"BRAND LOYALTY จะมีความสำคัญน้อยลงกลไกราคาจะมีบทบาทมากขึ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวโน้มของปีหน้า ภาวะเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ผู้บริโภคบางส่วนยังมีกำลังซื้อไม่มากนัก หรือยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ปี 1987 เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัว แต่จะหดตัวในปี 1988 และจะกระทบไปทั่วการแข่งขันของสินค้าอุปโภคบริโภคจะสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยจะส่งผลในช่วงปลายปี แต่ผมคิดว่าในประเทศอาเซี่ยนแล้ว ประเทศเราจะขยายมากที่สุด รองลงมาก็มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

ในด้านการลงทุน ผลจากการตกลงของราคาหุ้นทั่วโลก คงจะทำให้นักลงทุนระงับการลงทุนบางส่วนลง ประเทศไทยเราโชคดีที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเมื่ออุตสาหกรรมทั่วโลกถดถอย การที่เราเลี้ยงตัวเองได้ก็ช่วยเราได้มาก แต่สิ่งที่จะกระทบเราก็คืออัตราการเจริญเติบโตของประเทศอื่น ๆ ลดลง สินค้าส่งออกก็กระทบกระเทือนอุตสาหกรรมภายในของเราเอง

ขณะนี้เราใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในระบบ BASKET ค่าเงินบาทของเราตอนนี้มีเสถียรภาพดี เราก็จะต้องรักษาค่าของเงินบาทในระดับนี้เอาไว้ให้ได้ ถ้าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง เงินบาทของเราเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ก็จะแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของเราดีขึ้น

อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ทุกแขนง ทำนายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะหดตัวลง บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มจะรัดเข็มขัดมากขึ้น ก็จะต้องหาทางทำให้สินค้าคงเหลือเหมาะสม วิธีการก็คือเพิ่มกำไร โดยมีแนวทางว่ายอดขายคงจะน้อยลง แต่กำไรไม่ลดลงหรือลดลงน้อยที่สุด

แนวทางการดำเนินการของร้านค้าปลีกในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค ในปีหน้าคงจะมีการตัดราคากันมาก และจะเน้นการขายเงินผ่อนเอากำไรจากดอกเบี้ย เพราะขายเงินสดไม่ค่อยมีกำไร พื้นฐานที่ว่ากำไรน้อย ๆ ขายมาก ๆ แล้วได้กำไรมาก จะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป

ส่วนแนวทางในเชิงรุกนั้น ร้านค้าปลีกคงจะทำอะไรได้ไม่มากนัก อย่างฟู้ดแลนด์เขาก็พยายามขยายสาขาไปหลาย ๆ จุด นอกจากจะหาทางออกที่จะให้บริการลูกค้าตามทำเลต่าง ๆ แล้วเขาก็เชื่อว่าในการขายมากขึ้น อำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตจะดีขึ้น

แนวโน้มอย่างหนึ่งที่เมืองไทยยังไม่มีก็คือ ร้านค้าปลีกควรที่จะตั้งหน่วยจัดซื้อรวมกัน ขณะนี้ร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ยังไม่มีอำนาจในการต่อรองมากนัก แต่ในยุโรปทำกันมานานแล้ว ร้านค้าปลีกจะรวมกันจัดตั้งเป็นบริษัท ต่อรองกับผู้ผลิตใหญ่ ๆ เพื่อจะได้ราคาถูก กำไรมากขึ้น หรือได้ของมากขึ้น ในแง่กับซัพพลายเออร์ ก็สามารถต่อรองได้ราคาถูกลง เพราะซื้อเป็นจำนวนมาก

ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยจะทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีใครทำ แต่ก็น่าจะทำได้ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ง่าย เพราะร้านค้าปลีกในบ้านเรากระจัดกระจาย ไม่สามัคคี อีกประการหนึ่งก็มีลักษณะตัวใครตัวมัน และที่สำคัญไม่มีใครเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการเรื่องนี้

พฤติกรรมผู้บริโภคในสองสามปีข้างหน้านี้จะเปลี่ยนไปมาก แนวโน้มการใช้เงินจะละเอียดอ่อนมากขึ้น เรื่องบรรจุภัณฑ์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ กลไกราคา จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากขึ้น เพราะมีการแข่งขันมากกว่าเดิม

