"แนวโน้มรัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงทางการตลาด"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

5 ปีที่แล้วหรือจากนี้ไป ภาคอุตสาหกรรม ถ้าดูจาก GDP จะเห็นว่าโตขึ้น ๆ ทุกปี ๆ อุตสาหกรรมก็จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น แต่เกษตรกรรมก็ยังคงมีความสำคัญเพราะเป็นพื้นฐาน หรือยังคงสามารถส่งออกบางส่วนในปี 2531 ในความเห็นของผม เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยส่วนรวมจะมีแนวโน้มค่อนข้างดีซึ่งมีปัจจัยหลัก ๆ ที่สนับสนุนคือ

หนึ่ง-อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และคงจะทรงอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปีหน้า จะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดี เพราะกำลังการผลิตจะเริ่มเต็ม ผู้ประกอบการก็จะนำเงินมาลงทุนเนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ

สอง-ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะทรงอยู่ในระดับ 18 เหรียญ/บาเรล ซึ่งจะไม่กระทบต่อปัจจัยการผลิตหลักใหญ่อย่างไฟฟ้า ถ้าน้ำมันขึ้นราคา ต้นทุนการผลิตก็จะขึ้นตามแต่อาจจะไม่ตามสัดส่วนเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากราคาน้ำมันในตลาดทรงตัว ต้นทุนนี้ก็จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อุตสาหกรรมก็น่าจะเติบโตขึ้นเหมือนปี 2530

สาม-อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ประเทศไทยปรับตาม BASKET ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของเราสมดุลตลอดเวลาเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ในแง่การส่งออกเมื่อเงินสกุลอื่น ๆ แข็ง กำลังซื้อแข็ง ของเราก็จะถูก อัตราแลกเปลี่ยนจะเกื้อหนุนการส่งออก ทำให้สินค้าหลัก ๆ ที่เราส่งออกในปีนี้ต่อเนื่องเช่นเดียวกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ผลจากการส่งออกที่ดี ทำให้รายได้ของพวกส่งออกดีขึ้น ผู้ประกอบการก็จะนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งออก ทำให้คุณภาพสินค้าของเราอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เมื่อต้นทุนน้อย คุณภาพดี ส่งออกมาก ก็จะมีกำไรสำหรับการปรับปรุงเรื่องคุณภาพ

สำหรับผลผลิตทางการเกษตร จะเห็นว่าผลผลิตมีปริมาณน้อย แต่ราคาดีมาก ก็จะทำให้เกษตรกรกลุ่มหนึ่งมีรายได้มากขึ้น พวกนี้ก็จะนำไปซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์การเกษตรในปี 2531 สยามคูโบต้าคาดว่าจะโตขึ้นอีกราว 8-10% เช่นเดียวกับยางพาราที่จะมีปริมาณขายมากขึ้นในปีหน้า

สี่-การรักษาระดับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะขยายไปเป็นพวกอาคาร คอนโดมีเนียม หรืออาคารสำนักงานในปี 2531 ซึ่งจะยังคงขยายได้ในระดับเช่นเดียวกับปีนี้

ห้า-ผลจากการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยว ตลาดจะยังดีไปถึงปีหน้า เพราะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์แล้ว ประเทศไทยยังน่าสนใจกว่าเพราะมีเอกลักษณ์หลายอย่างทั้งวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ เมื่อการท่องเที่ยวดีเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคก็จะดีขึ้นด้วย เพราะต่างประเทศเข้ามามาก กำลังซื้อก็มากขึ้น ซึ่งถ้ามองในแง่อุตสาหกรรมจะพบว่าการเติบโตของภาคนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปี 2531 จากการคาดคะเนเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะอยู่ระหว่าง 6-7% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาของหลายสถาบัน ถ้ามองในภาพรวมแล้วสำหรับภาคเอกชน จะเผชิญปัญหา CAPACITY จะมีปัญหากำลังผลิตสินค้าไม่เพียงพอ ถ้าในภาคอุตสาหกรรมไหนไม่ได้วางแผนเรื่องขยายกำลังการผลิตล่วงหน้าจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ 2531 เป็นต้นไป เพราะในการขยายงาน เราจะใช้เวลาแล้วแต่ประเภทอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมอาจจะ 2-4 ปี ตอนนี้ถ้าปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอ ปัญหาต่อมาก็คือเมื่อกำลังผลิตเริ่มเดินเต็มที่ อุปทานจำกัด แต่อุปสงค์มาก ก็จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าและจะเป็นอย่างนี้เกือบทุกสินค้า ถ้าหากเขาไม่รักษาชื่อเสียง เพราะว่าเขาเร่งการผลิตเกินไป เพราะฉะนั้นบางทีสินค้ามีตำหนิต่าง ๆ ก็จพยายามจะออกตลาด

