|
ร.ฟ.ท.อ่วม1.2หมื่นล้านอนุญาโตฯชี้"แพ้"คดีฟ้องกลับโฮปเวลล์
ผู้จัดการรายวัน(10 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ร.ฟ.ท.แห้ว ฟ้องกลับโฮปเวลล์แต่แพ้ซ้ำสอง เผยอนุญาโตตุลาการยกคำฟ้อง ยืนยันโฮปเวลล์ไม่เคยผิดสัญญา แต่ร.ฟ.ท.เป็นฝ่ายผิด เพราะส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามสัญญา เผยก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมถูกโฮปเวลล์ฟ้องยกเลิกสัญญาไม่ถูกต้อง อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ทั้งคู่ร่วมกันจ่ายค่าโง่ให้โฮปเวลล์ 12,388 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างต่อสู้คดี คำชี้ขาดกรณีฟ้องกลับตอกย้ำ ร.ฟ.ท.เจอทางตันสู้คดี
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคม ผู้เรียกร้องที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เรียกร้องที่ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน กรณีที่ผู้เรียกร้องทั้งสองยื่นคำเสนอข้อพิพาทว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2532 ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการให้มีการก่อสร้างทางยกระดับ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งบริษัท โฮปเวลล์ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน เข้าดำเนินการก่อสร้างตลอดจนพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ตามที่ระบุในสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 และต่อมามีการแก้ไขสัญญาโดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ธ.ค.2534 กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 8 ปี
ซึ่งระหว่างบริษัทโฮปเวลล์ดำเนินการตามสัญญา ผู้เรียกร้องทั้งสองได้เร่งรัดการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดแต่บริษัทโฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามแผนที่กำหนดและบริษัทโฮปเวลล์ได้เสนอข้อเรียกร้องขอรับการสนับสนุนจากผู้เรียกร้อง ดังนี้ การยืนยันเส้นทางและแผนงานโครงการ การจะไม่เลิกสัญญาตามข้อ 27 การปรับโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟชุมชนและค่าทางด่วน การให้เปิดใช้เส้นทางด่วนทับซ้อนสัมปทานอื่นช่วงถนนวิภาวดีรังสิต การให้รื้อย้ายผู้บุกรุกและครอบครองที่ดินพื้นที่สัมปทาน ภายในเดือน มิ.ย. 2540 การมอบที่ดินของการรถไฟฯนอกเขตพื้นที่นอกเส้นทางสัมปทานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย การมอบที่ดินเพื้นที่เขตเช่าบริเวณ นาซ่าป๊อปปูล่าร์เซอร์วิสภายในเดือนเม.ย.2550 การให้ความช่วยเหลือในการต่อเชื่อมทางด่วนของการทางพิเศษบริเวณมักกะสันและหัวหมาก เป็นต้น
แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ในสาระสำคัญของสัญญา เพราะบริษัทโฮปเวลล์พยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง จึงยุติการเจรจา ผู้เรียกร้องที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 19 ก.ย. 2540 เสนอ ครม.เพื่อบอกเลิกสัญญาสัมปทานตามสัญญาข้อ 27 และผู้เรียกร้องได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 แจ้งบริษัทโฮปเวลล์บอกเลิกสัญญา ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์มีหนังสือแจ้งผู้เรียกร้องทั้งสองว่า สัญญาสัมปทานมีกระบวนการที่ระบุไว้เฉพาะซึ่งต้องปฏิบัติตามก่อนบอกเลิกสัญญา การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงไม่ชอบและขอสงวนสิทธิ์ ผู้เรียกร้องมีหนังสือแจ้งบริษัทโฮปเวลล์ยืนยันการบอกเลิกสัญญาและห้ามไม่ให้ผู้คัดค้านและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ ในการยึดถือครอบครองสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่เขตสัมปทานอีกต่อไป หากขัดขืนจะดำเนินการทางกฎหมายทั้งคดีแพ่งและอาญา
และการผิดสัญญาของบริษัทโฮปเวลล์ตั้งแต่ต้นเป็นเหตุให้ผู้เรียกร้องทั้งสองได้รับความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และค่าเสียหายเป็นความเสียหายตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ของบริษัทโฮปเวลล์และเป็นความเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ จึงขอเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฮปเวลล์ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและบังคับให้บริษัทโฮปเวลล์ชำระเงินจำนวน 59,581,788,026.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว
