|

แบงก์กรุงศรีฯไม่สิ้นหวัง ขยายธุรกิจฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการขยายธุรกิจนั้นไม่ได้กดดันแบงก์กรุงศรีฯหยุดการขยายธุรกิจ ยังคงรุกทั้งตลาดแบงแอสชัวรันส์ โดยเฉพาะการบุกเข้าตลาดลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องธุรกรรมการเงิน แต่ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าแบงก์แห่งนี้จะเดินเครื่องลุยแหลกสวนทางภาคธุรกิจการเงินที่ขยายตัวอย่างระมัดระวัง เพราะในท้ายแล้วการโตอย่างมั่นคงยังเป็นเรื่องที่แบงก์กรุงศรีให้ความใส่ใจ
ตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังคงแสดงท่าทีเชื่อมันว่าการขยายธุรกิจของธนาคารในปี 2552 ยังดำเนินต่อไปได้แม้จะมีอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวก็ตามที แต่เนื่องจากธนาคารยังเห็นช่องทางที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ เช่น การปล่อยสินเชื่อกับลกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น การขยายตลาดแบงแอสชัวรันส์ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นกิจการที่ประกอบธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อย
การประกาศตัวของธนาคารกรุงศรีฯที่จะเข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจการเงินนั้น เพราะ ตัน บอกว่า ต้องการจะขยายตลาดให้เติบโตเร็วขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจรายย่อยที่วาดหวังว่าจะต้องโตเป็นสองเท่าของธุรกิจลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอี ดังนั้นกิจการที่ธนาคารกรุงศรีให้ความสนใจเข้าซื้อจะต้องเป็นธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตซึ่งธนาคารมีแผนจะออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้ เพื่อรองรับการซื้อกิจการดังกล่าว
การมองหากิจการที่เอื้อต่อการขยายตัวของธนาคารกรุงศรีฯ มาจากแผนที่ธนาคารวางไว้คือปี 2552 จะเน้นขยายตลาดลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยตันให้ความเห็นว่า ลูกค้ายย่อยสามารถสร้างรายได้มากกว่าลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่มีอำนาจในการต่อรองสูงอำนาจดังกล่าวย่อมส่งผลต่อรายได้ของธนาคารได้เช่นกัน ดังนั้นการขยายฐานออกไปจับรายย่อยเพิ่มขึ้นจะทำให้ฐานที่มาของรายได้ธนาคารกว้างขึ้น
แม้ปัจจัยเสี่ยงรายย่อยจะมีสูงก็ตาม แต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ สำหรับการประเมินความเสี่ยงแล้วลูกค้ารายใหญ่ในบางธูรกิจก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดย ตันบอกว่า การเข้ามาจับฐานรายย่อยเพิ่มขึ้นนั้นช่วยกระจ่ายความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างมากซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน
ตัน บอกว่า ใมนปี 2552 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 35,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 6% จากฐานสินเชื่อ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายขยายสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตสุทธิประมาณ 9,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี เติบโตสุทธิประมาณ 11,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยเติบโตสุทธิประมาณ 15,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปดูผลการดำเนอนงานของธนาคารในปี 2551 ตัน บอกว่าพอใจกับผลการดำเนินงานภายหลังเข้าซื้อกิจการ จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับธนาคาร ในขณะที่การขยายสินเชื่ออยูที่ 44,000 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานในปี 2551 ธนาคารและบริษัทในเครือมีกำไรก่อนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาษีจำนวน 11,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 50 และหลังตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
จำนวน 6,060ล้านบาท และภาษีจำนวน 560 ล้านบาท ธนาคารมีกำไรสุทธิ 4,890ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 3,990 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาษีตามเกณฑ์ IAS 39
สำหรับสินทรัพย์รวม ณวันที่ 31 ธันวาคม 2551 อยู่ที่ 745,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92,900 ล้านบาท หรือ 14% เมื่อเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2550 เงินให้สินเชื่อ 557,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106,700 ล้านบาท หรือ 24% และเงินฝากอยูที่ 537,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,700 ล้านบาท คิดเป็น8% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) ที่ระดับ 15.6% โดยเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1(tier 1)12.8%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|