"เริงชัย มะระกานนท์ …พ้นพงหนาม?"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เริงชัย เป็นนักเรียนทุนคนแรกของแบงก์ชาติที่ขึ้นถึงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการประจำของแบงก์ชาติ เริงชัยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการสายที่ 5 รับผิดชอบสำนักงานสาขา เดิมสายนี้ถูกยุบไปอยู่ในความดูแลของวารี หะวานนท์ผู้ช่วยผู้ว่าการสาย 3 ภายหลังการเสียชีวิตของอดุลย์ กิสรวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการคนสุดท้ายในโลกนี้ การรื้อฟื้นตำแหน่งนี้ขึ้นมาใหม่ก็เป็นการต้อนรับการกลับมาของเริงชัยจากธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย ขอยืมตัวเริงชัยไปเป็นรองผู้จัดการเมื่อเดือนมีนาคม 2529 ภายหลังจากการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการจากตามใจ ขำภโต เป็นเธียรชัย ศรีวิจิตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ตามแผนการปรับปรุงการบริหารและประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นธนาคารชั้นนำ เพื่อเป็นกลไกของรัฐในการผลักดันนโยบายการเงินของทางการภายหลังจากที่อยู่ในสภาพล้าหลังมานาน การยืมตัวครั้งนี้มีกำหนด 2 ปี แต่เพียงปีครึ่งเท่านั้นเริงชัยก็อยู่ไม่ได้ต้องกลับแบงก์ชาติเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2530

เริงชัยในตำแหน่งรองผู้จัดการกรุงไทยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสายงานวิชาการ และวางแผนรวมทั้งการพัฒนาธุรกิจ งานเร่งด่วนในตอนนั้นก็คือ การปรับปรุงระบบงานและแก้ไขปัญหาหนี้สินรายใหญ่ 3 รายของกลุ่มศรีกรุงวัฒนาของสว่าง เลาหทัย กลุ่มสยามวิทยาของสุระ จันทร์ศรีชวาลา และชะอำ ไพน์แอปเปิ้ล หนี้สิน และดอกเบี้ยรวมกันกว่า 12,000 ล้านบาท ในระยะแรก ๆ แผนการและข้อเสนอของเริงชัยเดินไปอย่างราบรื่น ข้อเสนอต่าง ๆ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารด้วยดี

ตอนนั้นสมหมาย ฮุนตระกูลยังเป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ ความเป็นหลานเขยของสมหมายอาจจะมีส่วนให้เริงชัยทำงานได้สะดวก

เดือนพฤษภาคม 2530 มีข่าวว่าเริงชัยขอกลับแบงก์ชาติเพราะทำงานไม่ได้เพราะเกิดความขัดแย้งและไม่ได้รับความร่วมมือในการทำงานจากผู้บริหารของกรุงไทย ความขัดแย้งนั้นมาจากลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน เริงชัยนั้นจริงจังและรวดเร็วในการทำงาน มีนโยบายในเชิงรุก ขณะที่เธียรชัย ศรีวิจิตรและผู้บริหารอื่นที่เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของกรุงไทยยังติดอยู่ในวัฒนธรรมปฏิบัติแบบราชการ เริงชัยถูกมองว่าล้ำเส้น ตัวเองนั้นเป็นแค่รองผู้จัดการไม่ได้เป็นกรรมการบริหารด้วยจึงไม่มีอำนาจอะไรมากนัก แถมยังมีข่าวว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ขอให้แบงก์ชาติเรียกตัวกลับเอง แต่เริงชัยก็ต้องอยู่ต่อไปเพราะแบงก์ชาติเห็นว่ายังมีงานสำคัญอยู่อีกคือการจัดการกับปัญหาบริษัทเงินทุนในโครงการ 4 เมษา และการรวมธนาคารสยามเข้ากับธนาคารกรุงไทย นอกจากนั้นทางแบงก์ชาติยังไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับเริงชัย

เดือนกันยายน 2530 เป็นช่วงที่มีข่าวความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยมากที่สุด กระทรวงการคลังนั้นเป็นเจ้าของกรุงไทยเพราะถือหุ้นอยู่ 76% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการทำงานของธนาคาร การทำงานของกรุงไทยนั้นเป็นไปตามวิถีทางของระบบราชการทุกกระเบียดนิ้ว แบงก์ชาติต้องการให้มีการปรับโครงสร้าง ระบบการทำงานใหม่ รวมทั้งการสะสางหนี้เสีย ๆ ด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก แบงก์ชาติต้องการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคอยกำกับดูแลการปรับปรุงโครงสร้างและการปฏิบัติงานของกรุงไทย โดยผลักดันเรื่องนี้ผ่านกระทรวงการคลัง แต่ทางกรุงไทยที่มีปลัดกระทรวงการคลัง พนัส สิมะเสถียรเป็นประธานไม่ต้องการโดยอ้างว่า ทางกรุงไทยมีคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างอยู่แล้ว สามารถดูแลกันเองได้ข้อเสนอของแบงก์ชาติอีกเรื่องหนึ่ง คือการขอส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการธนาคารด้วยโดยอาศัยเงื่อนไขในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 6,000 ล้านบาทแก่กรุงไทย ในนามกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นข้อต่อรองเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ เป็นการให้เพื่อแบ่งเบาภาระที่กรุงไทยรับเอาธนาคารสยามเข้ามา แต่ทางกระทรวงการคลังไม่ต้องการให้คนของแบงก์ชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวในกรุงไทยจึงปฏิเสธเงื่อนไขข้อนี้ โดยอ้างว่าแบงก์ชาติมีคนเข้ามาดูแลในระดับปฏิบัติการอยู่แล้ว

เดือนกันยายน 2530 จึงมีข่าวว่าแบงก์ชาติขอตัวเริงชัยกลับเพื่อไปรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

"ผมว่าโลกธุรกิจมันสลับซับซ้อนเกินกว่าคนแบงก์ชาติจะตามทัน" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" วันหนึ่งถึงบทเรียนที่ได้รับรู้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.