ฟอร์ดทิ้งไทยโยก สนง.ใหญ่ ซบจีน-ยอดรถม.ค.ดิ่ง30%


ผู้จัดการรายวัน(11 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ศักยภาพตลาดไทยลดฮวบ หลังเจอพิษเศรษฐกิจ-การเมือง "ฟอร์ด" ลดความสำคัญไทย ตัดสินใจโยกสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ไปยังเมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีนในเร็วๆนี้ เพื่อดูแลธุรกิจฟอร์ดในภูมิภาคนี้แทน โดยทยอยย้ายและแจ้งพนักงานแล้ว ขณะที่โรงงานประกอบปีนี้ลดกำลังการผลิตเหลือ 1.3 แสนคัน ส่วนสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไทยสาหัส ยอดขายติดลบถ้วนหน้าทุกยี่ห้อ สตาร์ทเดือนแรกปีวัวบ้า ดิ่งเหว 30%

แหล่งข่าวจากฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผย "ASTV ผู้จัดการรายวัน" ว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา ฟอร์ดในประเทศไทยได้แจ้งกับพนักงานทุกคน ในส่วนของฟอร์ดประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา (AP&A) จะมีการย้ายสำนักงานจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตั้งยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้ได้ทยอยย้ายบางส่วนไปแล้ว

"ในส่วนของพนักงานยังไม่ชัดเจน โดยระดับบริหารรวมถึง นายจอห์น ปาร์คเกอร์ รองประธานบริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ที่ดูแลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา ได้ย้ายไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้แล้ว พนักงานที่เป็นชาวต่างชาติก็มีตามไปด้วยเช่นกัน แต่สำหรับพนักงานไทยน่าจะย้ายเข้าไปอยู่ที่ ฟอร์ด ประเทศไทย หรืออาจจะเปิดรับสมัครลาออกด้วย"

สำหรับสำนักงานฟอร์ดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา เป็นหนึ่งในสามกลุ่มธุรกิจภูมิภาคหลักของฟอร์ด มอเตอร์ โดยมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มีพนักงานประมาณกว่า 400 คน โดยรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของฟอร์ด และพันธมิตรต่างๆ รวมทั้งมาสด้า (ปัจจุบันมาสด้าแยกเป็นอิสระ ภายหลังจากซื้อหุ้นคืนจากฟอร์ดเมื่อปีที่ผ่านมา) ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา

ดังนั้น การย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา ของฟอร์ดในครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการลดบทบาทความสำคัญของฟอร์ดในประเทศไทย ที่จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจในภูมิภาคนี้ไปไว้ที่จีน และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าฟอร์ดให้ความสำคัญกับตลาดจีนมาก ด้วยการเปิดตัวรถยนต์โมเดลใหม่ๆ หลายรุ่น และล่าสุดรถซับคอมแพ็กต์ซีดาน "ฟอร์ด เฟียสตา" ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่จะผลิตและจำหน่ายในไทยต้นปี 2553 ได้ใช้เวทีมอเตอร์โชว์ในประเทศจีน เปิดตัวเป็นแห่งแรกของโลก และจีนก็เป็นฐานผลิตรถยนต์รุ่นนี้อีกแห่งของฟอร์ดด้วย ที่สำคัญ ฟอร์ดในจีนมียอดขายที่เติบโตมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ไทยกลับมีสถานการณ์ยอดขายตกลงอย่างมาก เพียงแต่ไทยมีฐานการผลิตปิกอัพส่งออกไปทั่วโลกเท่านั้น นอกจากนี้ตลาดในไทยยังประสบปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการเมือง ฟอร์ด จึงตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคไปยังประเทศจีนแทน

ปรับลดผลิตเหลือ 1.3 แสน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกาไปจากไทย จะไม่ส่งผลต่อแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเฉพาะโครงการประกอบรถยนต์นั่งซับคอมแพ็กต์ "ฟอร์ด เฟียสตา" และ "มาสด้า2Ž " ซึ่งจะเริ่มขึ้นไลน์ผลิตแนะนำสู่ตลาดช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป

นายสาโรช เกียรติเฟื่องฟู รองประธานอาวุโส ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่าปัญหาสภาพคล่องของบริษัทแม่ ฟอร์ด มอเตอร์ ไม่ส่งผลต่อโครงการผลิตรถยนต์นั่ง ฟอร์ด เฟียสตา ในประเทศไทย เพราะได้มีการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ไปแล้ว และจะดำเนินต่อไปตามแผน สำหรับกำหนดเปิดตัวอยู่ที่ช่วงประมาณต้นปีหน้า

