การแข่งขันกีฬาบอลลูน

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข่งขันกีฬาบอลลูนมีมานานแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป แต่งานที่ดีที่สุดในโลกคือ "Saga International Balloon Fiesta" ซึ่งจัดขึ้นช่วงต้นพฤศจิกายนของทุกปีที่ประเทศญี่ปุ่น ณ เมือง Saga ตามแนวฝั่งแม่น้ำคาเซะ

งานชุมนุมบอลลูนในญี่ปุ่นครั้งแรกจัดกันในปี 1978 จากงานชุมนุมแข่งขันบอลลูนเพียง 5 ลูก ที่เมือง Amagi ใน Fukuoka เป็นงานเล็กๆ ในจังหวัด Kyushu

ค.ศ.1984 งานชุมนุมเปลี่ยนมาเป็น "การแข่งขันในระดับนานาชาติ" (international competition) และในปีเดียวกันมีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก (Japanese National Hot Air Balloon Championship) มีนักบอลลูนจากทั่วประเทศเข้าร่วมตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา มีนักบอลลูนจากนานาชาติเข้าร่วมแล้วกว่า 640 ทีม มีลูกเรือกว่า 3,000 คน

ค.ศ.1990 มีการจัดชิงถ้วยชิงแชมป์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Pacific Championship) เป็นครั้งแรก และระหว่างปี 1990-1996 นักบินหญิงจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน Ladies World Cup ซึ่งจัดขึ้นที่ Saga เป็นแห่งแรกในโลก

ค.ศ.1992 มีการแบ่งประเภท Special shaped balloons ออกมา เรียกว่า Balloon Fantasia และยังมีการริเริ่มเล่นกิจกรรมภาคกลางคืนร่วมกัน เรียกว่า La Montgolfier Nocturne หรือที่รู้จักกันว่า Balloon Night Glow จนกลายมาเป็น Highlight ของงาน

ค.ศ.1997 งานแข่งขันชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 13 จัดขึ้นที่ Saga (13th Hot Air Balloon World Championships) ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่จัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 112 ทีม จากกว่า 38 ประเทศ ประกอบกับมีการแข่งขัน Honda Grand Prix Final Battle การแสดง Balloon Fantasia ทำให้ท้องฟ้าเมือง Saga เต็มไปด้วยบอลลูนกว่า 170 ลูก

ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี ที่เมือง Karatsu ก็จัดงาน Karatsu Kunchi Festival (ขบวนแห่รูปสัตว์บกและสัตว์ทะเลต่างๆ แห่ไปในเมือง ซึ่งเทศกาลนี้มีมานานกว่า 300 ปี) จึงเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชมจังหวัด Kyushu ในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา มีผู้เข้าชมงาน Saga Inter-national Balloon Fiesta แล้วกว่า 10 ล้านคน

รูปแบบการแข่งขันบอลลูนอากาศร้อนจะไม่ขึ้นอยู่กับความเร็วหรือระยะทางที่แข่งขัน แต่เป็นการแข่งกันเก็บคะแนนในความแม่นยำ และบรรลุวัตถุประสงค์ในเวลาที่กำหนดของแต่ละภารกิจ โดยปกติจะตั้งโจทย์ให้นักบินบอลลูนทิ้งถุงทราย หรือ Marker ลงจุดที่ทางผู้จัดการแข่งขัน หรือนักบอลลูนกำหนดตั้งแต่เริ่มต้น โดยให้มีคะแนนติดอันดับ 1-20 ซึ่งจะกำหนดภารกิจดังนี้

JDG (Judge Declared Goal) นักบอลลูนบินไปยังเป้าหมายตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอยู่ในระยะทางระหว่าง 4-6 กิโลเมตรจากจุดปล่อยบิน จากนั้นก็ทิ้ง marker ให้ตรงเป้าหมาย ทีมที่ทิ้ง marker ได้ใกล้เป้าหมายที่สุดจะได้รับ 1,000 คะแนน

HWZ (Hesitation Waltz) จะคล้ายกับ JDG แต่มีเป้าหมายหลายจุด นักบินเลือกหนึ่งจุด และทิ้ง marker ให้ตรงจุดที่เลือก

FIN (Fly In) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย ซึ่งปกติจะเป็นสนามปล่อยบิน (Launch field) นักบินถูกกำหนดให้บินเข้ามาจากจุดอื่นๆ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยนักบินจะเป็นผู้เลือกจุดปล่อยบินได้เอง

HNH (Hare And Hound) เริ่มจากการปล่อย "บอลลูนเหยื่อล่อ" ออกจากจุดปล่อย หลังจากนั้น 15-30 นาที "บอลลูนไล่ล่า" ก็จะถูกปล่อยจากจุดปล่อย บอลลูนเหยื่อล่อจะทำการบินอยู่ประมาณ 30-60 นาที จึงจะลงจอดและจัดเตรียมเป้าหมายให้บอลลูนไล่ล่า ซึ่งต้องตามหาเป้าหมายและทิ้ง marker บนเป้าหมายที่บอลลูนเหยื่อล่อเตรียมไว้

PDG (Pilot Declared Goal) นักบินจะกำหนดเป้าหมายของตัวเองก่อนบิน จากนั้นก็พยายามทิ้ง marker บนจุดที่เลือก นักบินจะไม่สามารถบรรลุภารกิจนี้ได้เลย ถ้าไม่มีการคำนวณทิศทางและความเร็วของลมและอ่านแผนที่อย่างเที่ยงตรง ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยากและเป็นบททดสอบที่ดีสำหรับ การทดสอบทักษะของนักบิน

FON (Fly On) ภารกิจนี้เป็นภารกิจต่อเนื่องจาก PDG หลังจากเป้าหมายแรกที่ทำการทิ้ง marker นักบินต้องบินต่อเพื่อหาเป้าหมายต่อไปที่ระบุไว้จากตำแหน่งเป้าหมายแรก จะเหมือนกับ PDG

MND (Minimum Distance) นักบินถูกตั้งโจทย์ให้บินในเวลาที่กำหนด เช่น 30-45 นาที ก่อนที่จะทิ้ง marker นักบินที่ทิ้ง marker ได้ใกล้จุดศูนย์กลางของเป้าหมายจะได้รับ 1,000 คะแนน เป็นการทดสอบความสามารถในการบินรักษาตำแหน่งของนักบิน

MNDD (Minimum Distance Double Drop) นักบินทิ้ง marker ใน 2 ถุง ในตำแหน่งที่ต่างกัน ทีมที่สามารถทิ้ง marker ได้ใกล้กันมากที่สุดจะชนะในภารกิจนี้

MXDD (Maximum Distance Double Drop) นักบินทิ้ง marker ใน 2 ถุง ในตำแหน่งที่ต่างกัน ทีมที่สามารถทิ้ง marker ได้ห่างกันมากที่สุดจะชนะในภารกิจนี้

CRAT (Calculated Rate of Approach Task) เหมือนกับ FIN เป้าหมายจะถูกกำหนดอยู่ในจุดปล่อยบิน (launch field) โดยคณะกรรมการจัดงาน นักบินจะเลือกทำการบินจากข้างนอกเข้ามาทิ้ง marker ในจุดที่กำหนด โดยจะกำหนดเวลาและพื้นที่ทำการบิน จึงต้องคำนวณเวลาและลมอย่างถี่ถ้วน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.