|
"เต๋อหง" ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"จีน" ไม่เพียงแต่รุกเปิดถนน R3a-R3b เชื่อมต่อกับไทยผ่านลาวและพม่า รวมถึงเปิดเส้นทางรถไฟ-รถยนต์เชื่อมเวียดนามผ่านชายแดนเหอโข่วเท่านั้น มหาอำนาจใหม่ของโลกยังรุกเปิดช่องทางการค้า-ลงทุนเข้าสู่พม่าอย่างเต็มตัว โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเจียกาว รุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองเต๋อหงเป็นหัวหอกยุทธศาสตร์นี้มีผลกระทบกับไทยแน่นอน!?
ภายใต้นโยบาย "ตงหมง" ของรัฐบาลปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ที่มุ่งเปิดเส้นทางคมนาคมออกสู่ทะเลให้มณฑลหยุนหนัน และ 4 มณฑลใกล้เคียง (ซีหนาน) เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกับเขตตะวันตกเฉียงใต้นั้น
นอกจากจะขับเคลื่อนผ่านกรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่มุ่งเปิดเส้นทางคมนาคมจากซีหนาน-อาเซียนผ่าน คุน-มั่ง กงลู่ หรือถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ (ทั้ง R3b ผ่านพม่า และ R3a ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว), เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง ตอนบน โดยมีท่าเรือจิ่งหงหรือเชียงรุ่งเป็นเกตเวย์ในการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกแล้ว
(อ่าน "ประตู (อินโด) จีน เปิดแล้ว !!! นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
สป.จีนยังเปิดเส้นทางคมนาคมให้ 5 มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ถือเป็นเขตชนบทยากจนออกสู่ทะเลผ่านทางชายแดนเหอโข่ว-ท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม (ระยะทาง 389 กม.) สู่ทะเลจีนใต้และชายแดนจีน-พม่าสู่ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดียโดยตรงอีกทางหนึ่ง
ซึ่งแนวทางพัฒนาเส้นทางคมนาคม ที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้นแล้ว ในอีกมิติหนึ่งสามารถ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพม่าที่มีพรมแดนติดกับไทยกว่า 2,000 กิโลเมตร
ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา "ผู้จัดการฯ" ได้เดินทางร่วมคณะของจังหวัดตาก ภายใต้การนำของสาโรจน์ แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ปณิธิ ตั้งผาติ ประธานประชาคมตาก และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก พัชรี พงษ์พิทักษ์ พาณิชย์จังหวัดตาก ซึ่งได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากเขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ แห่งเขตปกครองตนเองเต๋อหง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน เมืองชายแดนจีน-พม่า ตรงข้ามกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ เขตปกครองพิเศษที่ 1 สหภาพเมียนมาร์ (พม่า) เพื่อร่วมงาน แสดงสินค้าจีน-พม่า 2008 ที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษมูเซ ซึ่งตั้งขึ้นมาประกบคู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว เมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองเต๋อหง
นัยหนึ่งของการเดินทางเข้าร่วมงานของคณะจากจังหวัดตากนั้น เพื่อศึกษา รูปแบบการพัฒนาเมืองชายแดนของ สป.จีน-พม่า ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับอำเภอแม่สอด-เมียวดี
อีกนัยหนึ่ง ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่าง "บ้านพี่เมืองน้อง"(Sister City) ระหว่าง "เต๋อหง-ตาก"ที่มีกำหนดลงนามสถาปนาร่วมกันที่จังหวัดตากในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 (อ่านเรื่อง "ตาก-เต๋อหง" Sister City ประกอบ)
