BABYMINE เล่าเรื่องผ่านความเงียบปนความว่าง

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อพูดถึง "ละครใบ้" สำหรับคนที่ไม่เคยชมมาก่อน บางคนอาจนึกถึงภาพคนหน้าขาวทำท่าหุ่นยนต์อยู่ริมถนน บ้างก็คิดถึงโชว์ตลกโปกฮาที่ไม่ต้องมีบทพูด ดูไม่มีแก่นสาร และมักดูไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากได้สัมผัสกับละครใบ้ของนักแสดงหนุ่มจากคณะ "BABYMIME" ความคิดเหล่านี้ของใครหลายคนอาจเปลี่ยนไป

คนหน้าขาวทั้ง 3 อยู่ในชุดสีสดใส แสดงอาการด้วยสีหน้าและท่าทางที่น่าขบขันท่ามกลางวงล้อมเสียงหัวเราะของคนดูทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนักเรียนและคนทำงาน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยที่ความต่างทางภาษาไม่เป็นปัญหาในการหัวเราะ

บ่อยครั้งที่การแสดงละครใบ้ของนักแสดงกลุ่มนี้ไม่มีเวทียกพื้น ไม่มีอุปกรณ์เข้าฉากมากมาย ไม่มีฉากอลังการงานศิลป์ มีเพียงผิวฟุตบาทเป็นลานแสดงและที่นั่งชม

ทั้งที่ไม่มีก้อนหิน แต่ด้วยท่าทางแบกหามและสีหน้าแสดงอาการหนักอึ้งก็ทำให้ผู้ชมเชื่อโดยพร้อมเพรียงกันว่านักแสดงแบกหินอยู่ ทั้งที่ไม่มีชักโครกอยู่ในฉาก นักแสดงก็ยังทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่ากำลังอยู่ในห้องน้ำ ทั้งที่ไม่มีลูกบอล แต่ลีลาการโยกย้ายเลื้อยไปเลื้อยมา ก็ทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจว่านักแสดงกำลังสวมบทนักฟุตบอล เลี้ยงบอลอากาศหลบคู่แข่ง

ทั้งที่ไม่มีบทสนทนา แต่บ่อยครั้งคนดูกลับรู้สึกว่านักแสดงกำลังพูดด้วย ทั้งที่ไม่มีซาวนด์เอฟเฟกต์ แต่ในฉากชนแก้วเหล้า แม้ในมือนักแสดงมีเพียงแก้วอากาศ ทว่าผู้ชมหลายคนกลับได้ยินเสียงแก้วชนกันดังก้องหู

ตลอดการแสดงที่ผู้ชมนั่งอมยิ้มชื่นชมความว่างเปล่าและฟังเสียงความเงียบสลับกับเสียงหัวเราะ ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าแท้จริงแล้วการชมละครใบ้ไม่ยากถึงขนาดต้องหอบ "บันได" มาปีนดูอย่างที่หลายคนคิด เพียงแค่ยอมเปิดใจและปล่อยให้ต่อมจินตนาการทำงานบ่อยหน่อย

"การแสดงละครใบ้ยากมาก เพราะมีเพียงตัวเราและจังหวะ แล้วก็มีช่องว่างทางความรู้สึกและประสบการณ์ระหว่างผู้เล่นกับคนดูโดยที่ไม่มีอุปกรณ์หรืออะไรช่วยแต่ต้องมาทำให้มี เหมือนคนโกหก จะต้องโกหกยังไงให้คนเชื่อ เชื่อแล้ว อินไปกับเรา สนุกไปกับเรา หรือร้องไห้ไปเรา"ณัฐพล คุ้มเมธา กล่าวในฐานะนักแสดงกลุ่ม BABYMIME

อีกเสน่ห์ของละครใบ้อยู่ที่การประยุกต์การแสดงเข้ากับคนดูแต่ละรอบ และความสดที่ทำให้คาดเดาปฏิกิริยาจากคนดูได้ยาก การแสดงแต่ละรอบจึงไม่เหมือนกัน ความสนุกจึงอยู่ที่ความตื่นเต้นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักแสดงตรงนี้เอง

"ถ้าเราซ้อมมาดี แสดงดี คนดูก็ชอบ แต่ถ้ามีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นแล้วเราแก้ไขให้ลงเอยด้วยดีได้ คนดูก็จะรักงานแสดงของเราเลย เพราะมันไม่มีในบท คนแสดงก็สนุก คนดูก็สนุก"ณัฐพล หนุ่มวัย 29 ปี กล่าว

