Child Discipline Bill เมื่อรัฐยึดไม้เรียวจากผู้ปกครอง

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยออกกฎหมายยึดไม้เรียวจากเหล่าครูบาอาจารย์ส่งผลให้บรรดานักวิชาการหลายท่านได้โต้เถียงกันอย่างมาก เพราะหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวก็พูดถึงข้อดีของไม้เรียวที่ทำให้เด็กมีระเบียบวินัย ด้านที่เห็นด้วยต่างก็นำสิทธิมนุษยชนขึ้นสู้ ในความเป็นจริงแล้ว ไม้เรียวนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เวลาที่เด็กโดนตีตอนที่ทำผิด เด็กหลายคนจะจำและรับรู้ว่าในสังคมนั้นมีบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด และไม้เรียวเองก็ทำให้คนจำนวนมากเป็นคนดี ในทางกลับกันไม้เรียวหากตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ลุแก่อำนาจก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน สมมุติว่าที่ไม่ผิดโดนกลุ่มเด็กขี้ฟ้องใส่ความก็อาจที่จะโดนตี ทั้งๆ ที่ไม่ผิดได้เช่นกัน

ที่เขียนมาเสียยืดยาวว่าด้วยคุณและโทษของไม้เรียวนั้นก็เพราะว่าในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาประเทศนิวซีแลนด์ได้เปิดก้าวใหม่ของสิทธิมนุษยชนด้วยการผลักดันกฎหมายยึดไม้เรียวจากผู้ปกครองด้วย พ.ร.บ.ห้ามการตีเด็ก ซึ่งได้เป็นที่โต้เถียงกันอย่าง รุนแรงในสภา โดยต่างฝ่ายก็หาเหตุผลสนับสนุนและข้อโต้แย้งของตน รวมทั้งสังคมเองก็แตกเป็นทั้งฝ่ายค้านและสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว จนนักล็อบบี้ยิสต์ วิ่งกันแทบล้มประดาตายที่บริเวณล็อบบี้ในสภารังผึ้งเพื่อเสนอข้อมูลให้กับนักการเมืองเพื่อเอาไปสู้กันในสภาและกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ ในการเลือกตั้งของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมขออนุญาตอธิบายถึง ผลกระทบของการตีเด็กต่อความรุนแรงในสังคม โดย ตั้งข้อสมมุติฐานง่ายๆ ว่า X=Y ดังนั้นถ้าการที่เด็กได้รับการอบรมอย่างรุนแรงคือ X ผลที่จะได้รับหรือ Y คือเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะหาทางออกของปัญหาต่างๆ โดยใช้ความรุนแรงเช่นกัน กับคำถามที่ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เราคงต้องย้อนถามว่า ทำไมผู้ใหญ่ถึงเลือกที่จะตีเด็ก คำตอบโดยมากคือในสมัยที่ผู้ใหญ่เป็นเด็ก เวลาที่ทำผิดก็จะโดนตีเช่นกัน และต่อคำถามที่ว่าผู้ใหญ่ไม่มีทางออกอื่นแล้วหรือนอกจากคว้าไม้เรียวมาฟาดลูกหลานเพื่อดัดนิสัย

อันที่จริงแล้วตอบได้เลยว่ามี เช่นค่อยๆอธิบาย หรือลงโทษวิธีอื่นเช่นไม่ให้กินขนมหรือใช้ให้ไปทำงานบ้าน แต่เหตุผลที่ไม่ใช้เพราะวิธีดังกล่าวนั้นไม่ทันใจของผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นเวลาเด็กกระทำผิด ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในขั้นแรกผู้ปกครองคงต้องสอนลูกหลานของตนเองด้วยความอดทน แต่พอเด็กดื้อมากๆ เข้า ก็เลือกที่จะตี พอตีไปแล้วเกิดได้ผล เด็กเลิกซน พอนานๆ เข้าผู้ปกครองหลายท่านก็เริ่มตีเด็ก เวลาที่ทำผิดมากขึ้นเพราะว่าได้ผล ตรงนี้เองเราสามารถสรุปได้ว่าการตีเด็กนั้นเป็นทางออกที่ง่ายและรวดเร็วต่อการแก้ปัญหา เพราะเพียงคว้าไม้เรียวขึ้นมา เด็กทั้งหลายก็จะเงียบเรียบร้อยราวกับต้องมนตร์สะกด

ตรงนี้ส่งผลให้เกิดสามัญสำนึกต่อเด็กใน 3 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือการมีอำนาจและการใช้อำนาจ และข้อที่สองเกี่ยวข้องกับคำตอบโดยมากของผู้ใหญ่คือการที่ผู้ปกครองของผู้ใหญ่นั้นเคยตีตนในวัยเด็กคือการใช้กำลังเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดของปัญหาส่งผลให้ผู้ใหญ่นั้นๆ เกิดความใจร้อนและการอยากมีหรืออยากใช้อำนาจ ในข้อสุดท้ายคือการอ้างผู้ใหญ่เคยตีตนในอดีตนั้นคือการชี้ชัดว่า มนุษย์มีวงจรการเรียนรู้ที่เรียกว่า Copying Mechanism หรือวงจรการลอกเลียนพฤติกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความรุนแรงในสังคม โดยเริ่มตั้งแต่การตีเด็ก การทะเลาะเบาะแว้ง ในสังคม รวมถึงการทำร้ายและฆาตกรรม ส่วนในระดับมหภาคนั้นอาจจะรวมถึงสงครามเลยทีเดียว เนื่องจากว่าความรุนแรงและความประพฤติต่างๆ ของมนุษย์นั้นเกิดมาจากวงจรการลอกเลียนแบบทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมที่เด็กอาจจะได้รับจากการไปชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสาระที่รุนแรง หากเรานำวงจรการลอกเลียนแบบมาอธิบายพฤติกรรมหลายอย่าง ในสังคมเราจะได้คำตอบว่าความรุนแรงหลายอย่างในสังคมโดยมากเกิดจากการลอกเลียนแบบเพื่อเอาคืนต่อผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า

ผลกระทบของวงจรการลอกเลียนแบบง่ายๆนั้นมีให้เห็นอยู่มาก ตัวอย่างเช่นโรงเรียนประจำในต่างประเทศระดับมัธยมศึกษานั้นมีการแบ่งรุ่นพี่รุ่นน้องกัน โดยเด็กปีสุดท้ายเรียกว่า พรีเฟ็ก (Prefect) จะมีอำนาจลงโทษเด็กรุ่นน้องและมีหลายกรณีจะลงโทษอย่างรุนแรงเพราะลุแก่อำนาจ ทีนี้พอเด็กจูเนียร์ ได้ขึ้นมาเป็นพรีเฟ็กบ้าง ก็มักจะถือเป็นรายการเอาคืนเพื่อสร้าง copying mechanism ต่อไป นอกจากนี้ยังมีพิธีรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกก็เกิดมาจากวงจรการลอกเลียนแบบโดยรุ่นพี่แกล้งรุ่นน้องแต่พอการเติบโตของวงจรดังกล่าวขยายออกไป ความรุนแรงก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นในนิวซีแลนด์จึงมีทางออกเพื่อลดความรุนแรงคือ เปลี่ยนการจัดงานรับน้องใหม่ให้เป็นแบบงานปาร์ตี้ ซึ่งทำ ความรู้จักระหว่างนักศึกษาแทนการใช้อำนาจของรุ่นพี่ และงานรับน้องใหม่ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องมีการตีตั๋วเข้าไปโดยจะมีการละเล่นเช่นการเต้นดิสโก้ แข่งกีฬา และพอหมดสัปดาห์รับน้องใหม่ก็ตัวใครตัวมัน

หลังจากอธิบายมาเสียยืดยาวก็อดไม่ได้ที่จะยกตัวอย่างของคนที่มาจากสังคมที่มีความรุนแรงซึ่งพิสูจน์ X=Y ได้อย่างน่าอัศจรรย์ นั่นคือ ฮิตเลอร์ โดยประวัติคร่าวๆ คือ ฮิตเลอร์เติบโตในครอบครัวของข้าราชการระดับล่างและยังเป็นบุตรของภรรยาน้อยคนที่สามเสียอีก ผู้ปกครองของฮิตเลอร์นั้นไม่ได้ลงโทษเขาเพียงเพราะกระทำผิด แต่บางกรณีการตีเกิดจากความต้องการระบายอารมณ์ ซึ่งเขาจะโดนเฆี่ยนแทบทุกวัน จากจุดนี้เองเราเอา X ขึ้นตั้งคือความรุนแรงในครอบครัวฮิตเลอร์ และผลที่ออกมาคือ Y นั้นคือความประพฤติของฮิตเลอร์ ในการลงโทษ ผู้ใต้บังคับบัญชา ประชาชน เชลย และชาติที่อ่อนแอ กว่าอย่างรุนแรง พฤติกรรมดังกล่าวมาจากรากฐานของการได้รับความรุนแรงมาตั้งแต่ในวัยเด็กนั่นเอง จากสมมุติฐานข้างต้นรัฐบาลหลายประเทศจึงต้องการ กำจัด X ในครอบครัว โดยการออกกฎหมายว่าด้วยการห้ามตีหรือทำร้ายเด็กทางร่างกาย เพื่อลดความรุนแรงในสังคม เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้ปกครองทั้งไทยทั้งฝรั่งต่างใช้ copying mechanism ในการอบรมบุตรธิดาทั้งสิ้นและส่งผลให้เกิดวงจรการลอกเลียนแบบให้กับสังคมในปัจจุบัน

ในนิวซีแลนด์ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีอยู่ทั่วไปสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือรับเงิน สวัสดิการของรัฐบาลสมัยพรรคแรงงาน ปัญหาของความรุนแรงในครอบครัวนั้นมาจากหลายกรณีด้วยกัน ในขั้นแรกพรรคแรงงานเชื่อว่านิวซีแลนด์มีประชากรน้อยเกินไปจึงสนับสนุนให้ครอบครัวต่างๆ มีลูกมาก และมีเงินช่วยเหลือเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรธิดาให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ตรงจุดนี้เป็นการหวังผลทางการเมืองล้วนๆ เพราะว่าเป็นยุทธวิธีขยายฐานเสียงและคะแนนเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยม เพราะว่าเด็กในวันนี้คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันหน้านั่นเอง

ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ระดับคนชั้นกลางขึ้นไปจะไม่ได้เงินช่วยเหลือ ซึ่งขัดต่อหลักการขยายประชากรเพราะถ้าดูอย่างถ่องแท้ คนชั้นกลางขึ้นไปมักจะเลือกพรรคอนุรักษนิยมจึงทำการตัดตอนการขยายประชากรที่มีคุณภาพและเร่งขยายกลุ่มรากหญ้า ภาพที่ออกมาในสมัยของรัฐบาลแรงงานคือ ครอบครัวที่มีรายได้ พอสมควรจะระวังเรื่องการมีลูก เพราะการมีลูกสักคนหนึ่ง จำเป็นต้องหาสถานศึกษาที่ดี ซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงยิ่งถ้าเข้า โรงเรียนประจำจะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายไปอีกมากซึ่งปีหนึ่งๆ ก็พอๆ กับการส่งบุตรธิดาเข้าโรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา

ดังนั้นการที่จะมีลูกสักคนของคนชั้นกลางขึ้นไปจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบ เพราะผู้ปกครองกลุ่มนี้ต้องการ สิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรธิดาของตน ในทางกลับกัน บรรดาฐานเสียงของพรรคแรงงานคิดต่างกันเพราะยิ่งมีลูกมากก็จะได้เงินเลี้ยงดูจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ส่วนลูกๆ ก็จับเข้าโรงเรียนรัฐที่ไม่ต้องสนใจคุณภาพมากนัก พอโตพ้นวัยที่จะได้รับเงินช่วยเหลือก็ให้ออกไปหางานทำเอาเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะว่าจะทำให้เกิดประชากรที่ไร้คุณภาพเพิ่มมากขึ้นในประเทศ

ขณะที่เด็กซึ่งออกมาจากครอบครัวที่มีลักษณะดังกล่าวจะประสบปัญหาการหางานทำและกลายเป็นอาชญากรไปจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้บรรดาเงินช่วยเหลือ ที่รัฐบาลแรงงานได้ขูดรีดมาจากคนชั้นกลางขึ้นไปเมื่อตกมาถึงบรรดารากหญ้าแล้ว เงินดังกล่าวได้มลายลงไปในขวดเหล้าและบ่อนการพนันแทนที่จะมาถึงบรรดาลูกหลานของพวกเขาเหล่านั้น เมื่อผู้ปกครองดังกล่าวกลับถึงบ้านแล้วไม่ว่าในสภาพมึนเมาหรือเสียการพนันก็ดี ผู้ที่ กลายเป็นที่ระบายอารมณ์ของผู้ปกครองเหล่านั้นคือลูกหลานของเขานั่นเอง

เหตุการณ์ที่ส่งผลให้รัฐบาลก่อนของนิวซีแลนด์หันมาออกกฎหมายห้ามตีเด็กคือการที่ครอบครัวชาวพื้นเมืองครอบครัวหนึ่งที่มีบิดาเป็นคนขี้เมาและติดการพนันได้ลงโทษลูกของตนจนเสียชีวิต เมื่อกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ แทนที่รัฐบาลในตอนนั้นจะหันมามองต้นตอของปัญหาคือแนวคิดที่ให้ครอบครัวที่ไม่พร้อมมีลูกมากๆ แต่เป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุคือการออกกฎหมายห้ามตีเด็กขึ้นมาแทน

การออกกฎหมายดังกล่าวกระทำโดยซู แบรดฟอร์ด จากพรรคกรีน ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเน้นสิทธิมนุษยชนจนเกินขอบเขต ก่อนที่จะเล่นการเมือง ซู แบรดฟอร์ด มีประวัติการศึกษาที่ค่อนข้างสับสน จบปริญญาตรีประวัติ ศาสตร์ ปริญญาโทภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ ต่อมาได้ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ ถ้าดูจากประวัติการศึกษาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเพราะจบจากมหาวิทยาลัยสองอันดับแรกของประเทศมาตลอด แต่ชีวิตนอกมหาวิทยาลัยของเธอกลับไม่ประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หลังจากแต่งงานมีลูกห้าคน แบรดฟอร์ดได้ผันตัวเองเป็นผู้นำ ม็อบของคนตกงาน และผู้กินสวัสดิการสังคมโดยชอบประท้วงขอเงินเลี้ยงดูเพิ่มเป็นเวลาถึง 16 ปี อาชีพเดียวใน ประวัติของเธอคืออาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยยูนิเทค ในโอ๊กแลนด์เป็นเวลาสั้นๆ แถมทำแบบ part time โดยสอนแค่วิชาเดียว นอกจากนี้ยังเคยติดคุกมาก่อน เรียกได้ว่าประวัติจับฉ่ายแบบสุดๆ

ดังนั้นการเอาคนตกงานแถมเคยติดคุกมากำหนด นโยบายดูจะเกินกว่าเหตุ แต่เมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันพรรคแรงงานก็ยอมให้มีการร่างและเสนอกฎหมายนี้ในสภาได้เพราะซู แบรดฟอร์ด อ้างว่าเธอคือตัวแทนของประชาชนที่ไม่มีงานทำ ประชาชนที่กินสวัสดิการ ชาวคุก และของบรรดาแม่ๆ โดยอ้างประสบการณ์ลูกห้าคนนั่นเอง แต่ปัญหาคือบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายที่มาจากครอบครัวคนชั้นกลางขึ้นไปไม่ได้เห็นอย่างที่แบรดฟอร์ดคิด เพราะพวกเขาไม่ได้แชร์แนวคิดโลโซ หรือแม่ขี้คุก

คนกลุ่มนี้รู้ดีว่าปัญหาอาจจะมาจากการตีเด็กทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม แต่รากเหง้าของปัญหาแท้จริงแล้วมาจากการที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนที่ไม่พร้อมที่จะมีลูกให้มีครอบครัวขนาดใหญ่เกินกำลัง ดังนั้น ผู้ปกครองและผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วย กับร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการล่วงล้ำสิทธิ ส่วนครอบครัว เป็นการทำลายอำนาจของผู้ใหญ่ในบ้าน บรรดาผู้ใหญ่เหล่านี้มองว่าไม้เรียวได้สร้างกฎ ระเบียบและวินัยให้กับบ้านและสังคมมาเป็นเวลายาวนาน

สภาตอนนั้นพรรคร่วมรัฐบาลมี 63 เสียงซึ่งมากกว่า ฝ่ายค้านที่มีอยู่ 58 แต่การสวนกระแสสังคมกว่า 80% ของรัฐบาลโดยใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภานั้น อาจจะเป็นวิถีทางหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่นั่นไม่ได้หมาย ความว่ารัฐบาลนั้นๆ จะสามารถครองอำนาจได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะการเลือกอยู่ตรงข้ามกับประชาชน ร้อยละ 80 จึงมีผลต่อการเลือกตั้งในปีต่อมา โดยพรรคร่วมรัฐบาลแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจนหมดสภาพ

แม้การยึดไม้เรียวนั้นในแง่ทฤษฎีอาจเป็นสิ่งที่ดีแต่ ในทางปฏิบัติยังคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.