ชู เฉี่ยว หยาง อธิบดีกรมการค้าชายแดน มณฑลหยุนหนัน สป.จีน กล่าวระหว่างเปิดงานแสดงสินค้าพม่า-จีน ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ประเทศพม่า ว่ามูลค่าการค้าระหว่างจีน-พม่า เติบโตขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2006 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกิดขึ้น 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2007 เพิ่มเป็น 2.057 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดจากเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2008 มูลค่าการค้าเกิดขึ้นแล้ว 2.138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 30.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน) แต่ก็คิดเป็นเพียง 40% ของการค้าจริงเท่านั้น เพราะอีก 60% ยังคงเป็นการค้านอกระบบอยู่
ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างหยุน หนัน-พม่า ตั้งแต่ปี 2004-2006 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามลำดับ)
"รัฐบาลจีนพร้อมร่วมมือกับพม่า ในการพัฒนาทุกๆ อุตสาหกรรมในฐานะเพื่อน" ชู เฉี่ยว หยาง กล่าว
ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณการค้าระหว่าง จีน-พม่าผ่านพรมแดนด้านนี้จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้
ทั้งนี้แม้ว่าตามพิกัดที่ตั้งของเต๋อหง หรือบ้านของนกยูง ที่มีประชากร 1.165 ล้านคน จะห่างไกลจากจังหวัดตากและประเทศไทย เพราะอยู่ห่างจากนครคุนหมิง เมืองหลวงของมลฑลหยุนหนัน ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ถึง 649 กิโลเมตร
แต่โดยมิติของการค้า-การลงทุน รวมถึงเชื้อสายของผู้คนกลับใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง เพราะในจำนวนประชากรทั้งหมด นั้นเป็น "ชาวไต" มากถึง 352,200 คนหรือกว่า 30% ที่สามารถเจรจาผ่านภาษาพื้นถิ่นกับคนไทยได้ และมีพรมแดนที่ติดกับพม่า 503.8 กิโลเมตร
ที่สำคัญมีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อจากคุนหมิง-หมานซื่อ (เต๋อหง)-รุ่ยลี่-เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว-มูเซ (พม่า) ยังต่อไปได้ถึงเมืองมัณฑะเลย์ และกรุงร่างกุ้งของพม่า ที่แน่นอนว่าเส้นทางสายนี้ สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Coridor : EWEC) จากชายฝั่งทะเลแปซิฟิก ที่เมืองท่าเรือดานังของเวียดนามผ่านลาวและไทย และทะลุผ่านพม่าไปได้ถึงอินเดีย บังกลาเทศ ยุโรป
(อ่านเรื่อง "East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
"อนาคต เต๋อหงจะเป็นจุดผ่านแดน ระหว่างประเทศระดับชาติที่สำคัญของหยุนหนัน และ สป.จีน แน่นอน ซึ่งขณะนี้ ก็มีผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า 554 ราย เป็นทุนต่างประเทศแล้ว 33 ราย" เมิ้ง ตี้ กวง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ แห่งเต๋อหง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ย้ำ
ระยะที่ผ่านมา "เต๋อหง"นำข้อได้เปรียบในเรื่องความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน (อ่านเรื่อง "น่งเต่า : หนองเตา หมู่บ้านที่ไทยน่าจะดูเป็นเยี่ยงอย่าง" ประกอบ)
