"ฐานะของคนเมืองใหญ่ดีขึ้น เขาจะใช้สินเชื่อรายบุคคลมากขึ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมคิดว่าตลาดเงินในเมืองไทยปีหน้า ก็คงจะเติบโตไม่แพ้ในปีนี้ เพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเรายังดี แล้วก็คงจะดีต่อไป ปีนี้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลาย ๆ อย่างดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านทอผ้า การ์เมนต์ อุตสาหกรรมเพื่อส่งออกต่าง ๆ และอุตสาหกรรมที่สืบเนื่องกันก็ดีขึ้นด้วย สินค้าของเราพวกนี้ยังคงจะขายออกได้ เนื่องจากความได้เปรียบที่ต้นทุนและคุณภาพแรงงานที่ดีกว่าของเรา นอกจากนั้นมาตรการอัตราแลกเปลี่ยนของเราต้องถือว่าดี เป็นปัจจัยที่เสริมให้สินค้าขายได้ เป็นไปได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมใหญ่อย่างกรณีเช่น BLACK MONDAY ผลของมันอาจจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังไม่พุ่งหรืออาจจะลดต่ำลงมานิดหนึ่ง ทำให้เขาซื้อสินค้าน้อยลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาต้องซื้อสินค้าจากไทยน้อยลง เขาจะต้องซื้อของที่แพงกว่าน้อยลง เราได้เปรียบทั้งต้นทุนและแรงงาน

อุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ก็ดีแน่ ๆ เพราะว่าคนมีงานทำ มีอำนาจในการซื้อ เพราะฉะนั้นเมื่อดีต่อไปความต้องการเงินกู้ก็คงจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ขึ้นไปบ้าง

สำหรับเงินฝากก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ เพราะว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ดีขึ้น คนไทยเป็นคนที่รักการออมพอสมควร และหนทางที่ใหญ่ที่สุดของการออมเงินที่ดีที่สุดก็คือเงินฝาก เพราะฉะนั้นตลาดเงินก็จะเป็นตลาดที่หมุนคล่อง ดังนั้นในแง่สภาพคล่องควรจะดีขึ้น คือตอนนี้คล่องมาก อาจจะตึงขึ้นเล็กน้อยในปลายปี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเงินตึงตัว เพราะสมัยที่เกิดเงินตึงตัว เป็นเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศขึ้นมาสูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้เงินกู้ต่างประเทศถ่ายออก

เพราะฉะนั้นเงินคงจะยังหมุนคล่อง เงินฝากคงจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่แล้วเพราะเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ช่องทางออมเงินก็มี มีเงินฝาก ออมเงินขึ้นได้อีก มีเงินสำหรับมาหมุนธุรกิจได้อีก เพราะฉะนั้นตลาดการเงินจะมีเงินมาหมุนเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เงินตึงตัวไม่ต้องห่วง เพราะถ้าเงินในประเทศหมดไป ก็ยังสามารถดึงเงินจากต่างประเทศมาใช้ได้อีก

สถานการณ์เงินบาทใน BASKET CURRENCY เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ที่ผ่านมา ถ้าเทียบกับดอลลาร์ เหมือนกับว่าเงินบาทแข็งขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้ามองโดยทั่วไป ถึงประเทศอื่นที่ซื้อของจากเราด้วย ค่าเงินบาทลดในแง่ของผู้ซื้อเป็นชาวญี่ปุ่น เยอรมัน ยุโรป สินค้าของเราถูกลง หรือในอีกแง่หนึ่งค่าเงินบาทเราลดลงเมื่อเทียบกับของเขา ดังนั้นการที่ค่าเงินบาทตอนนี้ผูกกับดอลลาร์มากทีเดียวจะแข็งตัวขึ้นก็ แสดงว่า CONCEPT ของ BASKET ไม่ได้เปลี่ยนแต่อัตราของ RATE มันจะเปลี่ยนไปตลอด และการเปลี่ยน RATE ก็เปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนเพื่อส่งออกได้ดีขึ้น จะเห็นว่ารัฐบาลยังคงใช้นโยบายนี้อยู่เพื่อควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้สูงกว่าดอลลาร์มากนัก เพราะจะทำให้ขายสินค้าไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเศรษฐกิจในอเมริกา ทำให้เขาซื้อสินค้าน้อยลง ก็จะไปประเทศอื่นก่อนประเทศไทย

ในแง่ของด้านของตลาดทุน เราจะไม่นำตลาดทุนเมืองไทยไปผูกกับตลาดสหรัฐเต็มที่ ขณะนี้คิดว่าผลกระทบจากตลาดเมืองนอกประเทศคลายตัวไปมากแล้ว สิ่งที่ต้องดูก็คือพื้นฐานในประเทศเป็นอย่างไร ปัจจัยต่าง ๆ ในประเทศเป็นอย่างไร สินค้าในตลาดเป็นอย่างไร จะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ปีที่แล้ว กิจการอะไรก็ตามที่จะไม่ดี ที่จะเสียหาย ก็ไม่ให้ซื้อขาย ส่วนสินค้าที่ดีก็คือ หุ้นของกิจการที่มีกิจการดำเนินแท้ ๆ เป็นกิจการที่ดำเนินอย่างมีกำไร มีฐานะ มีอนาคต ถ้าในกระดานสองก็เป็นกิจการที่มีอนาคต เริ่มมีกำไรแล้ว ถึงแม้จะมีกำไรสะสม ขาดทุนสะสมนอกจากสินค้าก็คือการดุแลของตลาดหลักทรัพย์ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูแลตลอดเวลาให้ข่าวตลอดเวลา อะไรที่ผิดหรือถูกเขาก็บอก อีกประการหนึ่งก็คือดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ คนมีเงินเอาไปฝากก็ได้ดอกเบี้ยไม่มาก ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่น้อยกว่า

เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องตอบได้ว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งอย่างแท้จริง คือถ้าต้องการ STEADY INCOME ก็ได้จากเงินปันผลแน่นอน แต่ถ้าคิดว่าเงินปันผลน้อยไปก็มีทางเลือกไปลงทุนในหุ้นดี ๆ ที่มีอยู่ในตลาดฯ เพื่อแสวงหา CAPITAL GAIN

การเติบโตของตลาดทุนเมื่อเทียบกับตลาดเงินจะเป็นเท่าไร? และจะให้ความเชื่อมั่นว่าตลาดทุนจะมีอัตราการเติบโตกว่าตลาดเงินแค่ไหน อย่างไร ผมยังตอบได้ยาก เพราะที่ผ่านมาตลาดทุนพึ่งการเติบโตที่เครื่องมือตัวเดียว คือ หุ้น ตลาดทุนไม่ได้จับจิตวิทยาที่ว่า คนที่มีเงินนอกจากนำเงินมาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนการลงทุนแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งที่หวังรายได้ประจำที่เรียกว่า STEADY INCOME ที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าเงินฝาก ซึ่งเป็นจุดที่ว่าตลาดทุนควรจะมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่จะนำมาใช้ค้าขายในตลาดทุนได้ หมายความถึงการดึงเงินที่อยู่ในตลาดเงินที่เป็นระยะสั้นมาผ่านตลาดทุนระยะยาว เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ แต่การกระตุ้นให้มีการซื้อขายสูงขึ้นยังไม่มี เพราะการจัดเก็บภาษีแตกต่างกัน

ผมคิดว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มความแน่นอนของการเติบโตของตลาดทุนได้ เพราะถ้าให้สิ่งนี้การค้าขายก็จะเคลื่อนไหวมากขึ้น คนก็จะไม่กลัวที่จะซื้อหุ้นกู้ ซื้อพันธบัตร เมื่อถึงวันหนึ่งถ้าต้องการเงินก็ต้องการมาขายเอาเงินได้ แต่ก็หมายความว่าการจัดเก็บภาษีต้องเหมือนกันด้วย

ตลาดทุนในอนาคตถ้ายังหวังพึ่งอยู่ที่หุ้นอย่างเดียว ก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ คาดคะเนอะไรล่วงหน้าได้ยาก เพราะหุ้นที่มีอยู่ดึงดูดเฉพาะคนที่เข้าปุ๊บออกปั๊บ แต่ผมมีความมั่นใจว่าหุ้นที่ขายอยู่ตอนนี้มีพื้นฐานที่ดี โอกาสที่จะหล่นลงมาก ๆ ไม่มี คนก็จะค้าขายมากขึ้น แต่จะให้พุ่งเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังไม่ดีอยู่

การดำเนินงานหรือแผนการที่จะทำให้เราสามารถดำรงฐานะ ผลกำไรในปีหน้าให้ดีที่สุดก็คือจะต้องขยันในการทำตลาดให้ได้มาก นอกจากนี้ก็ต้องทำปริมาณในแง่ที่กำหนดดอกเบี้ย ไม่ให้ต้องขาดทุน ความยากของการกำหนดดอกเบี้ยเวลามีธนาคารมากขึ้นก็คือไม่สะดวกถ้าจะกำหนดดอกเบี้ยซึ่งขาดทุนแล้วเอาปริมาณไป นั่นก็ไม่ได้อะไร ซึ่งต้องหาดุลยภาพของทั้งสองข้อนนี้ให้ได้ ที่ทำยากขึ้น เพราะตลาดเติบโตขึ้น การแข่งขันมากขึ้น ลูกค้ามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

ในการสร้างบริการใหม่ ๆ ก็คงจะมี แต่ทุกคนจะต้องหาบริการที่ไม่ใช่คิดอย่างเดียว เป็นบริการที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ เป็นบริการที่ลูกค้าใช้และใช้ต่อไปแน่ ๆ อาจจะเป็นสินเชื่อรายบุคคล เพราะว่าฐานะคนในเมืองใหญ่มีรายได้สูงขึ้น ก็มีกำลังที่เขาจะใช้บริการสินเชื่อมากขึ้น บริการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ล้าสมัย อาจมีอะไรปลีกย่อยตามมา แต่บริการอื่นเป็นบริการแถม บริการการเงินเป็นบริการหลัก ปริการอื่นต้องเป็นบริการเสริมที่สอดคล้องเสริมบริการทางการเงิน บริการเสริมเราเก็บแค่คุ้มต้นทุน ส่วนบริการหลักทางการเงินต้องให้คุ้มดอกเบี้ย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.