ศิริชัยเริ่มประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงตั้งแต่กลางปี 2529 มีหนี้สินกว่า
2,000 ล้านบาท ในรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีประกอบงบการเงิน แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลจนถึงวันที่
30 มิถุนายน 2529 ระบุไว้ว่า บริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลของการเจรจากับธนาคารและสถาบันการเงิน
เจ้าหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้
ในการจัดทำรายละเอียดโครงสร้างหนี้สินใหม่ได้เสร็จลงเมื่อต้นปี 2530 ทางกลุ่มเจ้าหน้าที่มีธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่น
ๆ ต้องการให้ศิริชัยมาเซ็นสัญญารับสภาพหนี้ใหม่ แต่ศิริชัยเกี่ยงให้ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อน
ก่อนหน้านี้ศิริชัยได้ขายหุ้นของตนออกไปจนเหลือเพียง 10% แต่ยังเป็นผู้บริหารอยู่
การประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2530 ล้มเหลวเพราะไม่ครบองค์ประชุม
ศิริชัยอ้างว่าเอกสารการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ต้องเลื่อนไปประชุมตอนต้นเดือนเมษายน
ซึ่งที่ประชุมได้มีการแก้ไขรายละเอียดในบางจุด หลังจากนั้นต้องมีการเซ็นสัญญาแต่อย่างใด
และการประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2530 ก็ทำไม่ได้
ด้วยข้ออ้างว่าลายเซ็นและตราประทับในหนังสือขอเปิดประชุมของผู้ถือหุ้นไม่ถูกต้องทำให้จำนวนผู้ขอเปิดประชุมไม่ถึง
1 ใน 5
วาระการประชุมในวันที่ 18 พฤษภาคมนั้น นอกจากการรับรองโครงสร้างหนี้ใหม่แล้วยังมีวาระการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารด้วย
การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้เลื่อนไปเป็นวันที่ 23 มิถุนายน หลังจากที่ทางผู้ถือหุ้นขู่ว่าถ้าเรียกประชุมเองไม่ได้ก็จะให้ศาลสั่งให้มีการประชุม
ศิริชัยใช้วิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่งด้วยการอ้างว่าใบมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ทำให้องค์ประชุมไม่ครบและสั่งปิดประชุมทันที
แต่ทางผู้ถือหุ้นได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว มีการตรวจสอบรายชื่อ และจำนวนผู้มาประชุมวันนั้นให้เปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ทั้งชุด
รวมทั้งตัวศิริชัยเองด้วย และให้มีการเพิ่มทุน ส่วนการรับรองโครงสร้างหนี้ใหม่เนื่องจากยังไม่มีการลงนามในสัญญา
จึงไม่มีการรับรอง
เวทีการต่อสู้ย้ายจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปยังศาลสถิตยุติธรรม
คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้บริหารต่อกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์
และทางกรมทะเบียนอนุญาตให้จดได้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ถึงแม้ว่าทางศิริชัยจะคัดค้านโดยอ้างว่าการประชุมในวันที่
23 มิถุนายนไม่ถูกต้อง
ศิริชัยวิ่งเข้าหาศาลแพ่งขอให้ระงับการจดทะเบียน ซึ่งทางศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องของศิริชัย
ทางคณะกรรมการชุดใหม่ จึงต้องร้องต่อศาลอีกครั้งหนึ่งให้ยกเลิกคำสั่ง แต่ไม่เป็นผล
เกมนี้ศิริชัยจึงเป็นฝ่ายชนะ
ถึงตอนนี้ก็มีปัญหาว่าใครคือผู้บริหารบริษัทมาบุญครองกันแน่
ทางตลาดหลักทรัพย์เองก็งงจึงขอเข้าไปเป็นนายทะเบียนบริษัทมาบุญครองเสียเอง
หลังจากที่ให้บริษัทเป็นตัวนายทะเบียนตัวเอง เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าใครเป็นใครแต่ทางมาบุญครองไม่ยอม
ตลาดหลักทรัพย์จึงไล่ออกจากตลาดเสียเลยเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2530
ทางจุฬาฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ที่มาบุญครองเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ก็งง
ทางเจ้าหน้าที่ทั้งงงทั้งเซ็ง เลยยกเลิกสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เสียเลยเพราะไม่รู้ว่าจะหาใครมาเซ็น
ส่วนหนี้ที่มาบุญครองติดค้างอยู่ก็ให้ไปฟ้องร้องกันเอง
ธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทยได้ยื่นหนังสือให้ทางมาบุญครองชำระหนี้แล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ถ้าหากมาบุญครองไม่ชำระทั้งสองธนาคารก็จะยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
ศิริชัย บูลกุลในรอบปี 2530 ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำศึกกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตั้งแต่ต้นปียันถึงท้ายปี
แต่คนที่เหนื่อยกว่าเขามากมายคือเจ้าหนี้คู่กรณี ทั้งเหนื่อยทั้งระอากับลูกหนี้คนนี้