ส่วนในภาครัฐบาล จะมีปัญหาเรื่องของ INFRASTRUCTURE เพราะว่า EXPORT มากก็ต้องขนของเข้ามามาก วัตถุดิบเข้ามามาก ขนสินค้าออกไปมาก ถ้าหากไม่เติบโตเป็นสัดส่วนเท่ากันจะเริ่มมีปัญหา ซึ่งเชื่อว่าปัญหาที่จะเกิดคือถนนหนทาง ท่าเทียบเรือน้ำลึก การสื่อสาร โทรคมนาคม ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น โครงการอีสานเขียวที่กองทัพบกกับรัฐบาลกำลังลงไป ถ้าเขียวจริงก็จะมีปัญหา เพราะพืชผลเกษตรต่าง ๆ จะได้ผล แต่ออกมาภาคกลางไม่ได้หรือโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก ถึงแม้จะเซ็นสัญญาแล้วก็ตาม ต้องเร่ง…เพราะถ้าไม่เร่ง ถนนหนทาง การสื่อสารโทรคมนาคม จะมีปัญหาส่งออก

ปัญหาต่อมา มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะมาแทรกแซงการตลาด เมื่อดูราคาสินค้าที่ปัจจุบันเริ่มขยับสูงขึ้น อย่างวัสดุก่อสร้าง… ราคาเหล็กเส้นขึ้น อะลูมิเนียมขึ้น ไม้อัดขึ้น ถ้าเรากลับไปดูพอต้นทุนวัตถุดิบขึ้น ราคาสินค้าสำเร็จรูปก็ขึ้น ซึ่งไม่ได้กระทบชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นว่าแพงก็ไม่ซื้อ ถูกก็ซื้อ แต่ว่ากระทบผู้รับเหมาโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้างประมูลรับงานรัฐบาลมาก็ต้องสร้างให้เสร็จตามสัญญา แต่วัตถุดิบเหล่านี้ขึ้นไปมาก ทำให้ผู้รับเหมาลำบากขึ้น ซึ่งถ้าเรามองในแง่ผู้ผลิตสินค้า เมื่อต้นทุนสินค้าขึ้นราคาไม่ขึ้นเป็นไปไม่ได้ ที่ต้นทุนสินค้าขึ้น ราคาไม่ขึ้น เมื่อขึ้นไปก็ต้องกระเทือนผู้ใช้สินค้า ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตกับรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทรกแซงทางการตลาดหรือต้องมาควบคุมภาคเอกชนมากขึ้นจะเป็นการควบคุมราคาหรือคุมการขึ้นราคา แต่มันจะยังไม่เป็นการคุมราคา แต่บอกว่าถ้าหากคุณจะขึ้นราคาต้องมาบอกผมก่อน แล้วใน 2 สัปดาห์ผมจะให้คุณขึ้นได้ ถ้ายังไม่ยอมให้ขึ้น คุณขึ้นไม่ได้ ซึ่งไม่ได้ต่างกับการคุมราคา

ถ้าตอนนี้รัฐบาลเข้ามาควบคุมราคาในตลาด ราคาก็จะบิดเบือน เพราะวัตถุดิบขึ้นราคา ผู้ผลิตสินค้าต้นทุนก็แพง ก็ต้องขึ้นราคาสินค้าสำเร็จรูป ถ้ารัฐบาลกดราคา ผู้ผลิตก็ขาดทุน ถ้าไม่ขาดทุนก็ไม่มีกำไร ไม่มีกำไรก็ไม่ขยายงาน แต่กำลังผลิตคงที่ ทุนคนคงที่หมด แต่ตลาดจะโตขึ้นทุก ๆ ปี ทุกคนไม่ขยาย ไม่รู้จะขยายไปทำไม เพราะรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องการตลาด ผลกระทบระยะยาวจะยิ่งหนักขึ้น คือจะต้องมีนำเข้าเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น

เรื่องส่งออกจะมีปัญหาการกีดกันเรื่องการค้า แต่คงไม่มากนัก เพราะหากสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ก็ยังมีคนซื้อ