ณัฐพลถือเป็นน้องเล็กของ BABYMIME ส่วนพี่ใหญ่ได้แก่ ทองเกลือ ทองแท้ ย่างสู่วัย 32 ปี และรัชชัย รุจิวิพัฒน์ อายุ 30 ปี แม้ว่าทั้ง 3 หนุ่มไม่มีคนไหนจบการแสดงโดยตรง ส่วนบางคนไม่เคยรู้จักละครใบ้เลยด้วยซ้ำ

ทองเกลือจบด้านออกแบบนิเทศศิลป์จากสถาบันราชภัฏสวนดุสิต (สมัยนั้น) ขณะที่รัชชัย จบด้านโฆษณาจากสถาบันเดียวกัน และณัฐพลจบเอกสื่อสารการตลาดจากพาณิชย์พระนครทั้ง 3 หนุ่มรู้จักกันและรู้จักละครใบ้ในฐานะนักแสดงจากคอร์สพิเศษด้านแสดงละครใบ้ ที่เปิดสอน โดย "ไพฑูรย์ ไหลสกุล" ปรมาจารย์ผู้บุกเบิกการแสดงละครใบ้ของเมืองไทย เมื่อเกือบ 9 ปีก่อน

"ตอนนั้นเหมือนกำลังค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร" สามหนุ่มตอบตรงกัน

"สมัยเรียนเคยมีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับการอยู่บนโลกนี้ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขว่ามันอยู่ตรงไหน ก็เลยคิดว่าเราควรทำอะไรที่ซัพพอร์ตความรู้สึกของตัวเองตรงนี้ดีกว่า เราอาจจะชอบงานด้านโฆษณา และเชื่อว่าน่าจะทำได้ดี แต่จะมีความสุขเท่านี้ไหม อาจจะไม่" รัชชัยเป็นตัวแทนเพื่อนอีก 2 คน กล่าวถึงเหตุผลที่ทิ้งวงการโฆษณามาเป็นนักแสดงหน้าขาว

ในปี 2546 นักแสดงละครใบ้คณะ BABYMIME แจ้งเกิดครั้งแรกในเทศกาล Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 6 โดยร่วมแสดงกับนักแสดงละครใบ้ชาวต่างประเทศ

แปลตรงตัว BABYMIME หมายถึงกลุ่มละครใบ้ที่ใช้แรงบันดาลใจและจินตนาการของเด็กในการแสดงให้ดูเข้าใจง่ายๆ สนุกสนาน โดยหยิบเอาเศษเสี้ยวของชีวิตประจำวัน มุมหนึ่งของ ชีวิตคนเมือง เรื่องธรรมดารอบตัวที่มักถูกหลงลืมมาตีแผ่ โดยมีอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะเป็นลายเซ็น (signature) ในการแสดงของพวกเขา

"ศิลปะมันไม่ได้เข้าทางเหตุและผล แต่เข้ามาทางอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่คนดูจะได้รับแน่นอนจากละครใบ้ของเรา คือความบันเทิงและเสียงหัวเราะ ส่วนปรัชญาหรือแก่นสารที่เราส่งไป ถ้าคนดูไม่ได้รับ อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ผมว่านี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของละครใบ้"ณัฐพลกล่าว

ละครใบ้ หรือ "Pantomime"ซึ่งมาจากภาษากรีก เกิดจากคำว่า Pantos แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ผสมกับ Mime ที่แปลว่าเลียนแบบ

ละครใบ้จึงมักหยิบเรื่องราวหรือความรู้สึกที่มักถูกมองข้ามไป นำกลับมาลดทอนความคิดที่ซับซ้อนออกเพื่อทำให้เนื้อเรื่องดูง่ายขึ้น แล้วจึงขยายและขยี้อารมณ์ของคนดูด้วยการสื่อความรู้สึกผ่านการเลียนแบบสีหน้าและท่าทางในอาการที่มักดูเชื่องช้าและ "โอเว่อร์" กว่าความเป็นจริง

ความตื่นเต้นครั้งแรกในการขึ้นเครื่องบิน ความรู้สึกเมื่อนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ที่เก็บจนลืม กว่าจะได้ไก่สักตัวมาทำข้าวมันไก่ มันจะเหนื่อยแค่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำที่แยกไม่ออก อย่างไรบ้าง หรือบรรยากาศการเล่าเรื่องในวงเหล้าจะน่าขันเพียงใด ฯลฯ

เชื่อว่า...หลายคนอาจจะเคยรู้สึกและนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้สักแวบหนึ่ง เพียงแต่เงื่อนไขของชีวิตคนเมืองที่รีบเร่งทำให้ความรู้สึกเล็กๆ นี้ดูไร้สาระเกินกว่าจะคิดถึง

