"โรงแรมรามาการ์เดนส์ ขายออกแล้ว"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงแรมรามาการ์เดนส์เป็นกิจการของบริษัทรามาทาวเวอร์ที่เคยเป็นอาณาจักรของสุธี นพคุณ ภายหลังการล่มสลายของบริษัทพัฒนาเงินทุน ฐานการเงินสำคัญของสุธี ในปี 2522 รามาทาวเวอร์ก็อยู่ในความดูแลของเจ้าหนี้รายใหญ่คือธนาคารกรุงไทย โดยมีภุชงค์ เพ่งศรี รองประธานธนาคารกรุงไทยเป็นประธานกรรมการของบริษัท รามาทาวเวอร์มีหนี้สินตกค้างอยู่กับธนาคารกรุงไทย และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือคือสากลเคหะรวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระแล้วเป็นเงิน 545 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยจึงอยู่ในฐานะผู้บริหารบริษัทและเจ้าหนี้รายใหญ่ของรามาทาวเวอร์

กิจการของโรงแรมรามาการ์เดนส์ได้ดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้แต่ประสบกับการขาดทุนตลอดมาด้วยฝีมือของคนจากทางการ ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ผู้บริหารรามาทาวเวอร์ได้ประกาศขายเพราะไม่อยากแบกภาระขาดทุน มีผู้สนใจอยากจะซื้อหลายรายในราคาที่สูงกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นเลย เหตุผลในตอนแรกก็คือราคาที่เสนอมาซึ่งต่ำไป และในช่วงต่อมากิจการของโรงแรมดีขึ้นทางผู้บริหารก็เลยอยากจะเก็บเอาไว้ทำเอง

ปี 2529 ธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้ด้วยความยินยอมของธนาคารกรุงไทยในฐานะผู้บริหารได้ทำการฟ้องล้มละลายรามาทาวเวอร์ เพื่อขายทอดตลาดโรงแรมรามาการ์เดนส์และทรัพย์สินชดใช้หนี้ แต่ภายหลังคดีสิ้นสุดลงโดยที่กรุงไทยเป็นฝ่ายชนะกลับไม่มีการบังคับคดีเพื่อขายทอดตลาดแต่อย่างใด กลับมีการแต่งตั้งบริษัทเคทีแมเนจเมนท์ขึ้นมาบริหารโรงแรม บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียนเพียง 100,000 บาท ถือหุ้นโดยธนาคารกรุงไทย ผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยที่เป็นกรรมการของรามาทาวเวอร์อยู่ด้วยและพนักงานธนาคารกรุงไทยอีกหลาย ๆ คน เคทีเมเนจเมนท์มีรายได้จากการรับจ้างบริหารโรงแรมไม่ว่าโรงแรมจะขาดทุนหรือกำไร โรงแรมรามาการ์เดนส์จึงมีเจ้าหนี้ลูกหนี้ ผู้บริหารเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ปลายเดือนตุลาคม 2530 ภุชงค์ เพ่งศรี ประกาศว่าจะไม่ขายรามาการ์เดนส์เพราะกิจการดีขึ้นมาก แต่หลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารกรุงไทยก็ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดโรงแรมในราคาประเมิน 444 ล้านบาท ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ผู้ที่ประมูลได้ก็คือบริษัทวิภาวดีรังสิตโฮเต็ลในราคา 565 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยก็เข้าประมูลด้วยแต่สู้ราคาไม่ไหว

บริษัทวิภาวดีรังสิตโฮเต็ลเป็นบริษัทของกลุ่มปัญจพลไฟเบอร์ที่ทำธุรกิจกระดาษคราฟท์ ขณะนี้กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะขายต่อหรือจ้างคนมาบริหาร ส่วนธนาคารกรุงไทยก็ได้รับการชดใช้หนี้ 545 ล้านคืนไป พร้อมกับสร้างตัวอย่างการบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่ยังไม่มีคำจำกัดความไว้เป็นกรณีศึกษา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.