เอไอเอส เชนจ์ มากกว่ารีเฟรชแบรนด์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

*ตลาดโพสต์เพดมือถือระอุ "ดีแทค" ซุ่มเงียบโตวันโตคืน "ทรูมูฟ" ส่ง "ไอโฟน 3จี" ขยายฐาน
*ผู้นำตลาด "เอไอเอส" อยู่เฉยไม่ได้ ปรับทั้ง "แบรนด์" ปรับทั้งแพกเกจ
*ติดโหมด แมส เซกเมนต์ มาร์เกตติ้ง หวังรักษาเบอร์ 1 อีกสมัย

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมการตลาดแรงๆ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม ส่วนใหญ่เกือบ 80-90% จะโฟกัสอยู่ที่การทำตลาดระบบเติมเงินหรือพรีเพดเป็นหลัก แต่สำหรับตลาดระบบรายเดือนหรือโพสต์เพดนั้นได้กลายเป็นตลาดที่มีขนาดตลาดอยู่ประมาณ 5,000,000-5,500,000 เลขหมาย ห่างกันหลายสิบเท่า

ก่อนหน้านี้ตลาดโพสต์เพดเป็นรายได้หลักให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากมีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอนทุกเดือน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้งานเป็นกลุ่มที่มีพลังในการใช้จ่าย จากข้อมูลรายงานผลประกอบการของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ประจำไตรมาส 3/2551 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายต่อเลขหมายต่อเดือนของตลาดโพสต์เพดมีสูงถึง 709 บาท โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการโพสต์เพดภายใต้แบรนด์ จีเอสเอ็ม แอดวานซ์รวมทั้งสิ้น 2,534,700 เลขหมาย ซึ่งหากดูจำนวนผู้ใช้บริการโพสต์เพดของเอไอเอสในช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมา เอไอเอสอยู่ระดับการประคับประคองฐานผู้ใช้ในช่วงระหว่าง 2,200,000-2,500,000 เลขหมายมาโดยตลอด

ขณะที่คู่แข่งอย่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กลับมีจำนวนผู้ใช้บริการในระบบโพสต์เพดสูงถึง 2,350,785 เลขหมาย ซึ่งถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับ 7 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนอยู่ที่ 685 บาท

การที่สถานการณ์ในตลาดโพสต์เพดของดีแทคดีขึ้นมาจนมีจำนวนผู้ใช้บริการห่างจากผู้นำตลาดอย่างเอไอเอสไม่ถึง 100,000 เลขหมาย น่าจะเป็นผลจากการรีแบรนด์โพสต์เพดใหม่ โดยให้มาใช้ feel goood ในช่วงปลายปี 2550 เป็นต้นมา สามารถปรับภาพลักษณ์และยังสามารถขยายตลาดโพสต์เพดของดีแทคให้โตวันโตคืนขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ทั้งๆ ที่ในอดีต เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ดีแทคถูกเอไอเอสทิ้งห่างในตลาดโพสต์เพดชนิดไม่เห็นฝุ่นมาแล้ว

สำหรับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด หรือทรูมูฟ ซึ่งเป็นคู่แข่งเบอร์ 3 ที่ไม่ได้เน้นกิจกรรมทำตลาดในตลาดโพสต์เพดมากนัก แต่หากดูจำนวนผู้ใช้บริการในส่วนโพสต์เพดช่วงปีกว่าๆ จะพบว่า ทรูมูฟมีจำนวนผู้ใช้บริการ ณ ไตรมาส 3 ของปี 2551 ถึง 837,000 เลขหมาย ซึ่งแม้จะดูน้อยแต่ก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด จากการที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด สามารถตกลงเป็นพันธมิตรกับแอปเปิล อิงค์จนได้รับสิทธิขาย "ไอโฟน 3จี" ในประเทศไทย ตัดหน้าเอไอเอสที่เคยปล่อยข่าวออกมาว่า กำลังเจรจากับแอปเปิลเพื่อนำเข้ามาขายในประเทศไทยที่น่าจะมีศักยภาพมากที่สุดที่จะได้รับสิทธิขายไอโฟน เนื่องจาก เอไอเอสเป็นเบอร์ 1 ทั้งจำนวนฐานผู้ใช้บริการที่มีถึง 28,000,000 เลขหมาย ทั้งตลาดโพสต์เพดและพรีเพดมานานนับสิบปี อีกทั้งยังเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องรายได้ที่สูงกว่าใครในตลาด

ประเด็นการตัดสินใจที่ทรูมูฟต้องนำไอโฟนเข้ามาทำตลาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไอโฟนสามารถสานฝันของเจ้าสัวน้อย "ศุภชัย เจียรวนนท์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ที่มองว่า ไอโฟนคือ ดีไวซ์ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว ที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเทคโนโลยีไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นไวไฟ เอดจ์ จีพีอาร์เอส รวมทั้งการเริ่มเข้าสู่บริการคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นหลากหลายของกลุ่มทรูที่ตอบสนองตรงใจแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

เรื่องนี้ "ศุภชัย" มองมาตั้งแต่วันแรกที่เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทนบริษัท เทเลคอมเอเซีย จำกัด (มหาชน) เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่ "สตีฟ จ็อบส์" ซีอีโอของแอปเปิล อิงค์ จะกระโจนเข้าทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมี "ไอโฟน" เป็นหัวหอก เสียอีก

"ไอโฟน 3 จีจะทำให้คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์เกิดขึ้นจริงๆ ในเมืองไทย โดยจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากมาย" ศุภชัย กล่าว

ขณะที่ทางสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กล่าวว่า แผนการตลาดของทรูมูฟในปีนี้นั้น ทางทรูมูฟจะเน้นการทำตลาดโพสต์เพดเป็นพิเศษ โดยคาดว่า ตลาดโพสต์เพดทั้งตลาดน่าจะมีถึง 6 ล้านเลขหมาย ซึ่งทรูมูฟเองมีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 1,000,000 เลขหมาย หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของตลาดรวม

"ถือว่าต่ำมาก ทางทรูมูฟจึงพยายามออกแพกเกจจูงใจในกลุ่มลูกค้าโพสต์เพด ได้แก่ การออกจำหน่ายเครื่องไอโฟน การรุกลูกค้าองค์กร รวมทั้ง การให้โปรโมชั่นโทร.เป็นกลุ่ม แต่ยังไม่สามารถจะประเมินได้ว่าจะเติบโตได้กี่เปอร์เซ้นต์ในปีนี้ เพราะตลาดกลุ่มลูกค้าโพสต์เพด ทรงตัวมา 2-3 ปีแล้ว ดังนั้นการเติบโตก็คงจะเป็นลักษณะดึงลูกค้าโพสต์เพดจากค่ายอื่น"

การเคลื่อนไหวของทรูมูฟในตลาดโพสต์เพด นอกจากเปิดตัวไอโฟน 3จี ที่เป็นแผนแรกในการสร้างตลาดโพสต์เพดของทรูมูฟแล้ว ล่าสุด ทรูมูฟได้เปิดตัว ซิมธุรกิจ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าองค์กรโดยสามารถใช้เลขหมายโทรภายในองค์กร ชำระรายเดือนเพียง 69 บาทต่อเลขหมาย โดยสามารถโทร.ฟรีระหว่าง 08.00-17.00 น. แต่หากโทร.นอกเครือข่ายจะคิดนาทีละ 1.25 บาทต่อนาที โดยหากซื้อซิมธุรกิจ จะได้แถมไวไฟใช้ฟรีไม่อั้น และได้เพิ่มความเร็วไฮสปีดอินเทอร์เน็ตภายในองค์กรสูงสุด 3 เท่า โดยโปรโมชั่นนี้มีผลถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2552 โดยทางทรูมูฟคาดหวังว่า จะมีกลุ่มลูกค้าทรูที่ใช้โทรศัพท์พื้นฐานแล้ว จะใช้มือถือควบคู่กันไป ประมาณ 1 ใน 3 จากปัจจุบันที่ใช้โทรศัพท์พื้นฐานของกลุ่มทรู 500,000 ราย

