"ตาก-เต๋อหง" Sister City

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างการเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าพม่า-จีน ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ประเทศพม่า คณะตัวแทนจากภาครัฐ-เอกชนจังหวัดตาก นำโดยสาโรช แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ร่วมหารือกับ Meng Biguang ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ แห่งเต๋อหง พร้อมคณะ ในประเด็นการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างตาก-เต๋อหง

หลังจากวันที่ 14 มิถุนายน 2548 จังหวัดตาก โดยสุวัฒน์ ตันประวัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้ลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับหวังเชา รองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองฯ ณ ห้องประชุมศาลากลาง จ.ตาก แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ

โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกันว่า ระหว่างวันที่ 9-16 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ เมิ้ง ตี้กวง ผู้ว่าฯ เต๋อหง พร้อมคณะจะเดินทางมาเยือนจังหวัดตาก เพื่อร่วมพิธีสถาปนาลงนามความร่วมมือ (MOU) แบบถาวร เมืองคู่แฝดทางเศรษฐกิจการค้า-วัฒนธรรม "ตาก-เต๋อหง"

ซึ่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดตาก (ประเทศไทย) กับจังหวัดเต๋อหง (ประเทศจีน) จะเป็นการสร้างรูปแบบการค้า การลงทุน และศึกษา ศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนและพม่า

พิธีการสถาปนาแบบถาวรเมืองคู่แฝด ตาก-เต๋อหง อย่างเป็นทางการ ระหว่างผู้ว่าราชการของทั้ง 2 จังหวัดจะเป็นการเปิดเส้นทางเพื่อพัฒนาการค้า-การลงทุน การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ และยังเป็นการเปิดตลาดการค้าอัญมณีแห่งใหม่ระหว่าง 2 จังหวัด

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ให้ความเห็นในประเด็นที่ว่า ทำไมจังหวัดตากเลือกที่จะสร้างสัมพันธ์กับเต๋อหง ที่ในทางภูมิศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจังหวัดตากแม้แต่น้อยว่า เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดคือตากกับเต๋อหง มีลักษณะจังหวัดที่ใกล้เคียงคล้ายกัน คือเป็นจังหวัดที่มีชายแดน ติดต่อกับพม่า มีการค้าชายแดน มีการค้าหยกอัญมณี และมีศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ เขาหวังว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับเต๋อหง จะทำให้จังหวัดตากสามารถนำรูปแบบการพัฒนาเมืองชายแดนจีน-พม่า มาปรับใช้กับพื้นที่ชายแดนตาก โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วมเจียก้าว-มูเซน่าจะนำมาปรับใช้กับพื้นที่แม่สอด-เมียวดี ได้ หลังจากที่จังหวัดตากมีการผลักดันให้รัฐบาลประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนมาอย่างยาวนานแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมใดๆ ออกมา

ขณะที่เต๋อหงสามารถใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าวเป็นตัวเปิดต่อยอด ความสัมพันธ์กับพม่าที่มีอยู่เดิมมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนอย่างได้ผล

"เรามองการเติบโตของเต๋อหง ในฐานะที่เป็นเมืองชายแดนเหมือนกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่ง 10 กว่าปีที่แล้ว คณะหอการค้าตาก เคยเดินทางไปดูงานที่เต๋อหง-รุ่ยลี่ รวมถึงชายแดนเจียก้าว ตอนนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลย แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนหมด" บรรพตกล่าว

ปณิธิ ตั้งผาติ ประธานประชาคมตาก หรือเฉิน ฮั่นจั่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปลุกปั้นความสัมพันธ์ระหว่างตาก-เต๋อหง มาตั้งแต่ต้น บอกว่าหลังจากสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกันอย่างถาวรแล้ว ก็จะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อตกลงระหว่างกันมีผลในทางปฏิบัติ

เนื่องจากตลอดระยะที่ผ่านมาการลงนามในลักษณะบ้านพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ กับต่างประเทศเกิดขึ้นหลายคู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามมา จนกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งเมื่อคราวการประชุมร่วมระหว่างกงสุลไทยทั่วโลก กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้หยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นหารือ เพราะเห็นว่า MOU บ้านพี่เมืองน้องต่างๆ ที่มีการลงนามกันมาระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง หรือ เมื่อผู้บริหารหน่วยงาน-องค์กร (โดยเฉพาะฝ่ายไทย) มีการเปลี่ยนแปลง ข้อตกลงต่างๆ ที่มีอยู่ก็มักจะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ไม่ได้รับการสานต่อไปด้วย ทำให้กระทรวงการต่างประเทศ-กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่จะทบทวน MOU ต่างๆ ที่ส่วนราชการของไทยเคยลงนามร่วมกับต่างประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมาใหม่ทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.