‘โตโยต้า’เล็งขอรัฐช่วยลดภาษี


ผู้จัดการรายวัน(4 กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“โตโยต้า”เตรียมหารือภาครัฐขอลดภาษีสรรพสามิต หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อธุรกิจ พร้อมหวังอัตราการจ่ายภาษีนิติบุคคลปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงกับเรตของประเทศเพื่อนบ้าน จากปัจจุบันที่มีอัตราสูงถึง30% ส่วนภาพรวมทั้งปีคาดยอดขายวูบ 24% ชี้ต้องเฝ้าภาวนาให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาสัมฤทธิ์ผล เพื่อให้โดยรวมทรุดตัวไม่มาก

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวทางที่จะนำเรื่องการขอปรับลดภาษีสรรพสามิตเข้าไปหารือกับรัฐบาล หลังจากการดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้มองว่าภาษีนิติบุคคลที่ปัจจุบันภาครัฐจัดเก็บประมาณ 30%นั้น ถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซียซึ่งมีการจัดภาษีในส่วนนี้เพียง 25% และสิงคโปร์อยู่ที่ 18% ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าประเทศไทย อัตราภาษีดังกล่าวควรอยู่ในระดับใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี2552 จะลดลง 24% อยู่ที่ 1.08 ล้านคันต่อปี โดยแบ่งเป็นตลาดรถยนต์ในประเทศ 5 แสนคันต่อปี และการส่งออก 5.8 แสนคันต่อปี ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งตลาดรถยนต์โดยรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านคันต่อปี แบ่งเป็นการส่งออก 7.8 แสนคัน และภายในประเทศ 6.15 แสนคัน

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ผู้ประกอบการได้ประมาณการว่าตัวเลขการเติบโตยอดขายในไตรมาส 1/2552 จะลดลงประมาณ 40% และตลอดทั้งปียอดขายจะลดลงประมาณ 15-20% ในเงื่อนไขหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ตามในปี 2552 บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ยังเน้นที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์)ให้เป็นอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยต่อไป โดยในปี 2551 บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ที่ 42.5%

รองประธานกรรมการ โตโยต้า มอเตอร์ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดส่งออกปีนี้ว่า ขณะนี้ในตลาดต่างประเทศเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบและผันผวนมาก ทำให้ประมาณการเรื่องนี้ได้ลำบาก ส่วนภายในประเทศมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ควรที่จะได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นตลาด ซึ่งหมายถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมที่รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจและใช้ความรวดเร็ว เพราะมาตรการที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้จะเริ่มส่งผลอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นภาครัฐควรมีการประมวลผลและปรับแผนใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในปี2553ด้วย นอกจากนี้ภาคเอกชนก็ควรที่จะปรับตัวรับมือในเรื่องดังกล่าวด้วย เช่น การปรับลดต้นทุนและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ขณะเดียวกัน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายปลดพนักงานแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเหตุการณ์เลวร้ายถึงที่สุด อาจจะใช้วิธีการสมัครใจลาออก โดยจะเป็นเฉพาะพนักงานประเภท Sub Contact ซึ่งทางบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยเพิ่มให้เป็นจำนวน 3 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯจะพยายามรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ให้นานที่สุด ตามนโยบายปกป้องบุคลากร รวมถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตตอนกฏหมาย คือ 1. ปฏิบัติตามกฏหมายแรงงานของไทยอย่างเคร่งครัด 2. รักษาข้อตกลงกับแรงงาน และ3. พิจารณาถึงผลกระทบของพนักงานอย่างรอบคอบ

พร้อมกันนี้นโยบายการแจกเงินของรัฐบาลให้กับผู้ที่ประกันตนกับประกันสังคมและมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทนั้น จากการสำรวจพนักงานภายในบริษัทพบว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างแน่นอน และคงไม่มีการเก็บไว้ตามที่หลายฝ่ายกังวล ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายออกมาเพื่อเติมอีก

ก่อนหน้านี้ นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่าในปีนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจและวิกฤติการเงินโลกจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และจะส่งผลกระทบกับธุรกิจส่งออกของไทย รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งในส่วนของโตโยต้าเริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะตลาดหลักๆในหลายประเทศ ชะลอตัว ทำให้บริษัทต้องปรับตัวหันมาเน้นศักยภาพในการทำตลาดในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยอมรับว่าวิกฤตในครั้งนี้ส่งกระทบต่อการวางแผนการผลิตในระยะยาวด้วยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.