อันที่จริงละครใบ้ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนไทย หลายคนคงรู้จักหนังเงียบเรื่องดัง อย่าง Charlies Chaplin หรือ Mr.Bean เป็นอย่างดี ซึ่งหนังสองเรื่องนี้นับเป็นอีกลักษณะหนึ่งของละครใบ้ และเชื่อว่า หลายคนคงยังจำท่า Moon Walk ของไมเคิล แจ็คสันได้ดี ซึ่งมาจากเทคนิคการเดินแบบละครใบ้นั่นเอง

แต่สำหรับการแสดงละครใบ้ หากย้อนกลับไปกว่า 5 ปีก่อน นับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย โดยเฉพาะการยึดอาชีพเป็น "คนหน้าขาว" หรือนักแสดงละครใบ้ นักแสดงหนุ่มทั้ง 3 คนจึงต้องมุ่งมั่นฝ่าฟันอย่างมากเพื่อให้ได้รับการยอมรับ โดยเริ่มต้นจากคนในครอบครัว

"ช่วงแรกก็เคยท้อ แม่เห็นว่าเรากำลังซ้อมก็นึกว่าบ้าหรือเปล่า จะโขนก็ไม่โขน จะรำก็ไม่รำ เครียดจนต้องปรึกษากับอาจารย์ไพฑูรย์ อาจารย์ก็บอกให้ทำต่อไป ถ้าตัวเราชัดเจน เดี๋ยวที่บ้านก็เข้าใจและชัดจนไปกับเราเอง" ทองเกลือเล่า

ณัฐพลเองก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี เพื่อทำให้ครอบครัวเข้าใจว่า การออกจากบ้านไปซ้อมและแสดงละครใบ้ถือเป็นการออกไปทำงานเลี้ยงชีพของเขา ไม่ใช่งานอดิเรกหรือสนุกไปวันๆ ไม่ทำการทำงาน เช่นที่พ่อแม่ของเขามักเข้าใจไปเอง

ในการพัฒนาฝีมือให้ "เก่ง" หรือเลียนแบบได้เหมือนจนผู้ชมทุกคนเชื่อว่าได้เห็นภาพที่นักแสดงอยากสร้างให้เห็นภายใต้ความว่าง ได้ยินเสียงที่นักแสดงอยากให้ได้ยินท่ามกลางความเงียบ และรักษาภาพและเสียงเหล่านั้นให้ยังคงอยู่ในหัวของผู้ชมได้ตลอด... ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้และสั่งสมศิลปะในการแสดงมากทีเดียว

ด้วยความทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงาน ความพยายามในการพัฒนาฝีมือการแสดงและการหมั่นออกแสดงตามงานเทศกาลหรือสถานที่ต่างๆ บวกกับจำนวนนักแสดงละครใบ้คนไทยที่มีน้อยมาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี BABYMIME จึงได้รับการยอมรับให้อยู่แถวหน้าของวงการละครใบ้ในบ้านเรา และทั้ง 3 หนุ่มก็กลายเป็นกลุ่มนักแสดงละครใบ้เลือดใหม่ของเมืองไทยที่น่าจับตาที่สุด

ตลอดระยะร่วม 6 ปีของกลุ่ม BABYMIME พวกเขาจัดแสดงมาแล้วนับพันๆ รอบทั้งข้างถนนและบนเวที ทั้งเวทีเล็กและเวทีใหญ่ ทั้งในประเทศและร่วมแสดงในต่างประเทศบ้าง

แม้ทุกวันนี้งานแสดงเปิดหมวกข้างถนนแทบจะไม่มีแล้ว แต่พวกเขาก็ยังมีคิวงานแสดงตามเวทีและงานอีเวนต์ต่างๆ เฉลี่ยเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 งาน รวมทั้งมีงานแสดงประกอบมิวสิกวิดีโอและโฆษณาด้วย... โดยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ BABYMIME ก็กำลังจะมีการแสดงบนเวทีใหญ่ประจำปีของพวกเขา ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่สองแล้ว

"ทำงานแบบนี้ เงินคงไม่ใช่ตัวตั้งหรือเป้าหมาย รายได้ที่ได้ก็เรียกว่าแค่พออยู่ได้ บางเดือนงานชุกก็ชดเชยกับเดือนที่ไม่ค่อยมีงาน เพราะตั้งแต่แรกที่มายึดอาชีพ นี้ก็มีคนบอกเสมอว่า รายได้ไม่มั่นคงไม่แน่นอน เราก็เลยจะระมัดระวังการใช้เงินกันอยู่แล้ว" รัชชัยเป็นตัวแทนกล่าว

ดูเหมือนเงินรายได้อาจไม่ใช่รางวัลชีวิตจากการเป็นนักแสดงหน้าขาวของ 3 หนุ่ม แต่ความชุ่มชื้นที่หล่อเลี้ยงพวกเขาให้มีพลังกายและกำลังใจในการทำงานศิลปะแขนงนี้ต่อไปเรื่อยๆ นั่นคือเสียงปรบมือ มิตรภาพ และความทรงจำที่ดีจากผู้ชมกลุ่ม ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ซึ่งพวกเขามักหาเวลาไปแสดงให้กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มนี้บ่อยครั้ง