รวมถึงพรมแดนที่ติดกับพม่า แหล่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรไม้ และสินแร่ โดยเฉพาะหยก-อัญมณีมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ และน่าเสียดายสำหรับประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับพม่า มากกว่า 2,000 กิโลเมตร (อ่านเรื่อง "ทับทิม-หยกพม่า! จากแม่สอด-แม่สาย-เชียงใหม่ วันนี้อยู่ที่เต๋อหง" ประกอบ)
หลายทศวรรษที่ผ่านมา "เมืองชายแดน"ส่วนใหญ่จะมีความสำคัญเพียงเป็น Buffer State ให้กับรัฐชาติและเป็นทางผ่านเพื่อทำการค้ากับเพื่อนบ้านเท่านั้น ในมิติทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าใดนัก
แต่หลัง สป.จีนเปิดม่านไม้ไผ่ ตั้งแต่ ปี 2522 จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกับพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก สป.จีนเริ่มให้ความสำคัญกับหัวเมืองชายแดนในมิติทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มาก รวมทั้งเปิดช่องทางให้ท้องถิ่นดึงศักยภาพของตนเองออกมาดึงดูดนักลงทุน เข้าพื้นที่ เพื่อลดการพึ่งพิงจากรัฐบาลกลาง
โดยตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา รัฐบาลปักกิ่งได้อนุมัติให้ 3 หัวเมืองชายแดนสำคัญของภาคตะวันตกเฉียงใต้ คือ หว่าน ติง และรุ่ยลี่ (ชายแดนพม่า) และเหอโข่ว (ชายแดนเวียดนาม) เปิดเมือง เปิดการค้า และเป็นจุดผ่านแดนระดับชาติ (National Level) จนนำมาซึ่งการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง
เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าวมีเนื้อที่ ประมาณ 6 ตร.กม. อยู่ในเขตเมืองรุ่ยลี่เขตปกครองตนเองเต๋อหงเป็นเมืองชายแดน แห่งหนึ่งของหยุนหนัน ที่มุ่งเป้าหมายเป็น "เซินเจิ้นแห่งจีนตอนใต้"ดึงพม่าให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซขึ้นมาประกบคู่กับ "เจียก้าว" ภายใต้โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Zone) เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งเขตปลอดภาษี ร่วมกันเนื้อที่ 1.6 ตร.กม. ภายในเขตเจียก้าว ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา
พร้อมกันนั้นจีน-พม่าได้ร่วมมือกันสร้างถนนในบริเวณพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ชื่อถนนจีน-พม่า หรือ "จงเหมี่ยน เจี่ย" และสร้างศูนย์แสดงสินค้า-ร้านค้าปลอดภาษีตามแนวถนนสายนี้ทั้งสองฝั่ง กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่มีมูลค่าการค้า มากกว่า 2 ใน 3 ของปริมาณการค้าชายแดนทั้งมณฑล
พร้อมกับเปิดช่องทางนำเข้า "หยก" จากพม่า ที่มีปัญหาในสายตาของชาติตะวันตก ก่อนที่จะพัฒนาให้เจียก้าว-รุ่ยลี่ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าหยกขนาดใหญ่ในปัจจุบันนี้ได้
ทำนองเดียวกัน ทำให้จีนสามารถส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคเข้าสู่ตลาดพม่า ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว-มูเซ ที่จะใช้เวลาอีกไม่เกิน 14 ชั่วโมง ก็สามารถไปถึง มัณฑะเลย์และถ้าเดินทางต่ออีก 16 ชั่วโมง ก็ถึงกรุงร่างกุ้ง
ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตหากเส้นทาง คมนาคมตามแนว EWEC ได้รับการพัฒนา มากขึ้น สินค้าจีนก็จะสามารถส่งเข้าสู่ตลาด ทุกซอกทุกมุมของภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากปี 1996 จนถึงขณะนี้ เขตเศรษฐกิจเจียก้าวในฝั่งของสป.จีน กำลังเติบโตขึ้นไม่หยุดนั้น แต่ในฝั่ง "มูเซ" ของพม่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ใดๆ เกิดขึ้น
