|

วิกฤตอุตฯเหล็กหนักกว่าปี’40 ‘รัฐ-เอกชน’ย้ำต้องเดินหน้าเหล็กต้นน้ำในไทย.!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
อุตฯเหล็กปักหัวต่อเนื่องจากปลายปี ทั้งออเดอร์นอกลด-แรงซื้อภายในหด ผู้ประกอบการเข้าเนื้อสต๊อกสินค้าขายไม่ออก ประธานกลุ่มเหล็กย้ำวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงกว่าปี’40 ขณะที่ “ภาครัฐ-เอกชน”หวังเห็น “โครงการเหล็กต้นนำ” เกิดขึ้นจริง ด้าน ก.อุตฯเตรียมชงครม.อนุมัติแผนเดินหน้าโครงการ ขณะที่ “ผอ.สถาบันเหล็กฯ”ย้ำไทยต้องมีโครงการเหล็กต้นน้ำเพื่อลดต้นทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเหล็กทั้งระบบ.!
ดูเหมือนว่าทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กจะดิ่งหัวลงเรื่อยๆนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพราะทั้งปัจจัยภายในและภายนอกของอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ร้ายแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างและโครงการเมกะโปรเจกต์ จะมีผลต่ออุตสาหกรรมเหล็กอย่างไร
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่ดูเหมือนว่ายังไม่เกิดในบ้านเราขณะที่“เครือสหวิริยาฯ”ที่ลงทุนไปแล้วก็ต้องหยุดโครงการชั่วคราว เพื่อรอดูความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมหวังว่าจะผลักดันให้เป็นหนึ่งใน “วาระแห่งชาติ” เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนมีเหล็กต้นน้ำรองรับการลงทุน อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ล่าสุดเวียดนามไปประกาศพัฒนาเหล็กต้นน้ำเช่นกัน หากไทยตัดสินใจล่าช้าจะทำให้โอกาสการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้นในอนาคต
เหล็กฯดิ่งหัวต่อเนื่อง
“พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์เหล็กตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศกับ“ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”ว่าขณะนี้สถานการณ์การค้าเหล็กภายในประเทศถือว่าแย่มากเพราะกำลังซื้อในประเทศไม่มี ความต้องการซื้อทั้งจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่หรือขยายเพิ่มเติมก็ไม่มี ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กตอนนี้ถือว่าลำบากมาก
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อที่ลดลงทำให้มีปริมาณสินค้าคงคลังในสต็อกเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 ล้านตันซึ่งผู้ประกอบการบางรายได้หยุดการผลิตชั่วคราวหรือบางรายได้ลดกำลังการผลิตลงเหลือ 30-40% เพื่อรักษาสินค้าคงคลังไม่ให้มีมากเกินไป
“จากเดิมที่รับสินค้ามาขาย 1-2 เดือนก็ขายหมดแต่ตอนกลับกลายเป็นว่าต้องรอถึง 4-5เดือนกว่าจะระบายสินค้าได้หมดสภาพคล่องในธุรกิจจึงไม่มี”
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กยังระบุอีกว่า ทั้งเหล็กแผ่น และเหล็กเส้นต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดมียอดขายลดลงกว่า 25-30% ทำให้คาดว่าปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงกว่า 15-20 % จากปีที่แล้ว
ช้ำหนัก!วิกฤตกว่าปี’40
ขณะที่การส่งออกไปยังต่างประเทศถือว่าวิกฤตหนักที่สุดเพราะในช่วงปี2540 แม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจแต่อุตสาหกรรมเหล็กยังส่งออกไปได้ แต่ปีนี้ปัจจัยภายนอกแรงมากทำให้เชื่อว่ายอดขายของกลุ่มประเทศส่งออกหลักอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่มียอดการส่งออกรวมกันว่า 40% จะลดลงไปอย่างมากขณะที่กว่าอีก 60% ในกลุ่มตลาดอาเซียนยังถือว่าทรงตัว
“ปีนี้อุตฯเหล็กได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากที่สุดมากกว่าปี 2540 ด้วยซ้ำ เพราะปี 2540 กลุ่มอุตฯเหล็กยังส่งออกได้แต่ปีนี้หนักกว่าเพราะทั้งภายในและนอกประเทศไม่มีกำลังซื้อเลย” พยุงศักดิ์ อธิบาย
ดังนั้นในไตรมาสแรกของปีนี้ผู้ผลิตเหล็กยังไม่รู้ว่าจะวางแผนอย่างไร เพราะต้องดูทิศทางภาวะเศรษฐกิจของไทยและของโลกก่อน หลังจากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา อาทิ อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และนโยบายเมกกะโปรเจกต์ในระยะสั้นจะยังไม่มีผลบวกต่อกิจการเหล็กในประเทศเพียงแต่จะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์ที่เคยขายไม่ได้ กลับมาค้าขายได้อีกครั้ง
หวั่นนักลงทุนเบนเข็มไป ‘เวียดนาม’
อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีความต้องการผลักดันอุตสาหกรรมเหล็กเป็น “วาระแห่งชาติ”ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 4 แห่ง คือ จังหวัดชุมพร บริเวณ อ.ปะทิว และ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 แห่งคือ อ.สิชล ,อ.ขนอม สุราษฎร์ธานี ที่ อ.ดอนสัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ อ.กุยบุรี นั้น เขาเชื่อว่าจะช่วยเรื่องการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจลงทุนในโครงการเหล็กต้นน้ำ และช่วยให้เม็ดเงินในระบบมีมากขึ้นเพราะการสร้างโรงงานเหล็กแต่ละแห่งต้องลงทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังฟื้นความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศทำให้นักลงทุนกลุ่มอื่นที่สนใจก็พร้อมจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากสร้างโรงงานเหล็กต้นน้ำได้จะทำให้ราคาเหล็กในประเทศไม่ผันผวน ทั้งลดการนำเข้าเหล็กของไทยได้