"ขณะที่สถานการณ์การผลิตปิกอัพ แม้ฟอร์ดจะมีแผนส่งเรนเจอร์ใหม่ ที่เปิดตัวในวันที่ 10 ม.ค. 52 ไปทำตลาดทั่วโลกกว่า 130 ประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า ในภาพรวมของการส่งออกปีนี้จะลดลงแน่นอน ดังจะเห็นได้จากยอดการสั่งซื้อที่หายไปพอสมควร และขณะนี้ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า ถึงสิ้นปีนี้ปริมาณการส่งออกจะลดลงไปเท่าไร ดังนั้นทางโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ หรือ เอเอที ได้ปรับกำลังการผลิตจาก 1.7 แสนคัน ลงมาเป็น 1.3 แสนคันในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด"

เตรียมเปิดรุ่นใหม่รักษายอด

นายสาโรชกล่าวอีกว่า ในส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ ยังยากที่จะประเมินสถานการณ์ แต่เชื่อว่าจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จะทำให้ยอดขายรวมทุกยี่ห้อลดลง และในส่วนของฟอร์ดเองเบื้องต้นตั้งเป้าหมายขายไว้เท่ากับปีที่แล้ว หรือประมาณ 9,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นยอดปิกอัพ 7,000 คัน

"ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เพราะเศรษฐกิจยังลงมาไม่ถึงจุดต่ำสุด แต่เราได้เตรียมการรับมือไว้หลายทาง โดยเฉพาะการแนะนำโปรดักต์ใหม่สู่ตลาดต่อเนื่อง อย่างล่าสุด เปิดตัวปิกอัพ เรนเจอร์ ไมเนอร์เชนจ์ และปลายเดือนนี้ จะเป็นเก๋งโฟกัสรุ่นใหม่ ที่จะเปิดตัวครบไลน์ทั้งรุ่นเครื่องยนต์ ดีเซล เบนซิน บนตัวถังแฮทซ์แบ็ก 5 ประตู และซีดาน จากนั้นอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเปิดตัวรถอเนกประสงค์แบบพีพีวี เอเวอเรสต์ ใหม่ และปิดท้ายปีด้วยการส่งรถเอสยูวี รุ่นเอสแคป ใหม่ ที่รองรับแก็สโซฮอล์ อี 20 สู่ตลาด"

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้สถาบันการเงินชั้นนำอย่างทิสโก้ มาเป็นพันธมิตรจัดการเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นแกนหลักต่อไป หลังจากทิสโก้ ได้เข้าเทกโอเวอร์ ไพรมัส ลิสซิ่ง หรือฟอร์ด ลิสซิ่ง บริษัทในเครือฟอร์ดไปเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยการร่วมมือนี้จะส่งผลให้บริษัทจัดแคมเปญ หรือทำดอกเบี้ย ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และพร้อมผลักดันให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย

สตาร์ทปีวัวบ้าตลาดรถลบ30%

ส่วนสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในไทย ช่วงเดือนม.ค.52 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก โดยมียอดขายรวมทุกยี่ห้อจำนวน 3.18 หมื่นคัน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งทำได้ทั้งหมด 4.54 หมื่นคัน มีอัตราการเติบโตติดลบ 30 %

ทั้งนี้ แบ่งเป็นแต่ละตลาดจะพบว่า รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ 1 ตัน) มีจำนวน 1.84 หมื่นคัน เทียบกับปีที่แล้วติดลบ 40% แต่หากเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน มียอดขายทั้งสิ้น 1.48 หมื่นคัน ติดลบ 40% รถยนต์นั่ง หรือเก๋ง ขายได้ 1.34 หมื่นคัน ติดลบ 7% สาเหตุที่เก๋งลดลงไม่มาก เนื่องจากเก๋งซับคอมแพกต์ (โตโยต้า วีออส-ยาริส และฮอนด้า ซิตี้-แจ๊ซ) มียอดขาย 7.5 พันคัน เป็นตลาดเดียวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30% และตลาดรถอเนกประสงค์เอสยูวี 2.0 พันคัน ลดลง 28%

สำหรับภาพรวมการของแต่ละยี่ห้อ ต่างมียอดขายลดลงเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้าที่เป็นอันดับหนึ่ง มียอดขาย 1.34 หมื่นคัน เทียบกับปีที่แล้วเดือนเดียวกันทำได้ 1.76 หมื่นคัน ลดลง 23% อีซูซุมียอดขาย 7.1 พันคัน ลดลง 31% ฮอนด้า 5.3 พันคัน ลดลง 25% นิสสัน 1.6 พันคัน ลดลง 44% มิตซูบิชิ 1.1 พันคัน ลดลง 51% ส่วนรถยนต์ฟอร์ด 452 คัน ลดลง 31% เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.