มากกว่านั้น อีกสิ่งที่ละครใบ้หรือศิลปะตอบกลับมา นั่นก็คือเปลี่ยนให้พวกเขา เป็นคนทีละเอียดอ่อนมากขึ้น เข้าใจโลกมาก ขึ้น และรู้จักเป็นผู้ให้มากขึ้น...สิ่งเหล่านี้รัชชัยมองว่ามีคุณค่ากว่าตัวเงินเป็นไหนๆ

ทองเกลือเองก็รู้สึกว่าละครใบ้ยังช่วยให้เขาได้เข้าใกล้สิ่งที่ตนเองแสวงหามากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือธรรมะ เพราะทุกครั้งที่ทำการแสดงเขามักได้โอกาสเตือนตัวเองเสมอว่า ทุกอย่างที่เขาสร้างบนผืนความเงียบและแผ่นความว่างในละครใบ้ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป...และทุกสิ่งในชีวิตจริงของคนเราก็เช่นกัน

สำหรับเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของทั้ง 3 หนุ่มผู้หายใจเข้าออกเป็นละครใบ้ อยู่ที่การทำให้คนไทยและชาวโลกได้รับรู้ว่านักแสดงละครใบ้ชาวไทยก็มีฝีมือ เวลาที่นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยก็ต้องแวะดูการแสดงของพวกเขาสักครั้งในชีวิต...เหมือนเวลาที่ไปเที่ยวนิวยอร์กก็ต้องแวะดูละครบรอดเวย์ หรือไปเกาหลีใต้ก็ต้องแวะดูการแสดงจัมพ์ เป็นต้น

"มีคนเคยบอกว่า สิ่งที่คนไทยทำได้ดีคือ ทำนา ท่องเที่ยว สิ่งทอ แล้ววันนี้ก็มีโฆษณา อีกอย่าง เราอยากทำให้ทุกคนรู้ว่าคนไทยก็ทำละครใบ้ได้ดี" รัชชัยกล่าวอย่างหนักแน่น

ผ่านมาเกือบ 10 ปีนับแต่วันที่พวกเขาได้รู้จักกับละครใบ้ มาวันนี้ พวกเขาเห็นตรงกันว่าศิลปะแขนงนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในบ้านเรา คนไทยเริ่มสนใจและเข้าใจละครใบ้มากขึ้น ที่สำคัญคือมีนักแสดงละครใบ้รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่รับแรงบันดาล ใจจากการแสดงของ BABYMIME

"ก่อนหน้านี้ เราต้องต่อสู้กับตัวเอง เพราะถ้าเราฝ่อขึ้นมา คนดูก็ฝ่อตาม แต่การวิ่งไปโดยไม่รู้ว่าจุดหมายคืออะไร มันยากนะ พอหลังๆ เริ่มมีคนรุ่นใหม่มาเล่นละครใบ้เยอะขึ้น เราก็ยิ่งรู้สึกดีที่มีคนวิ่งตาม เพราะเราก็จะได้แรงผลักดันให้พัฒนาตัวเองต่อไปไม่ให้ถูกวิ่งแซง วงการละครใบ้ของไทยก็จะได้ขับเคลื่อนไปได้อีกระดับหนึ่ง สิ่งที่เราทำก็ไม่สูญเปล่า" ณัฐพลสรุป

ในฐานะรุ่นพี่ในวงการศิลปะแขนงนี้ ทั้ง 3 หนุ่มกล่าวทิ้งท้ายถึงรุ่นน้องที่อยากก้าวตามมาในแวดวงละครใบ้เอาไว้อย่างน่าฟัง...

"ถ้าคุณรักใครมากๆ ก็จะยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อเขา ถ้าคุณรักละครใบ้ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อมันและต้องทำอย่างบ้าคลั่ง แล้วถ้าวันหนึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณแสวงหา อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากตรงนี้ แต่ถ้าใช่ คุณก็ได้สิ่งที่รักมาอยู่ในมือ อยู่ในใจ และอยู่ในตัวคุณ โดยที่ไม่ต้องกลัวอดตาย เพราะความรักจะทำให้เราอดทนและหาวิธีอยู่รอดเพื่อทำในสิ่งที่รักได้เสมอ"

...เหมือนกับที่ทั้ง 3 หนุ่มแห่งกลุ่ม BABYMIME ได้ฝ่าฟันและผ่านพ้นจนมายืนในแถวหน้าของวงการได้แล้ว เฉกเช่นในวันนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.