ้ง" อย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน...

ไม่ใช่เรื่องที่ใครต่อใคร จะคาดคิดกันได้ง่ายๆว่า "จีอี" หรือ "ข่าน" แห่ง แวดวง "รีเทล แบงกิ้ง" จะเป็น "เจ้าบุญทุ่ม" เข้าซื้อกิจการในเครือของ AIG หรือ AIGCF เสียเอง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ "จีอี" ก็กำลังถูกจับตามองในฐานะทุนจากโลกทุนนิยม ที่น่าจะอยู่ในข่ายบาดเจ็บ บอบช้ำ จากเหตุการณ์สึนามิถล่มเศรษฐกิจโลกด้วยซ้ำไป...

ให้ดู ซิตี้ กรุ๊ป เป็นตัวอย่าง... "ซิตี้ กรุ๊ป" ถือเป็น กลุ่มสถาบันการเงินชั้นแนวหน้า ในด้านการให้บริการทางการเงินหลากหลาย รวมถึงจัดอยู่ในทำเนียบลำดับต้นๆของตลาดบัตรเครดิต หรือแม้แต่สินเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็ยังนอนหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียู ไม่ต่างจาก มหาอภิยักษ์ใหญ่ ทรงอิทธิพลในอเมริกาอย่าง AIG อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์

แต่ "จีอี" ก็ทำเอา นักวิเคราะห์ทุกสำนักต้องอ้าปากค้าง และคาดไม่ถึงจนได้ เมื่อได้แสดงแสนยานุภาพ เข้าอุ้มซากอันไร้วิญญาณของ ธุรกิจในเครือของ AIG ยักษ์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต เข้ามาเป็นสมบัติของตัวเองจนได้ในที่สุด...

ระหว่างที่ ทั้งสองบริษัทคือ ธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย และเอไอจี คาร์ด ก็กำลังเลหลัง เร่ขายทรัพย์สิน ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก หากเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น เพื่อนำเงินกลับไปคืนให้กับ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ "เฟด" อย่างทันท่วงที

เมื่อรวมทรัพย์สินของสองบริษัทกับทรัพย์สินของธนาคารที่มีอยู่ก่อน จึงทำให้ธนาคารกรุงศรีฯ มีทรัพย์สินรวม 778,000 ล้านบาท จากเดิม 742,000 ล้านบาท ขึ้นมาเป็นอันดับ ห้า มีเงินฝากเพิ่มเป็น 558,000 ล้านบาท จากเดิม 540,000 ล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15% จากเดิม 14.9%

สำคัญกว่านั้น คือ ฐานสินเชื่อรายย่อยของแบงก์กรุงศรีฯก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดด คือ จะขยายตัว เพิ่มอีก 14% รวมเป็น 36% ของสัดส่วนสินเชื่อรวมทั้งหมด ในขณะที่มีจุดหมายปลายทางในปี 2553 จะขยายพื้นที่สินเชื่อรายย่อยให้มีสัดส่วนถึง 50%

" ลูกค้ารายย่อย สร้างรายได้ให้แบงก์มากกว่า ลูกค้ารายใหญ่ เพราะลูกค้ารายใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง จึงกำหนดทิศทางรายได้ของแบงก์ได้ แต่การขยายฐานออกไปจับกลุ่มรายย่อยจะทำให้ฐานรายได้ของแบงก์กว้างขึ้น" ตัน คอง คูน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกถึงเป้าหมาย ระหว่างที่ดีลอยู่ในกระบวนการดำเนินการของทางการ

ดีลที่กำลังจะจบลง จึงทำให้ หน้าตาของแบงก์ ที่เคยเก่าแก่และเคยโฟกัสไปที่ตลาดองค์กร ลูกค้ารายใหญ่ และเอสเอ็มอี เป็นสัดส่วนหลักก็ จะถูกแปลงสภาพมาเป็นแบงก์ใหญ่ที่ครอบครองอาณาจักรลูกค้ารายย่อย ไม่ต่างจากโมเดลเดียวกับ "จีอี" แม่แบบ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์กรุงศรีฯ...

ขณะที่ก่อนหน้านี้ การเข้ามาสวมสิทธิ์แทน ตระกูล รัตนรักษ์ โดยกลุ่ม จีอี ได้ผ่านเข้ามาทาง การร่วมทุนในธุรกิจบัตรเครดิต จนท้ายที่สุด ก็เข้ามาถือหุ้นตรง หลัง "รัตนรักษ์" เปิดไฟเขียวเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แต่ถึงอย่างนั้น แบงก์กรุงศรีฯก็ยังไม่สามารถขยายตลาดรีเทล แบงกิ้งได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วยเหมือนกับ โมเดล ต้นแบบ "จีอี" ที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้นานแล้ว...

หากต้องการ ปูพื้น ทำความรู้จักกับ "จีอี" ก็ให้นึกถึง สัญลักษณ์ทางการค้า อย่างสินเชื่อรถยนต์ ในรูป สินเชื่อ เพอร์ซัลนัลโลน คาร์ฟอร์แคช หรือชื่อใหม่ กรุงศรีคาร์ฟอร์แคช สินเชื่อเงินผ่อน เฟิร์สช้อยส์ สินเชื่อควิกแคช บัตรกรุงศรี จีอี บัตรเซ็นทรัล การ์ด และบัตรเทสโก้ โลตัส

เนื่องจากวัฒนธรรมเก่าแก่ของแบงก์ไทย มักจะปูรากฐานไว้รองรับ กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอีรายใหญ่ มาตั้งแต่ในอดีต ดังนั้นในช่วงแรกของแบงก์กรุงศรีฯในร่างของ "เงาพันธมิตร จีอี" ผู้กำหนดชะตากรรม ธุรกิจรีเทล แบงกิ้ง จึงไม่ได้เดินไปได้อย่างราบรื่นเหมือนกับที่คาดกันไว้

