"ธานินทร์อุตสาหกรรม : ลูกหนี้น่ารัก"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลาดเกลื่อนไปด้วยสินค้าตีตราญี่ปุ่น ธานินทร์นับว่าพอจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าไทยได้บ้างในฐานะที่เป็นสินค้าเมดอินไทยแลนด์

ปลายปี 2529 ธานินทร์เริ่มส่งเสียงร้องให้รับรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหาย่ำแย่ซึ่งล้วนแต่มีเหตุมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการ การแข่งขันในตลาด และความไม่นิยมไทยของเพื่อนร่วมชาติเป็นอาทิ

"ผู้จัดการ" ได้เสนอมุมมองอีกแง่หนึ่งที่ทำให้เห็นเนื้อแท้ของปัญหาไว้อย่างละเอียดในฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2530 ไว้แล้ว

ธานินทร์ได้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทยในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 5% จำนวน 420 ล้านบาทและเงินทุนหมุนเวียนอีก 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ต่อปี ในตอนแรกแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าจะช่วยเหลือได้แต่เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กรณีของธานินทร์อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่

ขณะเดียวกันทางเจ้าหนี้ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และแหลมทองเป็นกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ก็ได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาซึ่งมีข้อสรุปว่า ธานินทร์ต้องทำการเพิ่มทุนซึ่งมีอยู่เดิม 50 ล้านบาทเป็น 150 ล้านบาท โดยการแปลงหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลใกล้ชิดกับธานินทร์เป็นทุน และขายทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและไม่ทำให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นที่ดินมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ 620 ล้านบาทให้ลดน้อยลง สองข้อนี้ไม่มีปัญหาอะไร ธานินทร์นั้นเป็นลูกหนี้ที่ว่านอนสอนง่าย เมื่อเจ้าหนี้เอ่ยปากก็ยอมทำตาม

ข้อเสนอจากกลุ่มเจาหนี้ยังมีอีกว่าเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะช่วยธานินทร์ได้มากในการลดภาระหนี้สิน ที่โรงสี โรงน้ำตาล แบงก์ชาติยังช่วยได้ ทำไมกับเงินไม่ถึง 500 ล้านบาทกับอุตสาหกรรมของคนไทยที่สร้างงานให้คนกว่า 2,000 คน แบงก์ชาติจะดูดายได้ลงคอเชียวหรือ?

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2530 แบงก์ชาติยอมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เป็นการช่วยเหลือตามระเบียบอุตสาหกรรมที่แบงก์ชาติสามารถทำได้ สำหรับซอฟต์โลนอีก 400 ล้านบาทนั้นผิดระเบียบไม่สามารถให้ได้ แค่นี้ธานินทร์ก็เริ่มยิ้มออก เจ้าหนี้ก็ยิ้มตามไปด้วย

เดือนเมษายน 2530 กลุ่มเจ้าหนี้ได้มีการประชุมเพื่อทำสัญญาเฉพาะกาลขึ้นมาฉบับหนึ่ง มีอายุ 6 เดือน ใน 6 เดือนนี้เจ้าหนี้จะรอดูผลการดำเนินงานของธานินทร์ โดยจะไม่มีการฟ้องร้องในช่วงนี้ และธานินทร์ต้องปรับปรุงการบริหารสินค้าคงคลังให้มีจำนวนลดน้อยลง ให้ติดตามหนี้สินของบริษัท และขายทรัพย์สินบางส่วนออกไป

ล่าสุดก่อนสิ้นปี 30 เจ้าหนี้ทั้งหลายก็คงจะใจชื้น เมื่อธานินทร์ทยอยชำระหนี้สินจนเหลือ 350 ล้านบาท ด้วยเงินที่ได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน และจากการขายทรัพย์สิน กลุ่มเจ้าหนี้จะให้เงินทุนหมุนเวียนกิจการอีก 10 ล้านบาท และกำลังหามืออาชีพเข้าไปเป็นผู้จัดการแทนอุดม วิทยสิรินันท์ ซึ่งควบทั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการก็จะเป็นประธานเพียงตำแหน่งเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.