ท่ามกลางสภาพตลาดที่คู่แข่งเบอร์ 2 เบอร์ 3 ที่ค่อยๆ สร้างฐานตลาดผู้ใช้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบพรีเพด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานมาเข้าสู่ระบบพรีเพดที่ต้องการควบคุมค่าโทร. รวมถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นตลาดที่ดีแทคและทรูมูฟมีความเข้าใจถึงพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ค่อนข้างดีกว่าเอไอเอส ทั้งๆ ที่มีแบรนด์ วัน-ทู-คอล! ที่เจาะตลาดดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทางเอไอเอสไม่ได้ขยายตลาดในแนวลึกลงไปในแต่ละเซกเมนต์ที่มีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะค่าโทร.ที่วัน-ทู-คอล! ไม่ได้ลงมาเล่นในเกมนี้มากนัก เหมือนคู่แข่งอย่างดีแทคและทรูมูฟที่ต่างมีลูกเล่นลูกชนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนสามารถสร้างแฟนพันธุ์แท้ในกลุ่มของตัวเองขึ้นมา

"ผมยืนยันว่าเอไอเอสยังเป็นที่หนึ่งในตลาดโพสต์เพด โดยมียอดลูกค้าสะสมประมาณ 2,500,000-2,600,000 ราย และมีรายได้ต่อเลขหมายประมาณ 700 บาท สูงกว่าคู่แข่งแน่นอน" สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวยืนยันถึงความเป็นผู้นำในตลาดโพสต์เพดภายใต้แบรนด์ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์"

สมชัย กล่าวถึงสภาพตลาดโพสต์เพดว่า เอไอเอสเชื่อว่าตลาดโพสต์เพดยังมีอนาคต เพียงแต่ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์บางรายใช้วิธีการแจกซิมฟรีเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างตัวเลขฐานลูกค้า ทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก แต่สำหรับเอไอเอสแล้วจะหาลูกค้าโพสต์เพดที่มีการใช้งานจริง ซึ่งเห็นได้จากรายได้ต่อเลขหมายลูกค้าโพสต์เพดเอไอเอสสูงกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นประมาณ 35%

"ซิมฟรีไม่ทำให้เกิดรายได้จริง แต่ส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวม"

ท่ามกลางสภาพตลาดที่นักการตลาดของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มองว่า ตลาดปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว จำนวนผู้ใช้เริ่มอิ่มตัว ทำให้แนวทางการขยายตลาดโดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่างเอไอเอสจำเป็นต้องมองหาช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่ได้เน้นทำตลาดมาก่อน อย่างตลาด "เฟิร์สจ๊อบเบอร์" ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ใช้ก้าวจากวัยนักศึกษาเข้าสู่วัยทำงาน

สมชัย กล่าวต่อว่า ในแต่ละปี เอไอเอสเชื่อว่าจะมีลูกค้าโพสต์เพดในกลุ่มที่อัปเกรดตัวเองจากพรีเพด เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ก้าวขึ้นมาทำงานหรือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการติดข้อจำกัดของระบบเติมเงิน โดยกลุ่มนี้จะมีประมาณ 1,500,000 คนต่อปี ซึ่งเอไอเอสมีเป้าหมายต้องมีส่วนแบ่งลูกค้าในส่วนนี้ 50% หรือ 750,000 คน

และเพื่อเป็นการรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโพสต์เพดให้ยั่งยืนต่อไป ประกอบกับต้องการรุกเข้าสู่เซกเมนต์ใหม่ของเอไอเอสจึงจำเป็นที่จะต้องทำการขยับแคมเปญการตลาดในแบรนด์ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" ให้มีความคึกคักมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึงปี เอไอเอสได้ทำการปลุกจิตวิญญาณแฟนพันธุ์แท้ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" รุ่นแรกๆ ด้วยการดึง "นิโคล เทริโอ" พรีเซนเตอร์รุ่นแรกๆ มาเป็นพรีเซนเตอร์อีกครั้ง เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนรุ่นเก๋าได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงใจของคนรุ่นใหม่ ฐานลูกค้าใหม่เข้าสู่ระบบโพสต์เพดได้

ด้วยเหตุนี้ ทางเอไอเอสจึงมองว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแบรนด์ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" เสียที หลังจากค่อยๆ ทำการรีเฟรชแบรนด์อย่างวัน-ทู-คอล! กับ "สวัสดี" มาแล้ว

