น่งเต่า : หนองเตา หมู่บ้านที่ไทยน่าจะดูเป็นเยี่ยงอย่าง

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

บริเวณเมืองชายแดนของแต่ละประเทศ มักถูกใช้เป็น Buffer State เพื่อความมั่นคงของรัฐชาติมาหลายทศวรรษ แต่ที่พรมแดนจีน-พม่า พื้นที่ชายแดนระหว่างมูเซของพม่ากับรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่แห่งเต๋อหง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน กลับถูกนำมาใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นพื้นที่พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาการค้า-การลงทุนระหว่างกันได้อย่างน่าสนใจ

โดยที่หมู่บ้านน่งเต่า ในสำเนียงชาวไต หรือไทลื้อ หรือ "หนองเตา" ของคนไทยทางภาคเหนือ (หมายถึงหนองน้ำที่มีสาหร่าย) เป็นชุมชนชายแดนจีน-พม่า ที่เส้นพรมแดนตัวกำหนดเขตแดนรัฐชาติของ 2 ประเทศไม่มีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน

เพราะตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งจีนและพม่า บรรลุข้อตกลงในการปักปันเขตแดน ทำให้ หมู่บ้านแห่งนี้ถูกเส้นเขตแดนผ่าลงกลางหมู่บ้าน กลายเป็น "1 หมู่บ้าน 2 ประเทศ"นับแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ความเป็นรัฐชาติที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ กลับไม่มีผลสำหรับชุมชนน่งเต่า ที่มีกว่า 100 ครัวเรือนแห่งนี้

"หลักเขตแดน-ด่านตรวจคนเข้าเมือง พิธีการทางศุลกากรต่างๆ สำหรับที่นี่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่มีผลต่อวิถีชีวิตคนในชุมชนที่ถูกแยกให้อยู่คนละประเทศ" Yang Guosheng ผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ รัฐบาลประชาชน เขตปกครองตนเองเต๋อหง อธิบาย

ชาวบ้านในหมู่บ้านน่งเต่าแห่งนี้ยังคงดำเนินวิถีชีวิตกันตามปกติ สามารถข้าม แดนไปมาภายในหมู่บ้านได้โดยไม่ต้องตรวจลงตราเอกสารผ่านแดนใดๆ หรือในกรณีที่หนุ่มสาวภายในหมู่บ้านที่ถูกเส้นเขตแดนแยกให้อยู่เป็น 2 ประเทศต้องการแต่งงานกัน ก็เพียงแต่ทำเรื่องขออนุญาตจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถเข้าพิธีได้

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า "เขตแดน" เป็นเพียงองค์ประกอบในความเป็นรัฐชาติของทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ความที่เป็น 1 หมู่บ้าน 2 ประเทศ ทำให้ทางการทั้งของจีนและพม่า ได้จับจุดนี้ขึ้นมาเป็นจุดดึงดูด นักท่องเที่ยว

บริเวณริมเส้นเขตแดนมีบ่อน้ำบาดาลอยู่บ่อหนึ่ง ซึ่งคนในหมู่บ้านแห่งนี้ใช้บริโภคมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงทุกวันนี้ หลังจากมีการปักปันเขตแดนได้มีการก่อสร้างบ่อน้ำให้มีความทันสมัยขึ้น มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ หม้อ กรองน้ำดื่มที่สร้างขึ้นใหม่ทับเส้นเขตแดน โดยด้านหนึ่งเขียนไว้ว่าพม่า และอีกด้านหนึ่งระบุว่าอยู่ฝั่ง สป.จีน กลายเป็น "บ่อน้ำบาดาล 2 ชาติ" ไปโดยปริยาย

เช่นเดียวกับ "ชิงช้า" กลางหมู่บ้าน ที่ถูกสร้างขึ้นบนเส้นเขตแดนจีน-พม่าอีกเช่นกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ความเป็น 1 หมู่บ้าน 2 ประเทศ แห่งนี้ เมื่อผู้นั่งโล้ชิงช้าไปด้านหลังก็จะเข้าไปอยู่ในเขตประเทศพม่า ถ้าโล้มาด้านหน้าก็จะอยู่ในเขต สป.จีน

ความเป็นรัฐชาติทั้งของพม่าและจีน ถูกยกไว้นอกหมู่บ้านน่งเต่า

นอกจากนั้นทางการจีนยังโปรโมต ให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของรุ่ยลี่

แน่นอนว่าการบริหารความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่แม้ว่าจะมีพื้นที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งระหว่างกันในลักษณะนี้ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อการพัฒนาความมั่งคั่งให้กับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง

แต่ดูเหมือนแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ลักษณะนี้กลับไม่ปรากฏขึ้นในพื้นที่ชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านตลอดแนว ไม่ว่าจะเป็นกับลาว กัมพูชา พม่า หรือแม้แต่มาเลเซีย

ทางการไทยน่าจะดูเป็นเยี่ยงอย่าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.