สำหรับนักธุรกิจอุตสาหกรรมหรือเครือซิเมนต์ไทยเมื่อคิดว่ามีปัญหานี้แล้ว จะต้องปรับตัวให้เข้ากับปัญหาเหล่านี้ได้โดยเริ่มจากการเตรียมการ ซึ่งจะต้องเตรียมแผนเรื่องการผลิตสินค้าทุกชนิดให้พร้อม วิธีการก็คือเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร ดัดแปลงเครื่องจักรต่าง ๆ ที่เป็นจุดบอดในการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร จัดสรรงบประมาณเป็นการเตรียมการสำหรับปีหน้าต่อไปก็คือ ควรจะเพิ่มความระมัดระวังในการเพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการคาดคะเนว่า รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงเรื่องการตลาด จะมาควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อวัตถุดิบ เพราะว่ารัฐบาลจะเข้มงวดในการปรับราคาสินค้ามากขึ้น สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งรีบหากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา 7% กำลังการผลิตจะหมดในบางสินค้า ซึ่งต้องวางแผนขยายกำลังการผลิต ในสินค้าหลัก ๆ เหล่านั้น

ส่วนที่อาจต้องทำเพิ่มขึ้น และต้องเพิ่มให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือเรื่อง QC (QUALITY CONTROL CIRCLE) เรื่องเกี่ยวกับ SAFETY ความปลอดภัยในการทำงาน เรื่องระบบข้อเสนอแนะที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า SUGGEST SYSTEM อีกสิ่งหนึ่งก็คือ 5 ส (สะสาง, สะอาด, สะดวก, สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 นี้จะทำให้ต้นทุนสินค้าอยู่ในเกณฑ์ต่ำและคุณภาพสินค้าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนี้ถ้าต้องการจะสู่กับคู่แข่งขัน ต้องดำเนินการในเรื่องการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น และยังต้องพัฒนาคน ซึ่งต้องทำต่อเนื่องไปในทุกระดับ วางแผนเรื่องการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การปรับสถานการณ์นี้กับเครือซิเมนต์ไทยที่จะปรับลักษณะคงไม่แตกต่างกัน โดยได้เตรียมโครงการใหม่ 2 โครงการ โครงการแรกก็คือโครงการตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเดิมมีมานานแล้วแต่ต่างคนต่างทำ และก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้แน่ชัด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าสินค้าใหม่ออกมาน้อย เราก็มาตกลงกันในระดับสูงเมื่อ 4-5 เดือนที่แล้วว่าเราต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แน่ชัดก็จะมีคณะกรรมการโดยมีคุณพารณ (อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่) เป็นประธานผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ทั้งหมดก็เป็นเรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีของเครือ ทั้งหมดนี้กำลังเตรียมเรื่องอยู่ แต่หลักการต่าง ๆ ได้ตกลงกันไว้แล้ว ซึ่งจะทำโครงการให้เห็นผลเร็วออกมาให้ได้

โครงการที่ 2 ก็คือ นิคมอุตสาหกรรมในเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเราไม่ให้คนอื่นเช่า แต่เราจะทำเอง เพราะนิคมอุตสาหกรรมตอนนี้มีที่ลาดกระบัง นวนคร ซึ่งเป็นแบบราชการ ตอนนี้ BOI ก็กำหนดแบ่งประเภทออกเป็น 3 ส่วนคือ ZONE 1 กรุงเทพมหานคร ที่ส่งเสริมแต่ไม่ให้สิทธิประโยชน์ ZONE 2 รอบ ๆ กรุงเทพฯ ได้สิทธิประโยชน์ก็เฉพาะเรื่องภาษีโรงงาน และ ZONE 3 เจ้าพระยาที่มี 67 จังหวัด เขาต้องการให้อุตสาหกรรมไปอยู่ต่างจังหวัด เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัด ซึ่งการเติบโตของปูนซิเมนต์ไทยเองในรอบ 5 ปีจะค่อนข้างมาก เพราะหลายผลิตภัณฑ์จะต้องขยาย สุขภัณฑ์ก็ขยาย กระเบื้องปูพื้นก็ขยาย กระเบื้องหลังคาก็ขยาย หลังคาโมเนียก็ขยาย ทุกจุดขยายหมด ถ้าจะรอเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมของรัฐฯ ก็คงจะช้าไป เนื้อที่ก็ไม่พอที่จะอำนวย บางทีคุณต้องการ 200 ไร่มีให้ 80 ไร่ก็ทำไม่ได้เลยมีโครงการจะทำนิคมของเครือเอง เรามุ่งหวัง 2 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรากับอยุธยาก็อยู่ใน ZONE 3 สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็ได้ จะทำด้วยเนื้อที่ดิน 1,500-3,000 ไร่ ที่ดินเนื้อที่เดียวกันแล้วเราทำสาธารณูปโภคเองเช่น เรื่องขจัดน้ำเสีย น้ำใช้ ที่ต้องพึ่งรัฐบาลก็คือ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ซึ่งคิดว่าเราจะทำได้มีประสิทธิภาพ โดยจะมาชุมนุมโรงงานต่าง ๆ ของเราอยู่ในที่เดียวกันทำให้ง่ายต่อการบริหาร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.