ธนายงปลื้มQ3 บ้านเอื้ออาทร หนุนกำไรโต


ผู้จัดการรายวัน(12 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“ธนายง”กำไรไตรมาส 3 โต 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 527% จากการรับเหมาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร หลังจากปีก่อนขาดทุนจากการจัดหาที่ดินและตั้งสำรอง อีกทั้งยังได้กำไรจากการขายทอดที่ดินกรณีพิพาทเข้าช่วยเสริม ส่วนงวด 9 เดือน กำไรลดลง 1,008 ล้านบาทเหตุบันทึกกำไรจากการชำระหนี้หดตัว ขณะที่การติดตามทวงหนี้ 5.6 พันล้านบาทยังไร้ข้อสรุป ต้องรอฟังการสืบพยานช่วงมี.ค.-เม.ย.ก่อน พร้อมทำใจอาจต้องฟ้องล้มลาย 2ลูกหนีที่เหลือ

นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร และนายรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) หรือTYONG เปิดเผยถึงผลงการดำเนินงานไตรมาส3สิ้นสุด 31ธันวาคม 2551 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ121.94 ล้าน เพิ่มขึ้น 527.96% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 28.52 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือน บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 102.1 ล้านบาท ลดลง 1,008 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงาน สำหรับงวดเก้าเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิ 1,110.1 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากในงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อน บริษัทฯ มีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น บริษัทฯจึงได้บันทึกปรับมูลค่าของการชำระดังกล่าวให้เป็นไปตามมูลค่าที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ และบันทึกกำไรจากการชำระหนี้เป็นเงิน 1,161.2 ล้านบาท ซึ่งในงวดปีนี้มีกำไรจากรายการดังกล่าวเพียง 166.0 ล้านบาท หรือลดลง 995.2 ล้านบาท

โดยบริษัทมีผลกำไรจากการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรเพิ่มขึ้นสุทธิ 70.9ล้านบาท ซึ่งเกิดจากงวดเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนจากการจัดหาที่ดินและรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร 47.8 ล้านบาทที่ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกสำรองเผื่อผลขาดทุนของโครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ(บางบ่อ 2) ในขณะที่งวดนี้บริษัทมีผลกำไรจากการรับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมถึงโครงการบ้านเอื้ออาทรชลบุรี(นาจอมเทียน)และโครงการเอื้ออาทรประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน 3) รวม 23.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อน บริษัทฯ มีข้อพิพาทในคดีกับบริษัทผู้ร่วมถือครองที่ดินแห่งหนึ่ง ซึ่งในอดีตบริษัทฯ ได้ทดลองจ่ายค่าที่ดินให้กับบริษัทดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้รับชำระคืน คดีได้ถึงที่สุดและที่ดินดังกล่าวได้ถูกนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ บริษัทฯ จึงบันทึกลงเป็นรายได้จากการโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็น105.5 ล้านบาท จึงทำให้ในปีนี้บริษัทฯได้รับคืนเงิน 16.1 ล้านบาท จากกรมบังคับคดี ซึ่งเหลือมาจากการหักกลบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับมูลค่าของที่ดิน ตามที่บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลการบังคับขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวและบริษัทฯ ได้บันทึกเงินรับคืนเป็นรายได้จากการหักกลบหนี้จากการประมูลที่ดิน

ขณะเดียวกัน บริษัทย่อยแห่งหนึ่งมีรายได้จากการขายเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการให้กับบริษัทร่วมแห่งหนึ่งเป็นเงิน 8 ล้านบาท โดยบริษัทย่อยดังกล่าวได้มีการบันทึกค่าใช้จ่ายซึ่งได้มาของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในปีก่อน และบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งได้รับชำระหนี้ค่าเช่าและค่าเสียหายจากการฟ้องขับไล่14.1 ล้านบาท บริษัทฯจึงบันทึกรายได้จากการรับชำระหนี้เป็นรายการโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็น 10.4 ล้านบาท ส่วนค่าเสียหายตามฟ้องบันทึกเป็นรายได้อื่น 3.7 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ TYONG ยังแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้ ซึ่งบริษัทฯ มีรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ปี 33 ถึงปี 39 ค้างชำระ 5,679 ล้านบาท และมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ 5,391 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนนั้นบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตามให้ชำระหนี้ ดังนี้

1. ในช่วงเดือนมกราคม 50 บริษัทฯ ได้ดำเนินการออกจดหมายทวงหนี้แก่ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแล้วบางส่วน 2,983 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 30 วัน บริษัทฯ ได้ออกจดหมายทวงถามครั้งที่สองแล้วปรากฏว่ายั งไม่ได้รับชำระหนี้ และมีลูกหนี้รายหนึ่งที่มียอดค้างชำระ 2,647 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯพิจารณาจากงบการเงินของลูกหนี้แล้ว เห็นว่าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ แต่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2550

ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 มีเจ้าหนี้สองรายได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้รายดังกล่าวและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และ นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 31 มีนาคม 2551 นั้น ในวันดังกล่าวมีเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551

ถัดมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนปีเดียวกัน ลูกหนี้จึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการด้วยตนเอง แต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกร้องขอฟื้นฟูกิจการ จนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการด้วยตนเองอีกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปีที่ผ่านมา ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาต แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 51 ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ได้มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินของลูกหนี้รายดังกล่าวยื่นฟ้องล้มละลายลูกหนี้ด้วยมูลหนี้ 27 ล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2549 ซึ่งศาลได้นัดเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปในวันที่ 4 มีนาคม 2552 และยังมีเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งยื่นฟ้องล้มละลายลูกหนี้รายดังกล่าวด้วย ในเดือนตุลาคม 2550 โดยขณะนี้ศาลได้มีคำสั่งยกคดีขึ้นพิจารณาและกำหนดนัดสืบพยานเจ้าหนี้ในวันที่ 23 มีนาคม 2552 และนัดสืบพยานลูกหนี้ในวันที่ 7 และ 20 เมษายนนี้เช่นกัน

โดยลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่เหลือ 2,017 ล้านบาท บริษัทฯ ได้ติดตามลูกหนี้สองรายที่มียอดค้างชำระรวม 2,013 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทฯ ได้ดำเนินคดีไปพร้อมกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้รายดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งบริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาแนวทางการดำเนินคดีอื่น ๆ เช่น การดำเนินกระบวนการฟ้องร้องล้มละลายควบคู่กันไปด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.