Yang Guosheng ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ รัฐบาลประชาชน เขตปกครองตนเองเต๋อหง ที่ถูกส่งให้มาทำหน้าที่รับรองคณะของจังหวัดตากในครั้งนี้ระบุว่า ตามนโยบายของทางการจีน หลังการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว-มูเซแล้ว ภายใน 5-10 ปีต่อจากนี้ จะมีการ พัฒนาเส้นทางคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมจากชายฝั่งทะเลตะวันออก มาถึงคุนหมิง-เต๋อหง-รุ่ยลี่ เชื่อมโยงกับพม่า ถึงมัณฑะเลย์-ร่างกุ้ง ซึ่งจะมีทั้งการพัฒนา ถนนและทางรถไฟ
ล่าสุดขณะนี้ทางการเต๋อหงกำลัง อยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของทั้งคนและสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย
ดังนั้นเพื่อไม่ให้แผนพัฒนาเส้นทาง เชื่อมโยงจีน-อาเซียน ผ่านเต๋อหง-รุ่ยลี่-เจียก้าว ไม่สะดุด ทางการ สป.จีนได้เสนอ ต่อรัฐบาลพม่าว่า หากทางการพม่าไม่พร้อม ที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจมูเซ ทาง สป.จีนพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ ในลักษณะสัญญาการเช่าระยะยาว เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในชายแดนจุดอื่นๆ เช่น บ่อเต็น-บ่อหาน ชายแดนจีน-ลาว ตามแนวถนน R3a
ปณิธิ ตั้งผาติ ที่ได้รับการเรียกขาน จากชาวจีนว่า "เฉิน ฮั่นจั่น" แต่ถ้าอยู่ในพม่า จะมีชื่อว่า "อู ซาน เมี๊ยะ" และบรรพต ก่อเกียรติเจริญ 2 แกนนำสำคัญของหอการค้าจังหวัดตาก บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนปี 1990 สินค้าไทยครองตลาดพม่าได้กว่า 80% ทั้งอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ฯลฯ โดยส่งผ่านชายแดน ระนอง กาญจนบุรี แม่สอด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และแม่สาย ที่เหลือจะเป็นสินค้าจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ เป็นต้น
แต่หลังจากจีนเปิดชายแดน (ค.ศ.1985 แต่เริ่มต้นเห็นผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา) จนถึงช่วงหลังปี 2000 ปรากฏว่าในตลาดพม่าสินค้าจีนสามารถครองส่วนแบ่งได้มากถึง 50-60% ขณะที่สินค้าไทยเหลือเพียง 20-30% ที่เหลือเป็นสินค้าจากอินเดีย สิงคโปร์
เหตุผลสำคัญ เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่า ไม่เพียงเท่านั้นขนมบางชนิด ที่ตีตรายี่ห้อไทย แท้จริงแล้วอาจผลิตในจีน หรือพม่าผลิตขึ้นมาเองก็มี
"แม้แต่กาละแมที่พบในแผงสินค้าพม่า ก็ไม่ได้ผลิตจากไทย แต่เป็นกาละแม จากไหหลำ เวียดนาม" ปณิธิย้ำ
แน่นอน การถดถอยของสินค้าไทยในตลาดพม่าคงไม่หยุดแค่นี้
เพราะถ้าดูตามแผนงานของ สป.จีน ที่ทุ่มงบประมาณพัฒนาพื้นที่ชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ เปิดเส้นทางคมนาคมเชื่อม กับเพื่อนบ้านทุกทิศทาง รวมถึงพม่าแล้ว ไม่นานจากนี้ สินค้าจีนจะเต็มตลาดพม่าแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงตำแหน่งของสินค้าไทยในตลาดพม่าจะกระเทือนไปด้วย อย่างเลี่ยงไม่พ้น
จริงอยู่ วันนี้เรายังเจอบะหมี่สำเร็จ รูปยี่ห้อมาม่า-ยำยำ ขนมเวเฟอร์บางยี่ห้อ ปฏิทินจีนน่ำเอี้ยง ฯลฯ วางขายอยู่ในพม่า โดยการนำเข้าผ่านทางแม่สอด และส่งขึ้นไปวางวางแผงขายอยู่ในตลาดมูเซก็ตาม แต่ปริมาณก็เหลือน้อยเต็มที เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน และในอนาคตอาจจะไม่เหลือ เพราะมีสินค้าจีนเข้าไปตีตลาดมากขึ้นตามเส้นทางคมนาคมที่ได้รับการพัฒนาไม่หยุด
เนื่องเพราะถนนจีน-พม่าสายนี้จะกลายเป็นท่อส่งสินค้าชั้นดีสำหรับ สป.จีน
ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นข้อวิตกกังวลของพ่อค้าชายแดนไทย-พม่าตลอดแนว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|