บริษัทโฮปเวลล์ได้ยื่นคำคัดค้านว่าไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญาโดยการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับมอบพื้นที่หรือชะลอการรับมอบพื้นที่ตามที่ผู้เรียกร้องทั้งสองกล่าวอ้าง เพราะผู้เรียกร้องมีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่สัมปทานให้ บริษัทโฮปเวลล์โดยปลอดจากภาระผูกพันภายในกำหนดเวลาการส่งมอบพื้นที่เส้นทางสัมปทานแต่ผู้เรียกร้องทั้งสองกลับส่งมอบพื้นที่เพียงบางส่วน โดยไม่ส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่ต้องพิจารณาร่วมกัน แต่ผู้เรียกร้องกลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว และผู้เรียกร้องทราบว่า การส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วนมีผลต่อการออกแบบและมีผลต่อการก่อสร้าง และขอให้คณะอนุญาโตตุลาการยกข้อเรียกร้องทุกข้อ ของผู้เรียกร้องทั้งสองและให้ผู้เรียกร้องทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการทั้งหมดแทนบริษัทโฮปเวลล์
ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยในประการแรกว่า บริษัทโฮปเวลล์ผิดสัญญาหรือไม่ โดยพิเคราะห์ตามประเด็นดังกล่าว กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ซึ่งได้เคยกล่าวหาบริษัทโฮปเวลล์ว่ากระทำผิดสัญญาสัมปทานโดยอ้างข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุแห่งการกระทำผิดไว้หลายกรณี ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้กล่าวหากระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ว่าข้อเท็จจริงตามข้ออ้างเป็นความผิดของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯก่อขึ้นเองทั้งหมด ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยแต่ละกรณีดังนี้
1.กรณีเกี่ยวกับการไม่ยอมรับมอบพื้นที่และบ่ายเบี่ยงการรับมอบพื้นที่ของบริษัทโฮปเวลล์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่สัญญาสัมปทานมีผลใช้บังคับ ผู้เรียกร้องทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบพื้นที่สัมปทานให้บริษัทโฮปเวลล์โดยปลอดจากภาระผูกพันภายในกำหนดเวลาการส่งมอบที่กำหนดไว้ตามภาคผนวก ก.ท้ายสัญญาสัมปทาน เมื่อพิเคราะห์จากพยานหลักฐาน ผู้เรียกร้องทั้งสองไม่สามารถจัดการกับอุปสรรคต่างๆ ในพื้นที่สัมปทานได้ตามสัญญา ดังนั้น การที่บริษัทโฮปเวลล์ไม่ยอมรับมอบพื้นที่และบ่ายเบี่ยงการรับมอบพื้นที่จึงมิใช่เกิดจากความผิดหรือความไม่พร้อมของบริษัทโฮปเวลล์แต่อย่างใด
2.กรณีเกี่ยวกับเรื่องแผนแบบในการก่อสร้าง เนื่องจากโครงการนี้ไม่มีแบบก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรกไม่ใช่การก่อสร้างตามแบบ แต่เป็นโครงการที่บริษัทโฮปเวลล์มีหน้าที่ออกแบบเพื่อให้ผู้เรียกร้องทั้งสองอนุมัติแล้วจึงก่อสร้างตามแผนแบบที่อนุมัติ เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากข้อกล่าวอ้างของผู้เรียกร้องทั้งสองไม่ถูกต้อง เพราะผู้เรียกร้องทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน บริษัทโฮปเวลล์ได้ออกแบบและส่งมอบแบบให้ผู้เรียกร้องทั้งสองพิจารณาตามสัญญาโดยถูกต้อง ผู้เรียกร้องทั้งสองไม่อาจปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบต่อแผนแบบของบริษัทโฮปเวลล์โดยอ้างว่าต้องส่งแบบทั้งระยะมิใช่เพียงส่วน บริษัทโฮปเวลล์จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
3.กรณีเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบเส้นทางยมราช-มักกะสันไม่ครบ 3 รางนั้น พิเคราะห์จากพยานหลักฐานบริษัทโฮปเวลล์ได้เสนอแบบให้ผู้เรียกร้องทั้งสองอนุมัติถูกต้องตามสัญญาสัมปทานและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
4.กรณีเกี่ยวกับความล่าช้าบริเวณสถานีกลางบางซื่อ โดยออกแบบไม่เพียงพอต่อรางรถไฟนั้น บริษัทโฮปเวลล์ออกแบบถูกต้องตามเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานแล้ว