เมื่อการเร่งอัตราเติบโตจากภายในองค์กรต้องใช้เวลานาน และแทบไม่บรรลุผล ผู้กำหนดทิศทางเดินคือ "จีอี" จึงเลือกจะขยายตัวผ่านรูปแบบการซื้อกิจการแทน เพื่อเร่งเติบโตทางลัด แบบ เร็วและแรง

เริ่มต้นจาก เมื่อปลายปี 2550 แบงก์กรุงศรีฯได้เข้าซื้อ GECAL หรือ "จีอี แคปปิตอล ออโตลีส" ธุรกิจเช่าซื้อที่มีพอร์ตรถยนต์เก่าและรถจักรยนต์ อยู่ในมือมากมายก่ายกอง อันเป็นผลจากการเข้าประมูลพอร์ตงานมาจาก องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือ ปรส.

จีอี ได้พอร์ตรถยนต์ล็อตใหญ่นั้นมาด้วย ราคาเหมือนได้เปล่า แล้วมาเก็บเงินเอาจากลูกหนี้ทั้ง 56 ไฟแนนซ์ ด้วยราคาแพง จนทำกำไรงดงาม กระทั่งพอร์ตรถยนต์เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่

นี่คือ จุดเริ่มต้นการขยายพอร์ตลูกค้ารายย่อย ของแบงก์กรุงศรีฯ ที่กำลังออกดอกออกผล เพราะการเข้าซื้อ GECAL ครั้งนั้น กรุงศรีฯถึงกับคาดหมายว่า จะเร่งให้พอร์ตขยายตัวถึง 20% หรือ คิดเป็น 90,000 ล้านบาท จากฐานสินเชื่อกว่า 450,000 ล้านบาท

ขณะที่การตัดสินใจซุ่มซื้อหุ้นของ ธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย และเอไอจี คาร์ด ก็ประเมินกันว่าจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรายย่อย กว้างใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัว จนเชื่อว่าจะไต่ขึ้นไปถึงสัดส่วน 50% ในปี 2553

โดยประเมินจาก แบงก์ เอไอจี ที่มีธุรกิจหลักเป็นสินเชื่อเช่าซื้อยนต์ สินเชื่อเอนกประสงค์ และสินเชื่อผู้ประกอบการการจำหน่ายรถยนต์หรือบรรดาดีลเลอร์ค้ารถต่างๆ

โดยสิ้นปี 2551 แบงก์เอไอจีฯ มีทรัพย์สินรวม 35,356 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 16,529 ล้านบาท เงินฝาก 18,637 ล้านบาท มี 10 สาขา มีฐานเงินทุน 3,170 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ากว่า 4 แสนราย

ขณะที่ เอไอจี คาร์ด ทำธุรกิจหลักคือ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน สิ้นปี มีรายได้รวม 1,915 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 10,246 ล้านบาท มียอดสินเชื่อ 9,300 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ากว่า 3 แสนราย

อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่ฐานธุรกิจเดิมของ ธุรกิจในกลุ่ม AIGCF ทั้ง 2 บริษัท จะพบว่า ส่วนใหญ่ฐานลูกค้ามักจะอิงอยู่กับธุรกิจในเครือเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น AIG ฝั่งประกันภัย และธุรกิจประกันชีวิตในเครือ AIG คือ AIA เป็นหลักเสียมากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเฝ้าจับตาต่อจากนี้ไปก็คือ หลังการซื้อกิจการ ทั้ง แบงก์เอไอจีฯ และเอไอจีคาร์ด มาอยู่ในกำมือของ แบงก์กรุงศรีฯเรียบร้อยแล้ว สัมพันธภาพ แน่นแฟ้น ที่เคยมีอยู่เดิมระหว่าง AIG และ AIA กับบริษัทในเครือ ที่กลายมาเป็นอดีตเพราะถูกตัดขายทิ้งไป จะเชื่อมต่อกันได้ติดเหมือนเดิมหรือไม่

หรือทุกอย่างจะจบสิ้นลง หลังจากสมบัติของ AIG ถูกขายยกล็อตไปให้กับ นายทุนหน้าใหม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น แบงก์กรุงศรีฯก็อาจจะคว้าได้เฉพาะกลุ่มลูกค้าเก่าของ แบงก์ เอไอจีฯ และเอไอจีคาร์ด ที่ยังไม่หนีไปไหน ขณะที่ลูกค้ารายใหม่คงไม่สามารถยึดโยงได้สนิทใจเหมือนแต่ก่อน

แต่ถึงอย่างนั้น การสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับแวดวงการเงิน ชนิดตั้งตัวไม่ติด ก็ทำให้แบงก์ต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ที่กำลังจดจ้องขยับขยายฐานลูกค้ารายย่อย เพื่อเพิ่มรายได้ และผลกำไรให้กับธุรกิจ ก็ต้องหันมาหาวิธีตั้งรับให้มากขึ้น...

เพราะดีล ที่กำลังจะควบรวมกันให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้ คือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า แบงก์กรุงศรีฯใน "เงาร่างมหามิตรโลกตะวันตก" คงไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสนามรบที่ร้อนแรงดุจเปลวเพลิงได้ง่ายดายนัก

โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อรายย่อย "ขุมสมบัติ" ที่มักจะทำรายได้มหาศาลให้กับ "นายทุน" จากโลกตะวันตกมานักต่อนักแล้ว...

สังเกตุได้จากชั่วโมงวิกฤตเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์มักจะย้อนรอยมาย่ำที่เดิม ในจุดที่ "โลกทุนนิยม" เคย เฟื่องฟู เบ่งบาน และกำลังล่มสลาย พังพินาศ...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.