กลุ่มไทยเสรีเป็นกลุ่มธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดของไทย
มีกิจการครบวงจรรวมทั้งสาขาในหลาย ๆ ประเทศ มีอายุยาวนานเกือบ 50 ปี ภายใต้การบริหารงานของสองพี่น้อง
ไพโรจน์ ไชยพร และพี่สาวไพเราะ พูลเกษ สืบทอดกิจการที่พ่อค้าปลาผู้พ่อได้วางรากฐานไว้
ถ้าเปรียบเทียบไทยเสรีเป็นเหมือนเรือ ก็เป็นเรือลำใหญ่ที่ลอยลำอย่างสง่างามในท้องทะเลมานานวัน
แต่มาวันนี้เรือลำเดิมนี้ทำท่าว่าจะอัปปางลงเพราะกัปตันกระโดดไปลงเรือลำอื่น
ปล่อยให้เรือโต้คลื่นลมไปตามยถากรรม
ไทยเสรีเริ่มประสบปัญหาเมื่อไพโรจน์ผละออกจากกิจการไปทุ่มเทให้กับการเมืองเพียงอย่างเดียว
ปล่อยให้พี่สาวบริหารงานแต่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หนักเกินกว่าจะแบกไว้ได้
ตั้งแต่ปี 2526 ยอดขายเริ่มลดลงอย่างฮวบฮาบ ประมาณ 20-50% และลดลงเรื่อย
ๆ ในปีถัดมา สวนทางกับภาระหนี้สินและการขาดทุนของบริษัท จนถึง 9 เดือนแรกของปี
2529 ยอดขาดทุนสะสมมีจำนวน 840 ล้านบาท ยอดหนี้เท่ากับ 1,800 ล้านบาท
การขยายกิจการในเครือออกไปอย่างรวดเร็ว และการเล่นการเมืองทำให้ไพโรจน์มีความจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่บรรดาเจ้าหนี้แหล่งเงินไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่ จึงต้องหาทางยักย้ายถ่ายเทด้วยการให้สาขาเมืองนอกเปิดแอล/ซีสั่งสินค้าเกินกว่าออเดอร์ที่เป็นจริง
ความมาแตกเอาเมื่อต้นปี 2529 ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ทุกแห่งพร้อมในกันไม่ให้เครดิต
ตอนนั้นไพโรจน์ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ พอมีการยุบสภาพในตอนกลางปีก็ต้องยุ่งอยู่กับการเลือกตั้ง
ไพเราะผู้พี่สาวก็มีปัญหาด้านสุขภาพ ไทยเสรีจึงถูกปล่อยไปตามยถากรรม จนการเลือกตั้งผ่านพ้นไปโดยที่ไพโรจน์ได้เป็น
ส.ส. อีกสมัยแต่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี จึงมีเวลาหวนกลับมาดูแลกิจการ
เจ้าหนี้รายใหญ่ ๆ ของไทยเสรีประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ทหารไทย ไทยพาณิชย์
นครหลวงไทย และอีกหลาย ๆ แห่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนด้วย ธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด
ยอดหนี้บวกดอกเบี้ยเกือบ 700 ล้านบาท ที่สำคัญทุกบาททุกสตางค์ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นอกจากการค้ำประกันโดยไพโรจน์และไพเราะ ธนาคารกรุงเทพจึงต้องเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุดและต้องออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุด
เดือนสิงหาคม 2529 ธนาคารกรุงเทพขู่จะฟ้อง ทำให้ไพโรจน์ต้องวิ่งเข้าเจรจากับแบงก์กรุงเทพ
แต่แล้วก็ต้องพบกับข้อเสนอที่รับไม่ได้เพราะทางแบงก์กรุงเทพต้องการเข้าไปถือหุ้น
80% ในไทยเสรี โดยแปรสภาพหนี้เป็นหุ้น ไพโรจน์มองว่านี่เป็นการฮุบกิจการชัด
ๆ
ไพโรจน์ได้จ้าง บริษัท BUSINESS ADVISORY THAILAND โดยไมเคิล เซลบี้ ทำแผนการชำระหนี้เสนอเจ้าหนี้
แต่เจ้าหนี้ไม่เห็นด้วย แผนจึงตกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ธนาคารกรุงเทพประกาศอีกครั้งหนึ่งว่าจะฟ้องภายในเดือนกุมภาพันธ์
2530 ถ้าไทยเสรีไม่ทำการแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อย
ต้นปี 2530 บริษัท อะควาโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของผู้นำเข้าสินค้าทะเลของไทยจาก
สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและแคนาดา ได้เสนอตัวเข้าลงทุนในบริษัทไทยเสรีอาหารสากล ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือไทยเสรี
ฝ่ายเจ้าหนี้รวมทั้งธนาคารกรุงเทพเห็นด้วย ไพโรจน์เองก็ยอมรับในหลักการเบื้องต้นหลังจากใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักใหญ่
เมื่อต้นเดือนเมษายน
ตามข้อตกลง อะควาโกลด์ จะเข้ามาถือหุ้น 40% กลุ่มไทยเสรี 49% อีก 11% เป็นของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์จะได้หุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ก่อน
ส่วนเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์จะได้รับชำระหนี้เป็นเงินปันผล 60%
ดูเหมือนปัญหาจะคลี่คลายไปได้เปลาะหนึ่ง
แต่แล้วทุนคนก็ต้องเกิดอาการสะดุดเมื่อเจอลูกเบรคของบิ๊กบอสแห่งค่ายบัวหลวง
ชาตรี โสภณพนิช อ้างว่าตัวเองไม่รู้เรื่องแผนการนี้เลย และไม่เห็นด้วยในเรื่องที่จะให้ตระกูลไชยพรถือหุ้นถึง
49% แต่ต้องหารให้เหลือเพียง 20% เท่านั้น เลยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ชาตรีต้องการไทยเสรีมาไว้ในมือหรือเปล่า
เพราะมีข่าวว่า กลุ่มมิตซุยจากญี่ปุ่นจะร่วมกับสว่าง เลาหทัยลงทุนเพาะพันธุ์กุ้งและเลี้ยงกุ้ง
และมีแผนต่อเนื่องไปถึงกิจการห้องเย็นด้วย และชาตรีกับสว่างก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล
ก็เป็นอันว่าทุกอย่างกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นข่าวคราวของไทยเสรีก็เงียบหายไป
จนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2530 ธนาคารกรุงเทพก็เดินหน้าอีกครั้งด้วยการยื่นฟ้อง
8 บริษัทในเครือไทยเสรีที่เป็นหนี้แบงก์อยู่ 11 ล้านบาท ทางธนาคารเองออกข่าวมาว่าไม่หวังว่าจะได้อะไรสักเท่าไร
เพราะเป็นหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เลยมองกันว่าการฟ้องในครั้งนี้เป็นการบีบให้ไพโรจน์มาเจรจากับธนาคารมากกว่าที่หวังจะได้เงิน
ฟ้องไปแล้วก็ไม่ได้อะไรมาก
เรือลำนี้ก็เลยต้องโต้คลื่นต่อไป ถึงแม้กัปตันจะกลับมาแล้ว แต่น้ำทะเลก็ทะลักเข้าไปค่อนลำเรือแล้ว
จะล่มหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป