ASEAN STRATEGY

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่การประชุมสุดยอดของบรรดาผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ASEAN Summit ครั้งที่ 14 กำลังถูกโหมประโคมและให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นประหนึ่งหลักไมล์ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเกียรติภูมิของประเทศอย่างเอิกเกริก

แต่ประเด็นว่าด้วยมิติทางยุทธศาสตร์และทิศทางของแนวนโยบายที่จะต้องผลิตสร้าง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ภายใต้บริบทใหม่หลังจากที่กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) จะมีผลใช้บังคับกลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังเท่าที่ควร

ตลอดระยะเวลากว่า 42 ปีของประวัติความเป็นมาและการก่อตั้ง ASEAN กลไกรัฐของประเทศไทยมักหยิบยกความสำคัญและขยายภาพ ที่น่าภาคภูมิใจของไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของ ASEAN ในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กลไกรัฐไม่ต้องลงแรงใดๆ มากนัก

หากแต่ในความเป็นจริงของยุคสมัยปัจจุบัน กรณีดังกล่าวอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินไปข้างหน้า เพราะปัจจุบันความสามารถในมิติของเทคโนโลยีได้ก้าวข้ามขอบเขตของบริบททางภูมิศาสตร์ไปไกลแล้ว

ขณะเดียวกันศักยภาพในการแข่งขันด้วยการอาศัยข้อได้เปรียบ ในเรื่องแรงงานราคาต่ำที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอดีต กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงใช้เป็นจุดขาย เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ใหม่

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวน การผลิตสมัยใหม่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปจาก เดิมมาก ควบคู่กับการแสวงหาบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งย่อมมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากเป็นผลจากกระบวนการที่ต้องอาศัยการวางแผนและเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันในมิติของความสามารถในการผลิตอย่างจริงจังด้วย

ความแตกต่างในลำดับขั้นการพัฒนาของภาคีสมาชิกอาเซียน ซึ่งครั้งหนึ่ง อาจทำให้กลไกรัฐไทยเชื่อว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ก้าวหน้าและสามารถ รังสรรค์ประโยชน์ได้กว้างไกลกว่าสมาชิกบางประเทศที่ยังไม่มีความพรั่งพร้อมทั้งในเรื่องของระบบสังคม กฎหมาย และพัฒนาการด้านสาธารณูปโภค กำลังเป็นเพียงมายาภาพที่ตามหลอกหลอนและสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้คนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะในขณะที่เพื่อนสมาชิกในอาเซียนประเทศเร่งระดมเสริมสร้างพัฒนา การต่างๆ อย่างหนักแน่นจริงจัง ประเทศไทยกลับตกอยู่ในอาการหยุดนิ่งและในหลายกรณีกลายเป็นการพัฒนาย้อนกลับ ที่ส่งให้ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีระดับนานาชาติ มีลักษณะถอยหลังอีกด้วย

สังคมไทยอาจจะเชื่อและเข้าใจมาตลอดว่า เรามีความเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

พร้อมกับทัศนะที่ประเมินประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งหลายโดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นเพียงแหล่ง ทรัพยากรที่รัฐและเอกชนไทยพร้อมจะเข้า ไปแสวงประโยชน์

ความด้อยประสิทธิภาพของกลไกรัฐไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผ่านวิธีคิดที่จะผลักดันให้ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นจักรกลสำคัญในการแสวงหารายได้เข้า สู่ประเทศ ภายใต้มิติมุมมองที่ว่าธุรกิจดังกล่าว เป็นประหนึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน จากการรับจ้างแรงงานในสังคมเกษตร และอุตสาหกรรม ไปสู่สังคมภาคบริการได้ส่งผล ให้สังคมไทยขาดแคลนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนผลผลิตไปโดยปริยาย

ความสำเร็จของการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกประเมินด้วยตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ควบคู่กับปริมาณของผู้คนที่หลั่งไหลเข้าสู่ภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว โดยละเลยที่จะระแวดระวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้เป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงปัจจัยแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ

แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ สามารถก่อให้เกิดโครงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคหลากหลายประการ ซึ่งย่อมส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์

หากแต่ในความเป็นจริง สาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านั้นถูกหยิบยื่นให้กับชุมชนในฐานะความทันสมัยที่เข้ารุกราน และอาจเบียดแทรกให้ชุมชนดั้งเดิมต้องพบกับความล่มสลายไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน หากประเมินแหล่งท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยเทียบเคียงกับสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงสามารถหยิบยื่นให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีความสดใหม่ และอุดมด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ข้อได้เปรียบเดียวที่ประเทศไทยมีอยู่ในมิติของการท่องเที่ยวในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ ดูจะมีเพียงประเด็นว่าด้วยความสะดวกในเรื่องของการเดินทางเท่านั้น ที่อาจเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยว

แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดสนใจอยู่ที่การปิดล้อมสนามบินนานาชาติได้ฉุดให้สถานการณ์ความได้เปรียบดังกล่าวหดหายไปอย่างสิ้นเชิง

เพราะกรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยได้รับผลกระทบด้วย

พร้อมกันนี้ กรณีดังกล่าวได้กลายเป็นประหนึ่งสัญญาณเตือนภัยที่ส่งผ่านไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้อาจหวังพึ่งพาประเทศไทยในฐานะที่เป็น gateway ของการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวางแผนเพื่อ รองรับกับปรากฏการณ์ไม่พึงประสงค์ในอนาคต

และทำให้ความพยายามของไทยที่จะผลักดันและประชาสัมพันธ์ว่าเป็นศูนย์กลาง ทางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสื่อมความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย

กระนั้นก็ดี ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเหล่านี้มิได้จำกัดบริบทของการพัฒนาไว้ที่การท่องเที่ยวเท่านั้น หากยังมุ่งวางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่พร้อมจะผูกพัน ระบบเศรษฐกิจเข้ากับกลไกความเป็นไปในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงอาจพึ่งพาหรืออาศัยความช่วยเหลือสนับสนุนจากจีน ญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนา หากแต่ในปัจจุบัน ประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงกำลังแสวงหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำหรับโอกาสใหม่ๆ อยู่เป็นระยะ

กรณีของกัมพูชา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมากในมิติดังกล่าว

การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกับคูเวตในช่วงที่ผ่านมา มิได้เป็นเพียงการเปิดช่องทางให้เงินทุนขนาดมหาศาลไหลเข้าสู่กัมพูชาเท่านั้น หากยังกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้กัมพูชาสามารถยกระดับกระบวนการและคุณภาพการผลิตให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจมากอยู่ที่กัมพูชามีแผนจะพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานขึ้นในพื้นที่เขตจังหวัดสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) ในลักษณะของ industrial complex ซึ่งผนวกการสร้างท่าเรือน้ำลึกไว้ในแผนด้วย หลังจากที่มีการสำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบในบริเวณอ่าวไทย แต่กัมพูชายังติดขัดในเรื่องของเงิน ลงทุน

สิ่งที่กัมพูชาสามารถทำได้ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงข้อตกลงกับประเทศตะวันออก กลางในลักษณะของ "เงินจากน้ำมันแลกข้าว"ซึ่งกัมพูชาจะต้องเปิดพื้นที่นับล้านไร่ ให้มิตรประเทศจากตะวันออกกลางเหล่านี้เข้ามาเช่าทำประโยชน์ในการปลูกข้าว โดย มีชาวกัมพูชาเป็นผู้ผลิตและมีประเทศผู้เช่า รับซื้อผลผลิตทั้งหมด

กรณีดังกล่าวในด้านหนึ่งอาจถูกประเมินว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิและเป็นกรณีที่หมิ่นเหม่ต่อประเด็นว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดน

หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง ปรากฏการณ์ ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของความพยายาม และแนวนโยบายที่จะสร้างงานให้กับประชาชนชาวกัมพูชา และแสวงหาแหล่งสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนา ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างระบบชลประทานและสาธารณูปโภคจำเป็น อื่นๆ อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน "เงินจากน้ำมันแลกข้าว"มิอาจประเมินในฐานะที่เป็นเพียงการ สร้างหลักประกันในมิติของราคาและแหล่ง ลูกค้าส่งออกเท่านั้น หากในความเป็นจริง ความเคลื่อนไหวของกัมพูชาดังกล่าว ถือเป็นการสร้างโอกาสในการรุกคืบเข้าสู่ตลาด ตะวันออกกลาง ซึ่งอุดมด้วยศักยภาพในการบริโภคอย่างมีองค์รวม

และเป็นการช่วงชิงโอกาสภายใต้สถานการณ์วิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเป็นแหล่งผลิตในอุตสาห-กรรมอาหารที่กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ

ขณะที่ความมุ่งหมายของไทยที่จะเป็น Kitchen of the world ในช่วงก่อนหน้านี้ กลายเป็นเพียงยุทธศาสตร์ที่ถูกละเลยในการติดตามผลในทางปฏิบัติไปอย่างน่าเสียดาย

ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ เพื่อนบ้านที่สะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่องมิได้ จำกัดอยู่เฉพาะประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาค แม่น้ำโขงที่กำลังเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้ ใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอาเซียนรายอื่นๆ เท่านั้น

หากในความเป็นจริง ประเทศที่มีระดับความก้าวหน้า ทั้งสิงคโปร์ และมาเลเซียต่างก็พยายามกำหนดบทบาทและทิศทางการพัฒนา ซึ่งสามารถสังเกตได้จากคำขวัญ เชิญชวนและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะก่อนหน้านี้

ไม่ว่าจะเป็น New Asia ของสิงคโปร์ หรือ Truly Asia ของมาเลเซีย ซึ่งต่างได้สะท้อนบริบททางยุทธศาสตร์ระดับชาติที่พัฒนาไปไกลกว่า Amazing Thailand และมิพักต้องกล่าวถึง "เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก"ที่มีไว้สื่อสารกับประชาชนในประเทศ

เพราะแม้ว่า New Asia และ Truly Asia จะมีจุดเริ่มต้นจากความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยว หากแต่คำขวัญดังกล่าว กลับงอกเงยและสามารถขยายเนื้อหาสาระครอบคลุมให้เกิดเป็นสำนึกใหม่ของสังคมได้อย่างแยบคาย

โดย New Asia กลายเป็นคำขวัญที่สะท้อนให้เห็นความพยายามและการสร้างแรงกระตุ้นเตือนชาวสิงคโปร์ให้เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการไปสู่การสร้างให้เกิด ศูนย์กลางใหม่ของเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่ในกรณีของ Truly Asia สามารถสอดรับและเติมเต็มช่องห่างจากความหลากหลายทางเชื้อชาติของชาวมาเลเซียไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้กรณีการรุกคืบและขยาย บริบททางธุรกิจให้ครอบคลุมธุรกรรมในระดับภูมิภาคของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ จากทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนที่บ่งชี้ให้เห็นการปรับตัวและกรอบโครงทางยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจละเลย

แม้ว่าบทบาทของสถาบันการเงินจากสิงคโปร์และมาเลเซียในบริบทของสังคมไทย อาจไม่สามารถสรุปเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ในห้วงเวลาปัจจุบัน แต่พวกเขาได้แสดง ให้เห็นถึงความสามารถในการรุกและขยายบทบาทในระดับนานาชาติได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน กลไกร่วมในระดับรัฐและเอกชนของประเทศเหล่านี้ยังดำเนินกิจกรรม อย่างสอดประสานเข้าสู่ตลาดและแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกคืบเข้าสู่ตะวันออกกลางในห้วงเวลาปัจจุบัน

บทบาทของ Temasek Holdings บรรษัทที่ดูแลยุทธศาสตร์การลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ หรือกรณีของ Khazanah Nasional หน่วยงานลักษณะเดียวกันของมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งและความสามารถในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี

บรรษัทที่มี Temasek Holdings หรือ Khazanah Nasional ถือหุ้นหลักอยู่จำนวน ไม่น้อยได้ก้าวข้ามขอบเขตของการเป็นบรรษัทในสังกัดสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งไปสู่การเป็น บรรษัทข้ามชาติ (multinational corporation) อย่างสมบูรณ์ ซึ่งพร้อมส่งผ่านทั้งสินค้า บริการและเทคโนโลยีไปสู่ตลาดเป้าหมายได้อย่างไร้ขีดจำกัด

มิติการดำเนินไปของ Temasek Holdings และ Khazanah Nasional รวมถึงบรรษัทในเครือที่เป็นกลไกหนุนเสริมอีกจำนวนมาก กลายเป็นจักรกลที่พร้อมเปลี่ยนภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคม ASEAN ให้เป็นทั้งตลาดและแหล่งผลิตสำหรับการรุกคืบเพื่อเชื่อมประสานเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการเป็น ASEAN ที่พวกเขาพร้อมจะมีบทบาทนำ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสร้าง ASEAN Product ASEAN Brand และ ASEAN Prosperity ซึ่งอาจมีความหมายแคบกว้างตามแต่ความสามารถของแต่ละประเทศภาคีสมาชิกจะกำหนด นิยาม

จริงอยู่ที่ว่าความเป็นไปของ ASEAN ภายใต้บริบทใหม่ ย่อมไม่ใช่ ASEAN ที่กำลัง คำนึงถึงการแข่งขันกันเองภายในประเทศสมาชิก

หากแต่เป็น ASEAN ที่พร้อมก้าวเดินไปข้างหน้า ภายใต้ความร่วมมือและพึ่งพาอาศัยกัน

กระนั้นก็ดี ประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้งและมีบุคลากรชาวไทยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน รวมถึงวาระที่เป็นประธานในโอกาสที่ ASEAN กำลังก้าวเดินไปสู่ยุคสมัยใหม่จะกำหนดบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ในประชาคมแห่งนี้อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.