5.กรณีเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างของช่องทางจราจรจะต้องบังคับตามาตรฐาน AASHTO ตามสัญญาสัมปทานภาคผนวก จ. รายการจำเพาะของโครงการ (Appendix E) ข้อ 3 บริษัทโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
6.กรณีเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบไม่ตรงตามแนวเส้นทางบริเวณนาซ่า ไนท์คลับ พิเคราะห์ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นแนวเส้นตรงที่เกิดจากข้อจำกัดด้านอุปสรรค ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของผู้เรียกร้องทั้งสองไม่ใช่ความผิดของบริษัทโฮปเวลล์
7.กรณีการขับไล่ผู้บุกรุกและผู้เช่าที่เลิกสัญญาไปแล้ว บริษัทโฮปเวลล์ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้เรียกร้องทั้งสองตามสัญญาสัมปทานข้อ 2.2 ดังนั้นการที่ผู้เรียกร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่า การขับไล่ผู้บุกรุกเป็นหน้าที่โดยตรงของบริษัทโฮปเวลล์นั้นฟังไม่ขึ้น และบริษัทโอปเวลล์ไม่ได้ผิดสัญญา
8.กรณีเกี่ยวกับความล่าช้าต่างๆที่เกิดขึ้นจากการออกแบบและการก่อสร้างโครงการตามปัญหานี้มีผลมาจากการที่ผู้เรียกร้องไม่ดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เช่น การขับไล่ผู้บุกรุก จนบริษัทโฮปเวลล์ไม่อาจเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ และมีผลให้การออกแบบและการก่อสร้างโครงการต้องประสบปัญหา ดังนั้นเหตุล่าช้าจึงเกิดจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เรียกร้องทั้งสองเอง
9.กรณีเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาสถานีรังสิตเดิมและได้ย้ายการก่อสร้างสถานีรังสิตใหม่ออกไปทางเหนือประมาณ 2 กม.จากจุดสิ้นสุดเดิมเป็นความประสงค์ของผู้เรียกร้องและจำเป็นต้องขยายโครงการสัมปทานออกไปเพื่อให้การก่อสร้างสมบูรณ์และใช้ประโยชน์ได้จริงตามความประสงค์ของผู้เรียกร้องทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เรียกร้องทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้อง และความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากความผิดของผู้เรียกร้องทั้งสอง บริษัทโฮปเวลล์จึงไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญา ส่วนประเด็นการบอกเลิกสัญญาของผู้เรียกร้องชอบหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว หนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบข้ออ้างของผู้เรียกร้องทั้งสองมีน้ำหนักน้อยไม่อาจรับฟังได้
ส่วนประเด็นที่ผู้เรียกร้องเสียหายหรือไม่เพียงใดนั้น วินิจฉัยแล้วว่า บริษัทโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ผู้เรียกร้องเป็นผู้ผิดสัญญา ดังนั้น ผู้เรียกร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิ์เรียกให้บริษัทโฮปเวลล์ชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด และไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหาย
คณะอนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายคำชี้ขาด ในข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 70/2551
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พ.ย.51 คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้บริษัทโฮปเวลล์ชนะข้อพิพาทกรณีที่บริษัทโฮปเวลล์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเพื่อเรียกร้องให้ต่างฝ่ายต่างได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมเดิม อันเนื่องมาจากการมีการบอกเลิกสัญญา โดยอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟชำระเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ชำระไปตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 12,388.749 ซึ่งบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดที่มีนายนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ประธาน มีมติให้ ร.ฟ.ท.ยื่นคันค้านคำชี้ขาดดังกล่าวไปยังศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับจากวันที่ 6 ต.ค. 51 ที่อัยการได้รับทราบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|