|
ชำแหละหนี้เสียแบงก์พุ่ง! บัตรเครดิตค้างเพิ่มหมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(16 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ชำแหละเอ็นพีแอลแบงก์พาณิชย์ ส่วนใหญ่ยอดพุ่ง โดยเฉพาะแบงก์เล็กถึงกลาง "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์" แชมป์ ยอดเพิ่มขึ้น 100% ธนาคารนครหลวงไทยมูลหนี้เพิ่มขึ้น 4 พันล้าน ขณะที่ยูโอบีไม่น้อยหน้าหนี้พุ่ง 16.33% เฉพาะยอดรวมบัตรเครดิตสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเกือบหมื่นล้านหรือ 5.55%
จากข้อมูลไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย พบว่าปริมาณเอ็นพีแอลในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลดลง 20,437 ล้านบาท หรือลดลง 8.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจุบันในสิ้นเดือนธ.ค. หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 217,561 ล้านบาท การลดลงของยอดรวมเกิดขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางรายยอดลดลงดึงยอดเอ็นพีแอลโดยรวมลดลงตาม
แต่หากพิจารณาไส้ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย พบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เพิ่มขึ้น 100.75% หรือคิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 135 ล้านบาท จากยอดคงค้าง 269 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือสิ้นปี 50 ที่มียอดคงค้างแค่ 134 ล้านบาท รองลงมาธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย 86.59% เพิ่มขึ้น 226 ล้านบาท จากยอดคงค้างปัจจุบัน 487 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทยเพิ่มขึ้น 54.65% คิดเป็นเงิน 4,352 ล้านบาท ถือมีปริมาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบด้วย และปัจจุบันมียอดคงค้าง 12,315 ล้านบาท
ธนาคารไทยธนาคารเพิ่มขึ้น 52.56% หรือเพิ่มขึ้น 1,870 ล้านบาท ยอดคงค้างที่มีอยู่ 5,428 ล้านบาท ทิสโก้เพิ่มขึ้น 31.79% หรือคิดเป็นเงิน 399 ล้านบาท จากยอดคงค้างในปัจจุบัน 1,654 ล้านบาท ยูโอบีเพิ่มขึ้น 16.33% หรือมูลค่า 554 ล้านบาท ยอดคงค้าง 3,947 ล้านบาท สินเอเซีย 12.57% หรือเพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท จากยอดคงค้าง 1,666 ล้านบาท ส่วนไทยเครดิต เพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 10% หรือคิดเป็น 6 ล้านบาท จากสิ้นปี 51 ที่มียอดคงค้างอยู่ 66 ล้านบาท ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์เพิ่มขึ้น 9.29% หรือเพิ่มขึ้น 21 ล้านบาท ที่มียอดคงค้าง 247 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5.96% เพิ่มขึ้น 1,334 ล้านบาท จากยอดคงค้างในปัจจุบัน 23,735 ล้านบาท
"กรุงศรีฯ-กสิกรฯ-กรุงไทย" ลด
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีปริมาณเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุด คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดลง 27.44% หรือลดลง 8,257 ล้านบาท จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 51 อยู่ที่ 21,838 ล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารเกียรตินาคินในสัดส่วน 25.27% หรือเป็นเงินลดลง 1,471 ล้านบาท กสิกรไทยลดลง 13.85% ลดลง 2,185 ล้านบาท จากยอดคงค้าง 13,591 ล้านบาท กรุงไทย 13.01% คิดเป็นเงินที่ลดลง 8,780 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนเงินเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุดในระบบ จากปัจจุบันมียอดคงค้าง 58,712 ล้านบาท ธนาคารทหารไทยลดลง 12.63% หรือคิดเป็น 4,577 ล้านบาท ยอดคงค้าง 31,654 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพลดลง 10.18% คิดเป็นเงิน 3,501 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 30,890 ล้านบาท และธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อยมีหนี้ลดลง 4.35% หรือลดลง 6 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 132 ล้านบาท
หนี้บัตรเครดิตน่าเป็นห่วง
หากเข้าไปดูเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุดสิ้นปี 51 พบว่า ในระบบสถาบันการเงินมียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 1.89 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี50 จำนวน 9.95 พันล้านบาท คิดเป็น 5.55% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไทย 7.78 พันล้านบาท และนอนแบงก์ 3.60 พันล้านบาท ส่วนปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 9.84 แสนล้านใบ คิดเป็น 8.20%
ขณะที่ยอดเอ็นพีแอลในธุรกิจบัตรเครดิตที่มีทั้งสิ้น 5.19 พันล้านบาท ลดลง 659 ล้านบาท คิดเป็น 11.26% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผู้ประกอบการต้องการตัดภาระหนี้เสียออกจากบัญชีทันทีแล้วส่งผ่านไปให้ฝ่ายติดตามหนี้ดำเนินการต่อ ซึ่งจะเป็นการติดตามทวงถาม หรือปรับโครงสร้างหนี้ตามแต่กรณี เพื่อไม่ให้เห็นตัวเลขหนี้เสียค้างอยู่จำนวนมาก และการติดตามทวงหนี้ที่เข้มข้นและรวดเร็ว จะทำให้มีโอกาสได้รับหนี้คืนมากขึ้น
"ถ้าพิจารณาจากยอดการใช้จ่าย พบว่า ในส่วนของการเบิกเงินสดล่วงหน้า ถือเป็นการจับจ่ายใช้สอยล่วงหน้าแล้วค่อยผ่อนคืนภายหลังก็มียอดใช้เพิ่มขึ้น 501 ล้านบาท คิดเป็น 2.66% ซึ่งมีเพียงธนาคารพาณิชย์มียอดลดลง 56 ล้านบาท ขณะที่นอนแบงก์และสาขาธนาคารต่างชาติ เพิ่มขึ้นไม่มากนัก คือ 507 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท ตามลำดับ"
เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 2.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.73 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8.18% ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นมากสุดในระบบ 1.69 หมื่นล้านบาท และนอนแบงก์เพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท ในขณะที่เอ็นพีแอลในกลุ่มนี้ลดลง 992 ล้านบาท หรือลดลง 10.73% จากยอดคงค้างเอ็นพีแอลที่มี 8.25 พันล้านบาท
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตในธนาคารพาณิย์ขนาดเล็ก นายกฯ ได้กำชับให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายอำพน กิตติอำพน เลขาฯ สภาพัฒน์ ไปติดตามปัญหาดังกล่าวก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|