BRAND LOYALTY จะมีความสำคัญน้อยลง กลไกราคาจะมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันกันมาก แนวโน้มอย่างนี้ในยุโรปมีมานานแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของสินค้าส่วนใหญ่จะยังคงไม่แตกต่างกัน นาน ๆ เข้า LOYALTY จะไม่มีความหมาย ถ้าคุณภาพสินค้ายังคงแน่นอนเหมือนเดิม ราคาถูกก็ยังขายต่อไปได้ ส่วนการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังคงต้องมีอยู่

ตลาดที่มีแนวโน้มจะโตขึ้นในปีหน้า ก็คือตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาสุขภาพ เพราะคนไทยจะกระตือรือร้นในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และจะใช้จ่ายในด้านนี้มากขึ้น

ถึงแม้ความสำคัญของ BRAND LOYALTY จะลดน้อยลงไป แต่ยังคงไม่กระทบกระเทือนโฆษณา เพราะบริษัทส่วนใหญ่ก็คงจะต้องโฆษณาย้ำความทรงจำที่มีต่อสินค้าแก่ผู้บริโภคอยู่ นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ไม่แคร์เรื่อง BRAND มากนัก เพราะมีสินค้าให้เลือกหลายชนิด หลายยี่ห้อในสายผลิตภัณฑ์เดียวกัน

สำหรับสินค้าบางชนิดที่ความเชื่อถือของ BRAND ในสายตาผู้บริโภคลดต่ำลงก็จะต้องสร้างสิ่งดึงดูดใจให้ดีขึ้น อย่างเช่นโฆษณาสบู่ลักส์ใหม่ คุณจะเห็นว่าเขาปรับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งเลย คุณจะเห็นว่าเขานำเสนอแบบเครื่องสำอาง แบบไฮ-คลาสขึ้น ทำเป็น CALLECTION เหมือน ESTE ELAUDER จะเห็นว่าฉีกแนวไปเลย ซึ่งต่อไปต้องหาจุดขายที่ทันสมัยยิ่งกว่านี้

ในระยะหลังที่มีการ SEGMENTATION มากขึ้น อันไหนที่ไปไม่รอดก็ต้องเลิกไปโดยปริยาย แต่ทำให้ผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการเฉพาะส่วนของผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อหาทางออกไม่ได้ก็ต้องขยายออกมา ปีหน้าเราคงจะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้เศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็ทำให้ผู้บริโภคยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองขึ้น เช่น อาบน้ำวันละครั้งก็เป็น 2-3 ครั้ง ไม่เคยใช้สบู่ก็ใช้สบู่ ตลาดปกติจะขยายตลอดเวลา เด็กที่เกิดใหม่นี่ต้องใช้ผงซักฟอก ใช้สบู่เบบี้จอห์สันแล้ว ต้องใช้ผ้าอ้อมแบบกระดาษ พลเมืองที่เกิดมาไม่ว่าที่รามา จุฬาฯ พอเกิดมาก็เป็นผู้บริโภคแล้ว

จะเห็นว่าสินค้าก็มีวงจรมีวัฏจักรของมัน เมื่อผมยังหนุ่มก็มี BLUE JEANS แล้วก็ตายไปพักหนึ่ง เมื่อ 7 ปีก่อนมาอีกแล้ว TEXT WOOD ดึงดูดทุกสังคม ตอนนี้ยีนส์ก็ซา ๆ แล้วนี้ MINI SKIRT มาอีกแล้ว มันเป็นวัฏจักร อยู่ที่ว่าใครจะจับแนวในช่วงนั้นได้ดีแค่ไหน

ส่วนอาหาร แนวโน้มจะต้องเป็น CONVENINCE FOOD สินค้าสำเร็จรูปจะมาเรื่อย ๆ และผู้บริโภคก็จะพยายามหาที่สะดวกขึ้น สบายขึ้น ง่ายขึ้น มีศักดิ์ศรี มีความสุขมากขึ้น เมื่อหาทางออกไม่ได้ก็ต้องขยายออกมา ปีหน้าการโฆษณานี่จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการแข่งขันมีมาก เศรษฐกิจดีหรือไม่ก็ต้องยิ่งโฆษณา ถ้ากลับไปดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าบางปีเท่านั้นที่ถดถอย ปกติแนวโน้มมันจะต้องเพิ่ม และคิดว่ามีเดียจะขยายมากขึ้น ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ แนวโน้มอะไรต่าง ๆ ก็ขยับขยายมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.