ทว่าหากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการขับเคลื่อนโครงการเหล็กต้นน้ำจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุน อย่างญี่ปุ่น เปลี่ยนการตัดสินใจหันไปเลือกลงทุนในเวียดนามแทนได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องรีบตัดสินใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
“ปีที่แล้วไทยนำเข้าเหล็กด้วยมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาทหรือประมาณ 13ล้านตันหากไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำไทยจะสูญเสียโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศก็ได้” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกล่าว
รัฐ-เอกชนเดินหน้า ‘เหล็กต้นน้ำ’
อย่างไรก็ดีการหยุดชะลอโครงการเหล็กต้นนำของเครือสหวิริยาฯอาจจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศชะลอการลงทุนและรอความชัดเจนจากภาครัฐไปอีกสักระยะ ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยคณะทำงานแต่ละชุด มีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แทน มีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการ บทบาทคณะทำงานแต่ละชุดจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีจุดหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในประเทศไทย โดยชุมชนให้การยอมรับ
รายงานข่าวจากระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจอนุมัติแผนสนับสนุนโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ(โรงถลุงเหล็ก) ในไทยโดยจะนำเสนอว่าผลการศึกษาของสศช.ที่สรุปพื้นที่ที่เหมาะสมในการลงทุน รวมทั้งจะขอให้ ครม.เศรษฐกิจแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมาผลักดันเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นมีนักลงทุนจากต่างประเทศแสดงความต้องการเข้ามาลงทุน รวม 4 ราย อาทิ บริษัท นิปปอนสตีล และ บริษัท เจอเอฟอีสตีล จำกัด จากญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็จะนำข้อมูลไปโรดโชว์ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่จะไปโรดโชว์ดึงการลงทุนที่ญี่ปุ่นในเดือน ก.พ.
ไทยต้องมี “เหล็กต้นน้ำ”
ในเรื่องดังกล่าว“วิกรม วัชระคุปต์” ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยอธิบายถึงการเดินหน้าโครงการว่า เพื่อให้โครงการเหล็กต้นน้ำในประเทศสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว สถาบันเหล็กฯจะเข้าไปหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเลือกตัวนักลงทุนที่จะได้รับการส่งเสริมการลงโครงการเหล็กต้นน้ำเอาไว้ก่อน ในระหว่างที่สถาบันเหล็กฯ เดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ เพราะปี 2552 เป็นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นจึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับโครงการลงทุนเหล็กต้นน้ำ ซึ่งหากมีการก่อสร้างก็จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3- 4 ปี
นอกจากนี้สถาบันเหล็กฯ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาและจะดำเนินการศึกษาในพื้นที่มีการศึกษาอยู่เดิมของสศช.เพิ่มเติมถึงผลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหากจะมีโครงการลงทุนเหล็กต้นน้ำเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทั้งผลกระทบทางทะเล และบนชายฝั่ง รวมถึงผลกระทบทางสังคม สุขอนามัย ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษานานกว่า 1 ปี
“หากมีโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำจะลดต้นทุน 30-40 ดอลลาร์/ตัน และไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้เหล็กเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีเหล็กต้นน้ำเป็นของตนเอง”
อย่างไรก็ดีไทยต้องนำเข้าเหล็กปีละ 6 แสนล้านบาทจึงเป็นตลาดสำคัญที่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกต่างสนใจที่จะเข้ามาปักฐานลงทุน เพื่อฉกฉวยโอกาส แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง ซึ่งเชื่อว่าหากการเมืองไทยนิ่งกว่านี้ โอกาสที่ญี่ปุ่นจะย้ายฐานมาไทยจะเพิ่มขึ้น หากภาคเอกชนอาศัยจังหวะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในการเข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ย่อมได้ประโยชน์ เนื่องจากค่าก่อสร้าง และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ปรับลดลงอย่างมาก และกว่าโครงการจะแล้วเสร็จก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี พอถึงจังหวะนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น
ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าโครงการเหล็กต้นนำในประเทศไทยจะเกิดได้จริงหรือไม่ เพราะหากชุมชนใกล้เคียงไม่ยอมรับการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ไช่ว่าจะผ่านง่ายๆซึ่งผู้ประกอบการและชุมชนต้องยอมรับข้อเสนอซึ่งกันและกัน เพื่อให้โครงการลงทุนกว่า 1 แสนล้านได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายบนสมการวิน-วินทั้งคู่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|