|
โออิชิแก้มปริโต2หลักรอบ9ปีทุ่ม200ล.-เล็งส่งอาหารขายญี่ปุ่น
ผู้จัดการรายวัน(3 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
โออิชิมีเฮ ปีที่แล้วเติบโต 30% ด้วยเลขสองหลักในรอบ 9 ปี ปีนี้ทุ่มอีก 200 ล้านบาท เปิดอีกทุกแบรนด์รวมกว่า 20 สาขา เร่งเจรจาซื้อแฟรนไชส์เพิ่มพร้อมส่งอาหารออกขายในญี่ปุ่น
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการปีที่แล้วคาดว่าจะมีการเติบโต 20-30% ถือเป็นการเติบโตด้วยเลขสองหลักในรอบ 9 ปีของโออิชิ
นายไพศาล อ่าวสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารโดยรวมในปีนี้คาดว่าจะเหนื่อยกว่าปีที่แล้ว การลงทุนและการทำตลาดต้องรอบคอบและมีความคุ้มค่ามากขึ้น แม้ว่าปีนี้ราคาน้ำมันอาจจะไม่สูงเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็มีขึ้นลงตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากว่ามีโมเมนตัมที่ดี จากการปรับตัวมาตลอด และการใช้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขายโดยที่ไม่ได้เพิ่มราคาให้กับผู้บริโภครวมทั้งกลยุทธ์ทางด้านเมนูอาหาร ทำให้ผู้บริโภคยังตัดสินใจเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง สังเกตุจาก เดือนมกราคมปีนี้มีการเติบโตมากกว่า 30% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว
ขณะที่รายได้รวมทั้งปีที่แล้ว เติบโตมากกว่า 30% จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 17% โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5,500 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตประมาณ 20% และมีรายได้รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ปีที่แล้วแบ่งเป็น เครื่องดื่ม 55% และอาหาร 45% จากเมื่อก่อนนี้อยู่ที่ เครื่องดื่ม 70% และอาหาร 30% โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้จะมีสัดส่วนเท่ากันคือ 50% เพื่อลดความเสี่ยงลง
ปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาทุกแบรนด์รวมกันกว่า 20 สาขาใกล้เคียงปีที่แล้ว แบ่งเป็น 1.ชาบูชิ 6 สาขา 2.เดลโก้ร้านดีลิเวอรี่ 5 สาขา 3.โออิชิราเมน 3 สาขา 4.ไมโดะโอกินิโชกุโดะ 3 สาขา (ปีที่แล้วเปิดสาขาแรกที่ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต) 5.ซูชิบาร์ 2 สาขา 6.บุฟเฟต์ 1 สาขา ซึ่งเมื่อสิ้นปีที่แล้วมีสาขาทุกแบรนด์รวมกันทั้งหมด 9 แบรนด์รวม 97 สาขา และตั้งเป้างบตลาด 5% จากยอดขาย
ทั้งนี้แบรนด์ชาบูชิเป็นตัวที่เติบโตดีและมาแรง แต่สัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจาก บุฟเฟต์ 65% มาจากราเมน 20% และอีก 15% อื่นๆรวมกัน
บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นหลายแบรนด์เพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่อง ขณะนี้เดียวกันก็เจรจาเพื่อที่จะนำอาหารแบรนด์โออิชิ เช่น เกี๊ยวซ่า ไปจำหน่ายในญี่ปุ่นด้วย
“เราตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยอย่างสมบูรณ์ โดยเริ่มเคลมว่าเป็นผู้นำได้แล้วเมื่อต้นปีที่แล้วด้วยแชร์กว่า 37% จากมูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นรวมกว่า 600 ร้านมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขมาจากยูโรมอนิเตอร์ รองมาคือฟูจิ แต่ปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะโต 10% และเราคงเป็นผู้นำชัดเจนด้วยแชร์มากกว่า 40%” นายไพศาลกล่าว
สำหรับกลยุทธ์ตลาดนั้นจะต้องสร้างความแปลกใหม่และแตกต่างจากผู้ประกอบการในตลาด เพราะมีผู้เล่นมากขึ้นเช่น ซูชิ คนก็หาซื้อหาทานได้ง่ายๆ เราก็ต้องทำแปลกๆเช่น เป็นรูปสามเหลี่ยม รูปทรงกลม หรือมีนหาที่แปลกใหม่เป็นต้น หรือจัดแคมเปญเช่น “The celebration of Nature” ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว โดยนำวัตถุดิบประจำฤดูกาลต่างๆกว่า 70% มาจากญี่ปุ่น มาให้บริการที่ร้านบุฟเฟต์ โดยแคมเปญนี้มีเมนูใหม่กว่า 120 รายการ (ฤดูกาลละ 30 รายการ) มีไฮไลท์อยู่ที่ “ฮามาจิซาซิมิ” จากปลาฮาจิมิสดๆ ซึ่งวางเป้าหมายที่จะะต้องสั่งซื้อมากกว่า 7,000 กิโลกรัมในปีนี้ ส่วนปลาแซลมอนก็สั่งซื้อมากกว่า 370 ตันต่อเดือน เป็นต้น เพราะมองว่า ปลาดิบเช่น ปลาแซลมอน ปลาโอ ที่ร้านอื่นก็มีบริการเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|