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอไอเอสถือเป็นฤกษ์งามยามดี ทำการรีเฟรชแบรนด์ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" อีกครั้ง โดยครั้งนี้ทางเอไอเอสได้ทำการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ เป็น จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สมาร์ทไลฟ์"

จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สมาร์ทไลฟ์ เป็นแบรนด์ที่ทางเอไอเอสผสมผสานระหว่างอีคิวกับไอคิวเข้าด้วยกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เพียงในเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หมายถึงฉลาดที่จะสร้างสรรค์รูปแบบในการใช้ชีวิตใหม่ๆ (Creative) ที่เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น ไม่หยุดนิ่ง (Enthusiastic) รวมถึงเป็นผู้นำกระแสเสมอ (Trend Setter) ที่สำคัญเป็นผู้ที่รู้ใจ เข้าใจ พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ปรึกษาที่ดีอยู่ตลอดเวลา (Open)

"เป้าหมายของจีเอสเอ็มในการก้าวไปอีกขั้นครั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าด้วยศักยภาพของเอไอเอส ทำให้เราสามารถที่จะมอบบริการที่ทำให้การใช้ชีวิตของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ผ่านการเชื่อมต่อได้ตลอดเวลาแบบไร้ขีดจำกัด" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวอีกว่า การที่จะรักษาความเป็นผู้นำนี้ไว้ได้ เอไอเอสต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเวลาที่ผ่านไปย่อมหมายความถึง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม การบริหารแบรนด์ของเอไอเอส จึงต้องมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว ทั้งในแง่ของภาพลักษณ์ (Emotional) และประโยชน์การใช้งาน (Functional) ควบคู่กัน ดังเส้นทางของจีเอสเอ็มที่เริ่มต้นตั้งแต่การเน้นถึง Functional Benefit คือ ความครอบคลุมของเครือข่ายผ่าน "จีเอสเอ็ม 2 วัตต์" จากนั้นเริ่มเข้าสู่ยุคของบริการเสริมด้วย "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" ต่อด้วยการเริ่มทำเซกเมนเตชั่นกับ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ อีโวลูชั่น" มาจนถึง "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ ตัวคุณ จีเอสเอ็มของคุณ" ที่ตอกย้ำเรื่องของคุณภาพ และในวันนี้เราได้ก้าวมาสู่อีกขั้นของพัฒนาการคือ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สมาร์ทไลฟ์ เลือกสิ่งที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ"

จากพฤติกรรมของเซกเมนต์ใหม่ที่เอไอเอสต้องการเข้าถึงที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน การใช้ชีวิตมีทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวทำให้ต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ทั้งที่เป็นวอยซ์และนอนวอยซ์ ที่สำคัญต้องสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลว่าเงินหรือวันจะหมด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเสริมสถานะของตนเองในฐานะผู้ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะการใช้โพสต์เพดเสมือนหนึ่งการได้รับเครดิต

ดังนั้นที่ผ่านมาเอไอเอสจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการ สร้างรูปแบบของอัตราค่าบริการที่เหมาะสม สอดคล้องและตรงกับความต้องการใช้งานอย่างแท้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้ GSM advance ยังคงรักษาความเป็น Brand อันดับ 1 ในตลาดโพสต์เพดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้งานสูง เน้นเรื่องคุณภาพ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มลูกค้าองค์กรด้วย

สมชัย กล่าวด้วยว่า การขยายแนวรบตลาดโพสต์เพดลงไปยังกลุ่มที่มีอายุน้อยลงดังกล่าว เอไอเอสใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า แมส เซกเมนต์ มาร์เกตติ้ง ด้วยการทำการเปลี่ยนใน 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง รีเฟรชแบรนด์จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ใหม่ให้เป็นจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สมาร์ทไลฟ์ ให้ดูดี สดใสมากขึ้นเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เด็กลง แต่ที่สำคัญต้องไม่ทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมเสียความรู้สึกหรือรู้สึกแย่กับรูปลักษณ์ใหม่ของแบรนด์

"สอง ต้องมีรูปแบบอัตราค่าบริการที่จับต้องได้และต้องตอบทุกโจทย์ ทุกความต้องการลูกค้า โดยใช้หลักการเหมือนการปรุงอาหารที่สามารถเลือกเครื่องปรุงที่ชอบได้ หมายถึงลูกค้าสามารถเลือกจับคู่ความต้องการที่หลากหลายเพื่อผสมเป็นอัตราค่าบริการที่ต้องการได้"

สำหรับรูปแบบบริการของจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สมาร์ทไลฟ์ นั้นได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดค่าบริการแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยใช้แนวคิดเรื่อง Mix & Match ที่ประกอบด้วย Smart Mix & Match โปรโมชั่นแนวใหม่ที่ให้ผู้ใช้บริการออกแบบได้เองตามรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผสมได้มากกว่า 50 แบบ และเป็นโปรโมชั่นเดียวเท่านั้นที่ให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดมารวมกัน โดยไม่ต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป เริ่มจาก ขั้นแรก ต้องเลือกแพกเกจเริ่มต้นที่เรียกว่า Smart Basic ก่อน โดยมีอัตราค่าโทร.ให้เลือกตามปริมาณความต้องการใช้งาน เริ่มต้นที่ไซส์เอส จ่าย 200 บาท โทร.ได้ 200 นาที ไซส์เอ็ม จ่าย 400 บาท โทร.ได้ 400 นาที ไซส์แอล จ่าย 600 บาท โทร.ได้ 600 นาที ขั้นที่ 2 เลือก Smart Topping ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบค่าโทร.เพิ่มขึ้นตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา อาทิ โทร.กลางวัน, โทร.กลางคืน, โทร.วันหยุด, โทร.เป็นกลุ่ม หรือเบอร์คนพิเศษ รวมถึงแพกเกจนอนวอยซ์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนผสมได้ตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถเลือกบริการคอนเทนต์ ที่เรียกว่า Smart Value โดยผู้ใช้บริการจะได้รับคอนเทนต์ฟรีหลากหลาย หมุนเวียนมาให้เลือกได้ฟรี โดยในช่วงแรกนี้เป็นเพลงสากลจาก 3 ค่ายอินเตอร์ฯอย่างโซนี่ วอร์เนอร์มิวสิค ยูนิเวอร์แซล พร้อมสิทธิพิเศษจากเอไอเอสพลัส, และยังมีบริการพิเศษที่เรียกว่า Smart Service ด้วย Promotion Assistance ที่จะช่วยมอบคำแนะนำในการเลือกโปรโมชั่นให้อย่างใกล้ชิดภายใน 6 เดือนแรกที่เริ่มเข้ามาใช้บริการ รวมถึง E-Channel ช่องทางที่ให้เลือกใช้งานได้แบบง่ายสุดๆ และเอ็มเพย์ สเตชั่น มากกว่า 10,000 จุด ที่พร้อมรับชำระค่าบริการได้อย่างสะดวกสบาย และ Smart Convenience ที่มั่นใจได้ว่าโลกแห่งการสื่อสารของลูกค้าจะไม่มีวันขาดตอน เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเงินหมดหรือวันหมด

สมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า เอไอเอสเตรียมงบการตลาดสำหรับใช้ในการรีเฟรชแบรนด์ จัดกิจกรรมต่อเนื่อง รวมถึงการปรับแต่งช่องทางจำหน่ายไว้ประมาณ 70 ล้านบาท โดยยังไม่รวมหนังโฆษณา

ทางด้าน ฮุย เว็ง ชอง รองกรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส กล่าวว่า แม้ว่าในปีนี้กระแสของวิกฤตเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน แต่ เอไอเอสมองว่าการให้บริการโทรศัพท์มือถือจะยังสามารถเติบโตได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับเอไอเอสแล้วนโยบายสำคัญคือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้บริโภค โดยในภาพรวมนั้นกลยุทธ์หลักๆ ในการสร้างการเติบโตและรักษาความเป็นผู้นำ ประกอบด้วย การขยายตลาดไปยังต่างจังหวัด, เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น, พัฒนาบริการ อี-ท็อป อัปให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น, ขยายการเติบโตของนอนวอยซ์และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้บริการ รวมถึงการบริหารโปรดักส์แบรนด์ให้เข้าถึงและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโพสต์เพดหรือพรีเพดที่ต้องมีความไดนามิกอยู่เสมอ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.